ทีเอ็มบี ประกาศกำไร 9 เดือนปี 63 เพิ่ม 58%

20 ต.ค. 2563 | 12:43 น.

ทีเอ็มบี รายงานกำไร 9 เดือน ปี 2563 ที่ 8,877 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58% จากปีก่อน พร้อมตั้งสำรองเพิ่ม แม้หนี้เสียยังต่ำที่ 2.33% เสริมความแข็งแกร่ง เตรียมรับมือเศรษฐกิจในอนาคต

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ทหารไทย จำกัด(มหาชน)หรือ ทีเอ็มบีเปิดเผยว่า ทีเอ็มบีและบริษัทย่อยแจ้งผลประกอบการไตรมาส3 สิ้นสุดเดือนกันยายนปี 2563 มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรอง 8,809 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า และ ตั้งสำรอง เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6,863 ล้านบาท เพื่อเตรียมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงถัดไป

ทีเอ็มบี ประกาศกำไร 9 เดือนปี 63 เพิ่ม 58%

หลังหักการกันสำรองและภาษี กำไรสุทธิในไตรมาส 3 อยู่ที่ 1,619 ล้านบาท และเมื่อรวม 9 เดือนปี 2563 มีกำไรสุทธิ 8,877 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58% จากปีก่อนหน้า ส่วนภารกิจรวมธนาคารคาดว่า จะเสร็จสิ้นได้ภายในเดือนกรกฎาคมปี 2564 ตามแผน

 

“ภาพรวมการดำเนินงานไตรมาส3 ยังคงเผชิญกับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ดี การทยอยรับรู้ผลประโยชน์จากการรวมกิจการถือเป็นปัจจัยหนุนในช่วงเวลาที่ท้าทายเช่นนี้”

 

ทั้งนี้หลังการรวมกิจการ ทั้งทีเอ็มบีและธนาคารธนชาตได้ปรับโครงสร้างเงินฝากและสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดผลประโยชน์ด้านงบดุล(Balance Sheet Synergy) ทำให้ธนาคารสามารถบริหารต้นทุนทางการเงินและอัตราผลตอบแทนได้ดีขึ้น ส่งผลให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาส 3 อยู่ที่ 2.92% เป็นไปตามกรอบเป้าหมาย แม้ว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงหลายครั้งก็ตาม

ขณะเดียวกันการรับรู้ผลประโยชน์ด้านต้นทุน (Cost Synergy) ช่วยให้ธนาคารสามารถบริหารค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ทรงตัวอยู่ที่ 46% และมีกำไรจากการดำเนินงานใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า

 

สำหรับสินเชื่อที่อยู่ภายใต้โปรแกรมพักชำระหนี้ ในส่วนของสินเชื่อลูกค้ารายย่อยกลุ่มแรกๆ ได้เริ่มทยอยครบกำหนดไปบ้างแล้ว และส่วนใหญ่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ดังนั้นในไตรมาส 3 จึงเห็นสัดส่วนสินเชื่อภายใต้โปรแกรมพักชำระหนี้ลดลงมาอยู่ที่ 20% ของสินเชื่อรวม เทียบกับ 40% ณ ไตรมาส 2 ส่วนลูกค้าธุรกิจรวมถึงเอสเอ็มอีจะเริ่มครบกำหนดปลายเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะส่งผลให้สัดส่วนสินเชื่อที่อยู่ภายใต้โปรแกรมพักชำระหนี้ทยอยลดลง

อย่างไรก็ดี ธนาคารตระหนักดีว่า แนวโน้มเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงมีแผนตั้งสำรองเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อเสริมกันชนในการรองรับความเสี่ยงให้มากยิ่งขึ้นไปอีก โดยไตรมาส 3 ได้ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเป็น 6,863 ล้านบาท เทียบกับ 4,972 ล้านบาทในไตรมาส 2 ขณะที่สัดส่วนหนี้เสียทรงตัวที่ 2.33% จาก 2.34% ช่วยหนุนให้อัตราส่วนเงินสำรองฯ ต่อหนี้เสียเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 132% จาก 114% จากไตรมาสก่อน

 

ด้านความเพียงพอของเงินกองทุนยังคงแข็งแกร่งและสูงเป็นลำดับต้นๆ ในอุตสาหกรรมธนาคารไทย โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 อัตราส่วน CAR และ Tier I เบื้องต้นเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18.9% และ 14.8% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 11.0% และ 8.5% ตามลำดับ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทีเอ็มบี-ธนชาต เดินหน้ารวมกิจการ ให้เสร็จในเดือนก.ค.64

กลุ่มแบงก์ฉุดหุ้นไทยQ3 ไม่เกิน 1,450 จุด

ทีเอ็มบีแนะ โยกเงินไปออมทรัพย์พิเศษ สร้างรายได้เพิ่ม 5 เท่า