ส่องไกด์ไลน์ “ฟู้ด ดีลิเวอรี”ฉบับใหม่

20 ต.ค. 2563 | 05:19 น.

กขค. เผยปรับปรุง ไกด์ไลน์ “ฟู้ด ดีลิเวอรี” ใน 3 ประเด็นเสร็จแล้ว รอประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา หลังเปิดรับฟังความคิดเห็น คุมเข้มสร้างความเป็นธรรมทุกฝ่าย

ในช่วงเดือนกันยายน 2563 ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ได้จัดกิจกรรมเปิดรับฟังความคิดเห็น (Public Hearing) ผ่านเว็บไซต์สำนักงานและจัดประชุมปรึกษาหารือในรูปแบบโฟกัสกรุ๊ป(Focus Group) เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเรื่อง แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหารกับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร หรือ ไกด์ไลน์ ฟู้ด ดีลิเวอรี นำโดย นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้าในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาแนวปฏิบัติการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ ซึ่งได้ข้อมูลประกอบการพิจารณาเพื่อปรับปรุงร่างไกด์ไลน์ดังกล่าวจากผู้เกี่ยวข้องโดยตรงเรียบร้อยแล้ว

 

นายสันติชัยฯ เผยว่า หลังจากคณะอนุกรรมการฯ ได้รับข้อมูลสรุปรายงานการรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์สำนักงานรวมทั้งการจัดประชุมปรึกษาหารือในรูปแบบโฟกัสกรุ๊ป (Focus Group) แล้วนั้น ได้นำประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญมาปรับปรุง เพื่อยกร่างฉบับใหม่เรียบร้อยและผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 แล้ว โดยมีประเด็นสำคัญที่ปรับแก้ไข จำนวน 3 ประเด็น ได้แก่

 

ประเด็นที่ 1 ความไม่ชัดเจนของคำนิยามของผู้ประกอบธุรกิจรับและส่งอาหาร ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าคำนิยามที่กำหนดไว้เดิมยังไม่ชัดเจนและไม่สื่อถึงผู้ประกอบธุรกิจให้บริการรับและส่งอาหาร (แพลตฟอร์ม) จึงได้มีการปรับแก้ไขคำนิยามให้ชัดเจนมากขึ้น จากเดิมใช้คำว่าผู้ประกอบธุรกิจรับและส่งอาหารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ปรับแก้ใหม่เป็น ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหาร รวมทั้งกำหนดคำนิยามใหม่ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

ประเด็นที่ 2 ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าส่วนแบ่งรายได้ (GP) โดยเข้าใจว่า สขค. จะเข้าไปควบคุมหรือกำหนดค่าส่วนแบ่งรายได้ (GP) จึงได้มีการปรับแก้ไขถ้อยคำใหม่ จากเดิมที่เขียนไว้ว่า การเรียกเก็บค่าส่วนแบ่งรายได้ในอัตราที่สูงเกินสมควรหรือแตกต่างกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ปรับแก้ไขใหม่โดยแยกเป็น  2 หัวข้อ คือการเรียกเก็บค่าส่วนแบ่งรายได้เพิ่มสูงขึ้นจากอัตราที่เคยเรียกเก็บโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และ การเรียกเก็บในอัตราที่แตกต่างกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารที่จำหน่ายอาหารประเภทเดียวกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

 

ประเด็นที่ 3 ข้อวิตกว่าการกำหนดเงื่อนไขที่เป็นการจำกัดสิทธิ (Exclusive Dealing) ของผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร เป็นพฤติกรรมที่ห้ามกระทำในทุกกรณี จึงได้มีการปรับแก้ไขถ้อยคำใหม่เป็นการกำหนดเงื่อนไขที่เป็นการจำกัดสิทธิ (Exclusive Dealing) ของผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารที่มีลักษณะเป็นการบังคับโดยการห้ามจำหน่ายอาหารผ่านช่องทางของผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหารรายอื่นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

 

ส่องไกด์ไลน์ “ฟู้ด ดีลิเวอรี”ฉบับใหม่

 

สำหรับร่างไกด์ไลน์ ฟู้ด ดีลิเวอรี ฉบับใหม่ ซึ่ง กขค. ได้ให้ความเห็นชอบแล้วนั้น มีข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการปฏิบัติทางการค้าของผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหาร ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำอันเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร มีแนวทางในการพิจารณาดังต่อไปนี้

 

1. การเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ค่าตอบแทน หรือผลประโยชน์อื่น ๆ ที่ไม่เป็นธรรม โดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารทราบล่วงหน้าถึงเหตุผลและความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาที่เหมาะสม เช่นพฤติกรรมดังต่อไปนี้

 

(ก) การเรียกเก็บค่าส่วนแบ่งรายได้ (Commission Fee หรือ Gross Profit (GP)) ในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นจากที่เคยเก็บ และการเรียกเก็บในอัตราที่แตกต่างกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารที่จำหน่ายสินค้าเดียวกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

 

(ข) การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการโฆษณา (Advertising Fee) โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เช่น การเรียกเก็บค่าโฆษณาเพื่อส่งเสริมการขายโดยที่ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่ตกลงกันไว้ เป็นต้น

 

(ค) การเรียกเก็บค่าส่งเสริมการขายในโอกาสพิเศษทางการตลาด (Promotion) โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

 

(ง) การเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ค่าตอบแทน หรือผลประโยชน์อื่น ๆ ที่ไม่เคยมีการเรียกเก็บมาก่อน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

 

2. การกำหนดเงื่อนไขทางการค้าอันเป็นการจำกัดหรือขัดขวางการประกอบธุรกิจของผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม เช่น การกำหนดเงื่อนไขที่เป็นการจำกัดสิทธิ (Exclusive Dealing) ของผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารที่มีลักษณะเป็นการบังคับ โดยการห้ามจำหน่ายอาหารผ่านช่องทางของผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหารรายอื่น โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

 

3. การใช้อำนาจตลาดหรืออำนาจต่อรองที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรม

 (ก) การแทรกแซง หรือจำกัดความเป็นอิสระในการกำหนดราคาของผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร

 (ข) การกำหนดเงื่อนไขบังคับด้านราคาที่ต้องขายเท่ากันในทุกช่องทางการจำหน่าย (Rate Parity Clause)

 (ค) การประวิงเวลาจ่ายค่าสินค้าตามระยะเวลาที่กำหนด (Credit Term)

 (ง) การปฏิเสธการทำการค้ากับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารในระหว่างระยะเวลาของสัญญา หรือ การยกเลิกสัญญาอันเนื่องมาจากเหตุผลต่าง ๆ โดยไม่มีเหตุผลสมควร

 (จ) การยกเลิกผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารออกจากช่องทางการจำหน่ายโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

 (ฉ) การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขภายใต้สัญญา หรือระยะเวลาของสัญญา โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

 (ช) การเปลี่ยนแปลงระยะเวลาของสัญญาโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน

4. การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมอื่น ๆ

นายสันติชัยฯ กล่าวอีกว่า ร่างไกด์ไลน์ ฟู้ด ดีลิเวอรี ฉบับใหม่ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจาก กขค. แล้วนั้น กำลังอยู่ระหว่างรอประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายต่อไป โดยเชื่อว่าไกด์ไลน์ ฟู้ด ดีลิเวอรีจะสามารถช่วยสร้างบรรทัดฐานในการประกอบธุรกิจบริการรับและส่งอาหาร สามารถปกป้องผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารที่อาศัยบริการช่องทางการจำหน่ายทางดิจิทัลแพลตฟอร์ม  มิให้ถูกเอาเปรียบโดยไม่มีเหตุผลสมควร สามารถแข่งขันกันได้อย่างเสรีและเป็นธรรม ในขณะเดียวกันผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหารก็สามารถดำรงธุรกิจอยู่ได้ และยิ่งไปกว่านั้น การออกไกด์ไลน์ฉบับนี้ ยังช่วยให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุดจากความมีเสถียรภาพจากการแข่งขันทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขัน  ทางการค้า โทร 02 199 5400 หรือเว็บไซต์ www.otcc.or.th

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"CP" ซื้อ "โลตัส' ซุ่มยื่นเอกสารรอบ 2 ลุ้น กขค.เคาะใน 90 วัน

กขค. ลุยต้านผูกขาดการค้า โชว์ผลงานดีวันดีคืน

กขค.เร่งสอบฟู้ดดีลิเวอรี เอาผิดกฎหมายแข่งขัน