อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด “แข็งค่า”

20 ต.ค. 2563 | 23:55 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทระยะสั้นซื้อขายในกรอบแคบ -เหตุแรงกดดันในตลาดทุนทั้งบวกสลับลบรายวัน แนะจับตาว่าการฟื้นตัวของหุ้นหรัฐ

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.22 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่า"จากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.27 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทระหว่างวัน 31.13-31.33 บาทต่อดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด “แข็งค่า”

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS)ระบุว่าอัตราแลกเปลี่ยนต่าเงินบาท ระยะสั้นซื้อขายในกรอบแคบโดยไม่ได้มีทิศทางที่ชัดเจนเนื่องจากมีทั้งแรงกดดันจากความผันผวนในตลาดทุนที่สูงขึ้น ขณะที่ตลาดก็บวกสลับลบรายวัน ในช่วงนี้จึงต้องจับตาว่าการฟื้นตัวของหุ้นหรัฐ จะสามารถกลับมาเป็นแรงหนุนให้เงินบาทแข็งค่าได้หรือไม่

ช่วงคืนที่ผ่านมา ตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฟื้นตัวได้จากความหวังว่า รัฐบาลจะสามารถหาข้อตกลงทางการคลังได้ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐ จึงปรับตัวขึ้น 0.5% สวนทางกับดัชนี STOXX 600 ของยุโรปที่ย่อตัวลง 0.4% บนความกังวลกับปัญหา Brexit ที่ไม่มีทางออก และการระบาดของไวรัสที่เกิดขึ้นอยู่ต่อเนื่องทั่วยุโรป

ส่วนในฝั่งตลาดเงิน เป็นภาพการเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) เหมือนช่วงฟื้นตัวรอบก่อนหน้า โดยเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.3% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ โดยเป็นระดับดัชนีดอลลาร์ที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม ทำให้ราคาทองคำและน้ำมันฟื้นตัวขึ้น 0.2% และ 1.5% ตามลำดับ ขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวขึ้น 2bps มาที่ระดับ 0.79% ชี้ว่านักลงทุนประเมินผลกระทบจากนโยบายการคลังครั้งนี้เป็นลบต่อเงินดอลลาร์และบอนด์สหรัฐ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เปิดตลาด"ทรงตัว"

-อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เผชิญแรงกดดันปัจจัยทางการเมืองในประเทศ

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เช้าวันนี้ (21 ต.ค.) อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.19 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยแม้เงินบาทอาจขยับแข็งค่าตามภูมิภาค ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ จากความหวังในเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี กรอบการแข็งของเงินบาทน่าจะยังจำกัดเนื่องจากยังมีประเด็นทางการเมืองภายในที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การเมืองของไทย บทสรุปของมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจสหรัฐฯ และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐฯ