"อาคม"เผยไอเอ็มเอฟปรับประมาณการศก.ดีขึ้้น"ติดลบ 7.1%" สะท้อนผลจากมาตรการรัฐ

20 ต.ค. 2563 | 09:07 น.

“อาคม” ชี้ผลจากมาตรการรัฐบาล ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว สะท้อนจาก"ไอเอ็มเอฟ" ปรับคาดการณ์ศก.ไทยดีขึ้น จากเดิมติดลบ 7.7 เป็นลบ 7.1% พร้อมเผยสัปดาห์หน้าชัดเจน มาตรการเสริมสภาพคล่อง-พักหนี้ภาคธุรกิจ

วันที่ 20 ตุลาคม 2563 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ตามที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ได้รายงานต่อที่ประชุมเรื่องการประมาณการเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจากข้อมูลกองทุนระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ ) ได้มีการปรับตัวเลขประมาณการของประเทศไทยจากเดิมที่คาดว่าในปี 2563 จะติดลบอยู่ที่ 7.7 ได้ปรับให้ดีขึ้นเป็นติดลบ 7.1

 
แสดงให้เห็นว่าแนวทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลังสถานการณ์โควิด -19 นั้นมีการปรับตัวที่ดีขึ้น  อันเนื่องมาจากมาตรการของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่มีการปลดล็อกดาวน์  และค่อยๆผ่อนคลายในเรื่องของมาตรการต่างๆรวมทั้งในเรื่องของการเข้าไปช่วยเหลือสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจของผู้ประกอบการ ทั้งรายใหญ่ ,เอสเอ็มอีและรายย่อย 


แนวโน้มการปรับตัวของตัวเลขทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นทางไอเอ็มเอฟหรือธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์ ) นั้นก็ปรับตัวเลขให้กับกลุ่มในประเทศทางเอเชียมีการฟื้นตัวที่เร็วกว่าในภูมิภาคอื่นๆของโลก ซึ่งก็เป็นแนวโน้มที่ดี ประกอบกับภายในประเทศที่ดัชนีความเชื่อมั่นหลายตัวมีแนวโน้มในช่วงของการปรับตัวที่ดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งคาดว่าจะโตต่อเนื่องจากมาตรการไปจนถึงไตรมาสที่ 4 ด้วย 


ทั้งนี้มาตรการการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งปัญหาหลักคือสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการภายใต้พรก.ซอฟโลน นั้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความชัดเจนว่าจะไม่ต่ออายุในเรื่องมาตรการดังกล่าวต่อจากวันที่ 22 ตุลาคม 2563 
 

อย่างไรก็ตาม ในมาตรการของซอฟโลนนั้นธปท.ไม่ได้นิ่งเฉยโดยได้มีการประสานกับทางธนาคารพาณิชย์ในเรื่องของมาตรการต่อเนื่อง ได้แก่ การจัดกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มๆ ซึ่งกลุ่มที่ได้มีการจำแนกในเรื่องของ ลูกหนี้ที่กลับมาดำเนินการธุรกิจตามปกติ นั่นคือกลุ่มสีเขียวอ่อน ประมาณ 60% 


กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่กลับมาดำเนินธุรกิจแต่ยังไม่ฟื้นตัวดีมีอยู่ประมาณ 34 %  กลุ่มที่สามคือ กลุ่มลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ ซึ่งจะต้องเข้าไปช่วย กลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มลูกหนี้ที่ขาดการติดต่อกับสถาบันการเงินในระบบ โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้ประสานกับธนาคารพาณิชย์ในการดูแลกลุ่มลูกค้าเหล่านี้แล้ว


อย่างไรก็ตาม ในส่วนของระบบสถาบันการเงินที่อยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงการคลังนั้น ซึ่งก็คือ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และธนาคารอิสลาม เป็นต้น ก็มีมาตรการเช่นเดียวกัน 


โดยในส่วนของมาตรการทางการเงินของรัฐนั้นจะมี 2 มาตรการ คือ ดำเนินการตามมาตรการซอฟโลนของธนาคารแห่งประเทศไทย อีกมาตรการเป็นการดำเนินการตามมาตรการเฉพาะของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเอง ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่อยู่ในเขตความรับผิดชอบของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งดำเนินการตามพรก.ซอฟโลนที่จะหมดอายุในวันที่ 22 ตุลาคม นี้ 
 

เฉพาะในส่วนของการดำเนินการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐนั้น ก็ยังดำเนินการต่อเนื่องโดยจะเข้าไปดูแลลูกค้าซึ่งในส่วนของลูกหนี้ที่อยู่ในระบบสถาบันการเงินของรัฐหรือแบงก์รัฐซึ่งมีอยู่ประมาณ 4 ล้านรายนั้นที่เราเข้าไปช่วยเหลือจาก 12 ล้านราย 


โดยสินเชื่อที่รัฐเข้าไปช่วยเหลือในส่วนของแบงก์รัฐนั้นอยู่ที่ประมาณ 1.9 ล้านล้าน จากทั้งหมด 5.5 ล้านล้าน คิดเป็นประมาณ 30% ของธนาคารสถาบันการเงินทั้งหมด นอกจากนี้ในส่วนของสถาบันการเงินของรัฐก็ยังได้ปล่อยสินเชื่อซอฟโลนให้กับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารหรือ นอนแบงก์ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ คือ กลุ่มลิสซิ่ง อีกจำนวนหนึ่ง


ทั้งนี้ เน้นย้ำว่า ในส่วนของมาตรการเสริมสภาพคล่องหรือการพักชำระหนี้ หรือการชะลอการชำระหนี้นั้นทางกระทรวงการคลังยังดูแลต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ของสถาบันการเงินของรัฐในการเป็นเครื่องมือเข้าไปช่วยเรื่องของสภาพคล่องของธุรกิจให้สามารถเดินต่อไปได้  ซึ่ง ก.คลังอยู่ระหว่างประสานงานกับธนาคารทั้งหมดโดยคาดว่า จะมีความชัดเจนเพิ่มขึ้นภายในสัปดาห์นี้หรือต้นสัปดาห์หน้า