รู้จัก “วาเอล โกนิม” ฮีโร่ ผู้สารภาพปาบ ใช้พลัง “โซเชียลมีเดีย” ปฏิวัติอียิปต์   

20 ต.ค. 2563 | 04:34 น.

"วาเอล โกนิม" คือใคร ทำไมคลิปปาฐกถาของเขาบนเวที TED Conference ในหัวข้อ Let's design social media that drives real change ที่มีผู้โพสต์ไว้ตั้งแต่เดือนก.พ. 2559 ถึงได้กลับมาเป็นไวรัลอีกครั้ง ณ ห้วงเวลานี้

 

ทำไมผู้คนกลับมาพูดถึง "วาเอล โกนิม"  (Wael Ghonim) กันอีกครั้งโดยเฉพาะในหมู่ผู้ชุมนุม "ม็อบราษฎร" หรือที่รู้จักกันในชื่อคุ้นปากว่า "ม็อบ14ตุลา" และ "ม็อบคณะราษฎร" ในช่วงเวลานี้ คำตอบไม่เพียงอยู่ในเนื้อหาของสิ่งที่เขาพูดในคลิป แต่เรื่องราวชีวิตของ"วาเอล โกนิม" ให้ความกระจ่างชัดเหมือนภาพสะท้อนสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้ก็ว่าได้ แม้จะไม่ได้เหมือนกันทุกสิ่งอย่าง แต่ก็แทบไม่แตกต่างในหลายแง่มุม   

 

วิศวกรรมหนุ่มใหญ่วัย 40 คนนี้ คือ ฮีโร่ของชาวอียิปต์ จากการ ปลุกกระแสปฏิวัติโดยพลังประชาชน ในปี 2554 ที่ส่งผลให้ประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัค แห่งอียิปต์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำเผด็จการยอมลงจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 11 ก.พ.ในปีนั้น เป็นการปิดตำนานประธานาธิบดีที่มีอำนาจบนกองเลือดมากว่า 30 ปี

 

รู้จัก “วาเอล โกนิม” ฮีโร่ ผู้สารภาพปาบ ใช้พลัง “โซเชียลมีเดีย” ปฏิวัติอียิปต์   

 

"วาเอล โกนิม" วิศวกรคอมพิวเตอร์ ผู้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือให้กับบริษัท กูเกิ้ล (Google) กลายเป็นฮีโร่ของชาวอียิปต์ในการปฏิวัติประชาชนครั้งนั้น จากใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการปลุกกระแสปฏิวัติให้เกิดขึ้นด้วยการโพสต์ข้อความใน “เฟซบุ๊ก” เรียกร้อง-เชิญชวน ให้ประชาชนชาวอียิปต์ออกไปชุมนุมกันกว่า 1 ล้านคนในวันที่ 25 ม.ค. 2554 เพื่อขับไล่ประธานาธิบดีมูบารัค ผู้นำอียิปต์ในเวลานั้น การปลุกกระแสปฏิวัติดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในอียิปต์อย่างที่ไม่มีใครคาดฝัน

 

วาเอลถูกตำรวจอียิปต์จับกุมในเดือนม.ค.2554 หลังจากที่เขายื่นใบลาบริษัทเพื่อไปร่วมการชุมนุมประท้วงในกรุงไคโร เขาถูกตำรวจลับจับกุมไปกักขังไว้เป็นเวลาถึง 12 วันเพราะเกรงว่าจะปลุกระดมผู้คนออกมามากขึ้นขณะที่สถานการณ์ทวีความรุนแรง แต่ต่อมาหลังจากที่ได้รับการปล่อยตัว วาเอลได้ปรากฎตัวในรายการสัมภาษณ์ทางทีวีที่ผู้ประท้วงกำลังตั้งหน้าตั้งตารอชมอยู่ เขาเผยถึงความรู้สึกและข้อเท็จจริงกรณีถูกจับตัวไปสิบกว่าวัน คำพูดอันทรงพลังของเขาเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชุมนุมประท้วงในเวลานั้น เขาทำให้การปฏิวัติของเยาวชนในสังคมออนไลน์ กลายมาเป็นการปฏิวัติของเยาวชนในอียิปต์ และสุดท้ายก็กลายเป็นการปฏิวัติของประชาชนทั่วอียิปต์ในที่สุด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แถลงการณ์6องค์กรสื่อ คัดค้านการคุกคามทุกรูปแบบ แนะสื่อต้องไม่บิดเบือน

ตำรวจเคลียร์ชัดยังไม่สั่งปิด 5 สื่อ

สั่งทุกค่ายมือถือ-อินเตอร์เน็ต ระงับการใช้ "แอปพลิเคชัน Telegram"

 

วาเอล โกนิม ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลางทยอยโพสต์ข้อความหลายข้อความที่กินใจและให้ข้อคิดกับประชาชนชาวอียิปต์ผ่านเพจเฟซบุ๊กของเขา และมันก็ได้กลายเป็นข้อความที่เป็นแรงผลักดันในการเคลื่อนไหวการปฏิวัติที่คืนประชาธิปไตยให้กับชาวอียิปต์ได้สำเร็จ  วาเอลปฏิเสธที่จะเป็นฮีโร่ของการปฏิวัติ เขายกความดีความชอบคืนให้กับประชาชนผู้ประท้วงทุกคน แต่ชาวอียิปต์ก็ยังยกย่องให้เขาเป็น “ผู้ปฏิวัติตัวจริง”

และนี่คือ “ส่วนหนึ่ง” ของเนื้อหาที่ถอดความมาจากคลิป ปาฐกถา Let's design social media that drives real change (มาสร้างสรรค์สื่อสังคมออนไลน์เพื่อเปลี่ยนโลกอย่างแท้จริงกันเถอะ) ของ วาเอล โกนิม บนเวที TED Conference ซึ่งเป็นเวทีของนักคิดและผู้ที่ลงมือทำเพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เป็นเวทีระดับโลก ที่ได้รับการบันทึกไว้ตั้งแต่ปี 2559 และกำลังเป็นคลิปไวรัลอีกครั้งในเวลานี้  

- - - - - - - - -

วาเอล โกนิม (ยืนกลางถือธง) ร่วมการปฏิวัติด้วยพลังประชาชนในอียิปต์เมื่อปี 2554

ผมเคยพูดว่า "ถ้าคุณต้องการปลดปล่อยสังคม สิ่งที่คุณจำเป็นต้องมีก็แค่อินเทอร์เน็ต" ผมคิดผิด

 

ผมเคยพูดประโยคนี้เมื่อปี ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) ตอนที่ผมสร้างเพจบนเฟซบุ๊กโดยไม่เปิดเผยตัวตน แล้วมันช่วยจุดชนวนการปฏิวัติในอียิปต์ เหตุการณ์อาหรับสปริงไม่เพียงเผยให้เห็น ถึงความสามารถขั้นสูงสุดของสื่อสังคมออนไลน์ แต่ยังแสดงให้เห็นถึงจุดที่อ่อนที่สุดของมัน เครื่องมือเดียวกันที่ช่วยเรารวบรวมกำลัง ล้มล้างเหล่าผู้นำเผด็จการ แต่สุดท้ายกลับทำให้เราต้องแตกแยกกัน ผมขอแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมใช้ สื่อสังคมออนไลน์ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง และพูดเกี่ยวกับความยากและท้าทายต่าง ๆ ที่ผมเจอมาเองกับตัว และเราสามารถทำอะไรกับมันได้บ้าง

 

ในช่วงต้นปี 2000 เหล่าชาวอาหรับกำลังป่วนเว็บ รู้สึกกระหายความรู้ โอกาส และอยากติดต่อกับผู้คนทั่วโลก เราหนีความจริง เกี่ยวกับการเมืองอันหน้าผิดหวัง และไปใช้ชีวิตอยู่บนโลกเสมือนและแตกต่าง ผมก็เหมือนกับชาวอาหรับเหล่านั้น ที่ไม่เคยสนใจการเมืองจนกระทั่งปี 2009 เมื่อผมได้ล็อกอินเข้าใช้สื่อสังคมออนไลน์ ผมเริ่มเห็นชาวอียิปต์มากขึ้นและมากขึ้น เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในประเทศ มันทำให้ผมรู้สึกเหมือนไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว

 

ในเดือนมิถุนายนปี 2010 อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนชีวิตผมไปตลอดกาล ขณะที่กำลังเล่นเฟซบุ๊ก ผมเห็นรูปถ่าย รูปถ่ายอันน่าสยดสยอง ศพที่ผ่านการทารุณกรรม ของหนุ่มชาวอียิปต์คนหนึ่ง เขาชื่อ "คาเลด ซาอิด" (Khaled Said) หนุ่มเมืองอเล็กซานเดรียวัย 29 ปี ที่ถูกฆ่าโดยตำรวจ ผมเหมือนเห็นตัวเองในรูปนั้น ผมคิดว่า "เราก็อาจเป็นเหมือนคาเลดได้"

 

คืนนั้นผมนอนไม่หลับ และได้ตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง ผมแอบสร้างเพจบนเฟซบุ๊ก และตั้งชื่อเพจว่า "พวกเราทุกคนคือคาเลด ซาอิด" (We are all Khaled Said) เพียงแค่ 3 วัน มีคนมาติดตามเพจเกิน 100,000 คน ซึ่งเป็นเหล่ามิตรสหายชาวอียิปต์ ที่มีความเห็นร่วมกันกับผมในประเด็นนี้ เราต้องหยุดการกระทำอะไรก็ตาม ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้

 

ผมรับอับเดลราห์มัน แมนเซอร์ มาช่วยดูแลเพจ ผมทำงานร่วมกับเขาตลอดเวลา เราร่วมสร้างสรรค์กลุ่มคน เพื่อเสาะหาแนวคิดจากผู้คน เราให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วม เราได้รวมตัวกันเรียกร้อง ให้มีการทำอะไรสักอย่าง และแชร์ข่าวที่รัฐบาลไม่ต้องการให้ชาวอียิปต์รับรู้ จนกลายเป็นเพจที่มีคนติดตามมากที่สุดในโลกอาหรับ มีจำนวนลูกเพจมากกว่าองค์กรสื่อที่เคยจัดตั้งมาก่อนหน้านี้ และยังมากกว่าเพจคนดังแถวหน้าเสียอีก

 

ในเดือนมกราคม 2011 เบน อาลี หนีออกจากประเทศตูนีเซีย หลังจากการเป็นแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล ผมเห็นประกายแสงแห่งความหวัง ชาวอียิปต์ในสื่อสังคมออนไลน์กำลังสงสัยว่า "ถ้าตูนีเซียทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้ ?" ผมโพสต์งานกิจกรรมลงบนเฟซบุ๊กโดยตั้งชื่อว่า "การปฏิวัติต้านคอรัปชัน ความไม่เป็นธรรม และอำนาจเผด็จการ" ผมตั้งคำถามกับผู้ใช้งานในเพจ จำนวน 300,000 คน ณ ตอนนั้นว่า "วันนี้คือวันที่ 14 มกราคม วันที่ 25 มกราคมคือวันตำรวจแห่งชาติ เป็นวันหยุดประจำชาติ ถ้าพวกเรา 100,000 คน ออกไปเดินบนท้องถนนทั่วกรุงไคโร คงไม่มีใครเข้ามาหยุดเราได้ ผมอยากรู้ว่าพวกเราจะทำได้มั้ย"

 

เพียงแค่ไม่กี่วัน มีการส่งคำเชิญนี้ไปยังผู้คนกว่า 1 ล้านคน และมีผู้คนกว่า 100,000 คน ยืนยันการเข้าร่วมกิจกรรม สื่อสังคมออนไลน์นั้นสำคัญต่อการรณรงค์นี้อย่างมาก มันช่วยปลุกระดมการเคลื่อนไหว ของผู้คนตามจุดต่าง ๆ มันทำให้ผู้คนตระหนักว่า พวกเขาไม่ได้อยู่เพียงลำพัง ทำให้เห็นว่าเรามีโอกาสทำให้รัฐบาลหยุดได้ แม้ว่าเวลานั้นพวกเขายังไม่เข้าใจนักว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง และวันที่ 25 มกราคม ชาวอียิปต์ออกมา เต็มถนนกรุงไคโรและเมืองอื่น ๆ เรียกร้องให้มีการปฏิรูป ทะลายกำแพงแห่งความกลัว และประกาศศักราชใหม่ …

(ฟังและอ่านถอดความเป็นภาษาไทยฉบับเต็ม คลิกที่นี่)

- - - - - - - - - - -

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ สื่อสังคมออนไลน์ หรือ โซเชียลมีเดีย เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสื่อสาร-แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญให้กับสังคม “วาเอล โกนิม” มองว่า มีความท้าทายที่เข้าขั้นวิกฤตอยู่ 5 เรื่อง ในการเผชิญต่อสื่อสังคมออนไลน์ทุกวันนี้

 

“เรื่องแรก พวกเราไม่รู้ว่า จะจัดการกับพวกข่าวลือยังไง ข่าวลือที่ออกมาสนองต่ออคติของผู้เสพ กลายเป็นข่าวที่คนเชื่อและแพร่กระจาย ไปยังผู้คนนับล้าน

 

เรื่องที่สอง พวกเราสร้างการรับสารข้างเดียวของเราเอง เรามักเลือกที่จะสื่อสารเฉพาะกับกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับเรา และขอบคุณสื่อสังคมออนไลน์ เราสามารถ ปิดการแจ้งเตือน ยกเลิกการติดตาม และปิดกั้นใครก็ได้

 

เรื่องที่สาม การสนทนาออนไลน์ลุกลามรวดเร็ว จนกลายเป็นกลุ่มผู้ประท้วงที่เกรี้ยวกราด เราทุกคนน่าจะรู้อยู่แก่ใจ มันเหมือนราวกับว่าพวกเราลืม ว่าคนที่อยู่เบื้องหลังหน้าจอนั้น ก็คือคนจริง ๆ นั่นแหละ และไม่ใช่แค่รูปตัวแทน

 

เรื่องที่สี่ มันยากมากมาก ที่จะเปลี่ยนความคิดเห็นของพวกเรา เพราะว่าความเร็วและกระชับของสื่อสังคมออนไลน์ เราถูกบังคับให้พุ่งประเด็นไปที่ข้อสรุป และเขียนความเห็นสั้นๆ ไม่เกิน 140 ตัวอักษร เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ซับซ้อนบนโลก และเมื่อเราเขียนมันแล้ว มันจะอยู่บนอินเทอร์เน็ตไปตลอดกาล และเรามีแรงน้อยมาก ในการเปลี่ยนแปลงมุมมองเหล่านี้ แม้ว่าจะมีการค้นพบหลักฐานใหม่ก็ตาม

 

ลำดับที่ห้า และในมุมมองของผม นี่คือเรื่องที่วิกฤตที่สุด ทุกวันนี้ ประสบการณ์การใช้สื่อสังคมออนไลน์ถูกออกแบบด้วยแนวทางที่ชอบการแพร่กระจายข่าวสารมากกว่าการมีส่วนร่วมกับผู้ชม ชอบการโพสต์มากกว่าการถกประเด็น ชอบความเห็นอันตื้นเขิน มากกว่าบทสนทนาที่ลึกซึ้ง มันเหมือนราวกับเรายอมรับว่า เราอยู่ตรงนี้เพื่อพูดจาใส่กัน แทนที่จะพูดจาร่วมกัน

 

ผมได้เห็นเป็นพยานแล้วว่า เรื่องท้าทายเหล่านี้ส่งผลอย่างไรต่อสังคมอียิปต์ที่แตกแยกไปเรียบร้อยแล้ว แต่นี่ไม่ใช่เรื่องของอียิปต์ประเทศเดียว การแบ่งขั้วอำนาจกำลังเกิดมากขึ้นในทั่วทุกมุมโลก เราต้องทำงานอย่างหนักเพื่อหาวิธี ว่าจะนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ในการแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร มากกว่าที่จะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา

 

ทุกวันนี้ มีการจัดโต้วาทีมากมายว่า ทำอย่างไรจึงจะต่อสู้การคุกคามออนไลน์ และต่อกรกับพวกเกรียนได้ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่มีใครไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ แต่เราจำเป็นต้องคิดด้วยว่าจะออกแบบประสบการณ์การใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างไร เพื่อที่จะส่งเสริมความเป็นพลเมืองดี และให้รางวัลแก่ความมีวิจารณญาณ

 

ผมทราบความจริงอย่างหนึ่ง ว่าถ้าหากผมเขียนโพสต์ที่กระทบกับความรู้สึกมากขึ้น เขียนในมุมมองด้านเดียวมากขึ้น และในบางครั้งโกรธ และก้าวร้าวมากขึ้น ผมต้องได้คนมาเห็นโพสต์นั้นมากขึ้นเป็นแน่ ผมจะได้รับความสนใจมากขึ้น

 

แต่จะเป็นอย่างไรถ้าเราเน้นคุณภาพมากขึ้น อะไรที่สำคัญกว่ากัน? จำนวนคนอ่านโพสต์ที่คุณเขียน หรือใครคือคนที่ได้รับผลกระทบหลังจากอ่านสิ่งที่คุณเขียน

 

ทำไมเราไม่ทำเพียงแค่กระตุ้นให้ผู้คนมีส่วนร่วมในบทสนทนามากขึ้น แทนที่จะเอาแต่เผยแพร่ความคิดเห็นอยู่ตลอด.... ถ้าเรามีเงื่อนไขที่วัดได้ว่า มีคนจำนวนกี่คนที่เปลี่ยนความคิด และกลายเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การใช้สื่อสังคมออนไลน์ของเรา ถ้าผมสามารถติดตามว่ามีจำนวนคนกี่คนที่กำลังจะเปลี่ยนความคิด ผมอาจจะเขียนอย่างมีวิจารณญาณมากขึ้น ผมจะพยายามทำอย่างนั้น แทนที่จะดึงดูดกลุ่มคน ที่เห็นด้วยกับผมอยู่แล้ว และ "กดไลค์" เพียงเพราะว่าผมสนองอคติของเขา 

 

วาเอลกล่าวสรุปในช่วงท้ายว่า ทุกวันนี้ อย่างน้อยหนึ่งในสามของคนบนโลกสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ แต่ส่วนหนึ่งของอินเทอร์เน็ตกำลังถูกจองจำโดยด้านที่มืดบอดทางคุณธรรมของพฤติกรรมมนุษย์เรา

 

“ห้าปีที่แล้ว ผมเคยพูดว่า ถ้าคุณต้องการปลดปล่อยสังคม สิ่งที่คุณจำเป็นต้องมีก็แค่อินเทอร์เน็ต แต่วันนี้ ผมเชื่อว่าถ้าเราต้องการปลดปล่อยสังคม  เราต้องเริ่มจากการให้เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตก่อน”