กกร.ลุ้นลูกหนี้อีก 3เดือนรอดหรือไม่รอด

21 ต.ค. 2563 | 01:01 น.

กกร.แนะลูกหนี้ติดต่อธนาคาร เผยมีมาตรการเหมาะสมเป็นรายผู้ประกอบการ

กกร.ลุ้นลูกหนี้รอดหรือไม่รอดในอีก 3เดือนหลังครบกำหนดพักหนี้และธปท.ผ่อนคลายมาตรการ-แนะทั้งกรณียังประสบปัญหาและหาตัวไม่พบติดต่อธนาคารเผยมีมาตรการช่วยเหลือ ขณะสมาคมธนาคารไทยย้ำสถานการณ์ยังไม่แน่นอนสูงหวั่นวิกฤติซ้ำวิกฤติพร้อมดูแลลูกค้าอย่างเต็มที่

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย ภาครัฐ โดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาตรการช่วยเหลือ และ บรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ  โดยหนึ่งในมาตรการที่ออกมา คือ มาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน โดยลูกหนี้ต้องมีคุณสมบัติ คือ เป็นหนี้ที่ยังชำระปกติ หรือ ค้างไม่เกิน 90 วัน ณ 31 ธ.ค. 2562 วงเงินของทุกบริษัทในกลุ่มที่มีกับสถาบันการเงินเดียวกัน ไม่เกิน 100 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถปรับตัวจากผลกระทบ และ ก้าวผ่านวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนี้ไปได้ โดยมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 22 ต.ค. 2563

กกร.ลุ้นลูกหนี้อีก 3เดือนรอดหรือไม่รอด
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ตามข้อมูลที่ได้รับจากธนาคารแห่งประเทศไทย มาตรการพักชำระหนี้นี้ช่วยให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และ สมัครใจเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1.05 ล้านบัญชี เป็นยอดหนี้ประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการได้เตรียมพร้อมและปรับตัว เป็นการให้เวลากับธุรกิจของลูกหนี้ ธนาคารเจ้าหนี้ได้มีเวลาในการศึกษาผลกระทบของลูกหนี้แต่ละรายและกำหนดแผนการชำระหนี้ให้เหมาะสอดคล้องกับแผนธุรกิจ กระแสเงินสดภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบเศรษฐกิจที่จะสามารถข้ามผ่านผลกระทบดังกล่าวไปได้
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศให้สถาบันการเงินคงสถานการณ์จัดชั้นลูกหนี้ถึงสิ้นปี 2563 สำหรับลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการเจรจาปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ เพื่อช่วยไม่ให้ลูกหนี้กลายเป็น NPL ซึ่งเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้สถาบันการเงินเร่งดำเนินการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงปรับมาตรการจากการขยายการพักชำระหนี้ ซึ่งสิ้นสุดลงในวันที่ 22 ต.ค.63 นี้ เป็นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เชิงรุกและตรงจุดที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกหนี้แต่ละราย 
“กกร.ต้องขอเวลาอีก 3เดือนก่อนจะประเมินความพึงพอใจ เพราะต้องติดตามดูว่าลูกหนี้แต่ละรายจะสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติหรือไม่  แต่อย่างน้อยมาตรการของทั้งกระทรวงการคลังและธปท.ถือว่าเพียงพอต่อการช่วยเหลือลูกหนี้”
 

นายสุพันธุ์  มงคลสุธี  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ที่ผ่านมาสอท.เป็นห่วงสถานการณ์ระบาดของโควิดยังมีความต่อเนื่องจึงเสนอทางการขยายระยะเวลามาตรการพักหนี้ออกไป แต่เมื่อธปท.ได้สอบถามข้อมูลจากธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ส่วนใหญ่พบว่าลูกหนี้ 60%จะสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติทำให้ความกังวลน้อยลง สำหรับลูกหนี้ที่ยังประสบปัญหาสามารถติดต่อสถาบันการเงินเจ้าหนี้และที่สำคัญลูกหนี้ต้องปรับตัวเองด้วย นอกเหนือจากสถาบันการเงินเจ้าหนี้จะให้การดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ปัญหาลดน้อยลง
 

นายผยง ศรีวณิช  ประธานสมาคมธนาคารไทยกล่าวว่า  ภายหลังจากธปท.ผ่อนคลายมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้นั้น เอื้อให้ธนาคารให้ความยืดหยุ่นในการประคองลูกหนี้ตามความจำเป็นอยู่แล้ว  ในส่วนของลูกหนี้ 10%มูลหนี้ประมาณ 1แสนล้านบาทที่ยังประสบปัญหาสามารถติดต่อธนาคารเจ้าหนี้โดยพิจารณาจากความสามารถของแต่ละราย อาจจะมีการลดงวดหรือยืดงวดออกไป หรืออาจจะลดอัตราดอกเบี้ย และปรับโครงสร้างแล้วก็ยังสามารถปรับได้อีก  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัว ซึ่งยอมรับว่าสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง  เช่นเดียวกับการแพร่ระบาดของโควิด   เพราะฉะนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หรือการทยอยเปิดประเทศยังยากต่อการประเมิน  
นอกจากนี้ในส่วนของลูกหนี้ที่ได้รับการติดต่อจากสถาบันการเงินเจ้าหนี้และพร้อมจะกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติในสัดส่วน 85%นั้น มีโอกาสจะตกชั้นอยู่แล้ว เพราะฝุ่นยังไม่หายตลบ ขณะเดียวกันธปท.ก็มีเครื่องมือเพียงพอในการที่จะยืดหยุ่นโดยสะท้อนผ่านมาตรการให้กับผุ้ประกอบการได้อย่างเหมาะสม

กกร.ลุ้นลูกหนี้อีก 3เดือนรอดหรือไม่รอด กกร.ลุ้นลูกหนี้อีก 3เดือนรอดหรือไม่รอด
“ทั้งกระทรวงการคลังและธปท.ได้ประสานงานอย่างใกล้ชิด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็เป็นห่วงและฝากให้ดูแลผู้ประกอบการเต็มที่ ซึ่งเป็นห่วงลูกหนี้ที่ยังหาตัวไม่พบใน 6%มูลหนี้ 5.7หมื่นล้านบาทอยากให้เข้ามาพูดคุยซึ่งมีมาตรการที่เหมาะสมรองรับสถานการรณ์ของผุ้ประกอบการแต่ละราย โดยเข้าใจว่ามีความยากลำบาก อย่างผู้ประกอบการบางรายประกอบธุรกิจอีกจังหวัดเมื่อได้รับผลกระทบจากโควิดก็ต้องย้ายกลับบ้านในอีกจังหวัดหนึ่ง โดยเฉพาะความไม่แน่นอนในหลายมิติ ไม่ว่าเชิงเซ็กเม้น  รายอุตสาหกรรม หรือภาคธุรกิจ รวมทั้งขนาดของผู้ประกอบการ เหล่านี้ยังเสี่ยงวิกฤติซ้อนวิกฤติ”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-ธปท.โล่งใจลูกหนี้ไม่"ตกหน้าผา"หลังมาตรการช่วยเหลือครบ

-ดร.เศรษฐพุฒิ ผู้ว่าธปท. เปิด 5 โจทย์ใหญ่แบงก์ชาติแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

-คลัง จี้ ธปท.สรุป ยืดเวลาพักชำระหนี้

-  ธปท.ตั้ง "เอเอ็มซี" รับซื้อหนี้เสีย