“จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองซากปรักหักพัง”

18 ต.ค. 2563 | 06:19 น.

"จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองซากปรักหักพัง" : พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2535


สถานการณ์การต่อต้านขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ลาออกจากนายกรัฐมนตรี โดยมีการชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า คณะเยาวชนปลดแอกบ้าง คณะราษฎร 2563 บ้าง กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม บ้าง กลุ่มราษฎรบ้าง และมีการเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐ มีการจับกุมผู้ที่ทำผิดกฎหมาย ไปควบคุมตัว ดำเนินคดี


ขณะที่การชุมนุมก็ยังมีเกิดขึ้นต่อเนื่องทุกวัน ทั้งในส่วนกลาง กรุงเทพมหานคร และตามต่างจังหวัด โดยเฉพาะในกทม. มีการปิดสถานที่ต่างๆ สำคัญกลางเมือง มีการยึดบริเวณสถานีรถไฟฟ้าเป็นที่รวมตัว 


ยังไม่มีใครคาดได้ว่าสถานการณ์จะบานปลายไปมากน้อยแค่ไหน แต่ก็มีความหวาดหวั่นกันว่าจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ

 

เพื่อเป็นการ “เตือนสติสังคม” ให้ได้ฉุกคิด “ฐานเศรษฐกิจ” ขอน้อมนำพระราชดำรัส ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2535  ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ที่พระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี พร้อมด้วย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี นำ พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาล เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานกระแสพระราชดำริ เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง มานำเสนอ ความว่า


“คงไม่เป็นที่แปลกใจทำไมถึงเชิญให้ท่านมาพบกันอย่างนี้ เพราะว่าทุกคนก็ทราบว่าเหตุการณ์มีความยุ่งเหยิงอย่างไร และก็จะทำให้ประเทศชาติล่มจมไปได้ แต่ที่จะแปลกใจก็อาจมีว่าทำไมเชิญ พลเอกสุจินดา คราประยูร และพลตรีจำลอง ศรีเมือง เพราะว่าอาจจะมีผู้ที่เป็นตัวแสดง ตัวละครมากกว่านี้ แต่ที่เชิญมาเพราะว่าตั้งแต่แรกที่มีเหตุการณ์ สองท่านเป็นผู้ที่เผชิญหน้ากัน แล้วก็ในที่สุด การต่อสู้หรือการเผชิญหน้ากว้างขวางออกไป ถึงได้เชิญสองท่านมา


การเผชิญหน้าตอนแรก ก็จะเห็นจุดประสงค์ของทั้งสองฝ่ายได้ชัดเจนพอสมควร แต่ต่อมาภายหลัง ๑๐ กว่าวัน ก็เห็นแล้วว่าการเผชิญหน้านั้น เปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างมาก จนกระทั่งผลจะออกมาอย่างไรก็ตาม ก็จะเสียทั้งนั้น เพราะว่าทำให้มีความเสียหายในทางชีวิตเลือดเนื้อของคนจำนวนมากพอสมควร แล้วก็มีความเสียหายทางวัตถุ ซึ่งเป็นของส่วนราชการและส่วนบุคคลเป็นมูลค่ามากมาย นอกจากนั้นก็มีความเสียหายในทางจิตใจ และในทางเศรษฐกิจของประเทศชาติอย่างที่จะนับคณนาไม่ได้

 

ฉะนั้นการที่จะเป็นไปอย่างนี้ต่อไป จะเป็นด้วยเหตุผลหรือต้นตออย่างไรก็ช่าง เพราะเดี๋ยวนี้เหตุผลเปลี่ยนไป ถ้าหากว่าเผชิญหน้ากันแบบนี้ต่อไป เมืองไทยมีแต่ล่มจมลงไป แล้วก็จะทำให้ประเทศไทยที่เราสร้างเสริมขึ้นมาอย่างดี เป็นเวลานาน จะกลายเป็นประเทศที่ไม่มีความหมาย หรือมีความหมายในทางลบอย่างมาก ซึ่งก็เริ่มปรากฏผลแล้ว ฉะนั้นจะต้องแก้ไข โดยที่ดูว่ามีข้อขัดแย้งอย่างไร แล้วก็พยายามที่จะแก้ไขตามลำดับ เพราะว่าเดี๋ยวนี้ปัญหาที่มีอยู่ทุกวันนี้ สองสามวันนี้ มันเปลี่ยนไป ปัญหาไม่ใช่เรื่องของที่เรียกว่าการเมือง หรือเรียกว่าของการดำรงตำแหน่งอะไร มันเป็นปัญหาของการสึกหรอของประเทศชาติ ฉะนั้นจะต้องช่วยกันแก้ไข


มีผู้ที่ส่งข้อแนะนำในการแก้ไขสถานการณ์มาหลายฉบับ หลายคนจำนวนเป็นร้อย แล้วก็ทั้งในเมืองไทย ทั้งต่างประเทศก็ส่งมา ที่เขาส่งมา การแก้ไขหรือการแนะนำว่า เราควรจะทำอย่างไร ก็มีต่างๆ นานา ตั้งแต่ตอนแรกก็บอกว่าให้แก้ไขด้วยวิธียุบสภา ซึ่งก็ได้หารือกับทุกฝ่ายที่เป็นสภา หมายความว่า พรรคการเมืองทั้งหมด ๑๑ พรรค ใน ๑๑ พรรคนี้ คำตอบมีว่า ไม่ควรยุบสภาเป็นส่วนมาก มี ๑ รายที่บอกว่า ควรยุบสภา ฉะนั้นการที่จะแก้ไขแบบที่เขาเสนอมานั้น ก็เป็นอันว่าตกไป นอกจากนั้นก็มีเป็นฎีกาและแนะนำวิธีการต่างๆ กัน ซึ่งก็ได้พยายามเสนอไปตามปกติ คือเวลามีฎีกาขึ้นมาก็ส่งไปให้ทางสำนักคณะรัฐมนตรี หรือสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขตามแบบนั้น ตกลงมีแบบยุบสภา และก็มีอีกแบบหนึ่ง คือแบบแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้ตามประสงค์ที่ต้องการ หมายความถึงประสงค์เดิมที่เกิดเผชิญหน้ากัน

 


ความจริงวิธีนี้ ถ้าจำกันได้เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔ ก็ได้พูดต่อสมาคมที่มาพบจำนวนหลายพันคน แล้วก็ดูเหมือนว่าพอจะฟังกัน ฟังกันโดยดีเพราะเหตุผลที่มีอยู่ในนั้นดูจะแก้ปัญหาได้พอควร ตอนนี้ก็ขอย้ำว่าทำไมพูดอย่างนั้น ว่าถ้าจะ “แก้ก่อนออก” ก็ได้ หรือ “ออกแล้วแก้” ก็ได้ อันนั้นทุกคนก็ทราบดีว่าเรื่องอะไร ก็เรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งครั้งนั้นการแก้รัฐธรรมนูญก็ได้ทำมาตลอด มากกว่าฉบับเดิมที่ได้แก้ไขไว้ แล้วก็ก่อนที่ไปพูดที่ศาลาดุสิดาลัย ก็ได้พบพลเอกสุจินดา ก็ขออนุญาตเล่าให้ฟังว่า พบพลเอกสุจินดา แล้วพลเอกสุจินดาก็เห็นด้วยว่าควรจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และแก้ไขต่อไปได้ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำกันได้ และตอนหลังนี้ พลเอกสุจินดาก็ได้ยืนยันว่าแก้ไขได้ ก็ค่อยๆ แก้ให้เข้าระเบียบ ให้เป็นแบบที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” 


ฉะนั้นก็ได้พูดตั้งหลายเดือนมาแล้ว ในวิธีการที่จะแก้ไข แล้วข้อสำคัญอยู่ที่ทำไมอยากให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แม้จะถือว่ารัฐธรรมนูญนี้ยังไม่ครบถ้วน ก็เพราะเหตุว่ารัฐธรรมนูญนั้นมีคุณภาพพอใช้ได้ ดีกว่าธรรมนูญการปกครองชั่วคราวที่ใช้มาเกือบปี เพราะเหตุว่ามีบางข้อบางมาตราซึ่งเป็นอันตรายแล้วก็ไม่ครบถ้วนในการที่จะใช้ปกครองประเทศ ฉะนั้นก็นึกว่าถ้าหากว่าสามารถที่จะปฏิบัติตามที่ได้พูดในวันที่ ๔ ธันวานั้น ก็เท่ากับเป็นการกลับไปดูปัญหาแต่เดิม ไม่ใช่ปัญหาวันนี้


ปัญหาวันนี้ไม่ใช่ปัญหาของการบัญญัติหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาทุกวันนี้คือความปลอดภัยและขวัญของประชาชน ซึ่งเดี๋ยวนี้ประชาชนทั่วไปทุกแห่งหนมีความหวาดระแวงว่าประเทศจะล่มจมโดยที่จะแก้ไขลำบาก ตามข่าวที่ได้รับทราบมาจากต่างประเทศ เพราะเหตุว่าในขณะนี้ทั้งลูกชายทั้งลูกสาวก็อยู่ต่างประเทศ ทั้งสองก็ทราบดี แล้วก็ได้พยายามที่จะแจ้งกับคนที่อยู่ในประเทศเหล่านั้นว่าประเทศไทยนี้จะยังแก้ไขสถานการณ์ได้ แต่ว่ารู้สึกว่าจะเป็นความคิดที่เป็นความคิดแบบหวังสูงไปหน่อย ถ้าหากว่าเราไม่ทำให้สถานการณ์อย่าง ๓ วันที่ผ่านมานี้สิ้นสุดลงไปได้ 
 

ฉะนั้นก็ขอให้ท่านโดยเฉพาะสองท่าน พลเอกสุจินดา และพลตรีจำลอง ช่วยกันคิด คือหันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน เพราะว่าเป็นประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคน เป็นประเทศของทุกคน ต้องเข้าหากัน ไม่เผชิญหน้ากัน แก้ปัญหา เพราะว่าอันตรายมีอยู่เวลาคนเราเกิดความบ้าเลือด ปฏิบัติการรุนแรงต่อกัน มันลืมตัว ลงท้ายก็ไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไร แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทางชนะ อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วที่แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติ ประชาชนจะเป็นประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ประชาชนเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ถ้าสมมติว่า กรุงเทพมหานครเสียหาย ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด แล้วก็จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองซากปรักหักพัง

 

ฉะนั้นจึงขอให้ทั้งสองท่านเข้ามา คือไม่เผชิญหน้า แต่ต้องหันหน้าเข้าหากัน และสองท่านนี้เท่ากับเป็นผู้แทนของฝ่ายต่างๆ คือ ไม่ใช่สองฝ่าย คือฝ่ายต่างๆ ที่เผชิญหน้ากัน ให้ช่วยกันแก้ปัญหาปัจจุบันนี้ คือความรุนแรงที่เกิดขึ้น แล้วก็เมื่อเยียวยาปัญหานี้ได้แล้ว จะมาพูดกัน ปรึกษากัน ว่าจะทำอย่างไรสำหรับให้ประเทศไทยได้มีการสร้างพัฒนาขึ้นมาได้ กลับคืนมาได้โดยดี อันนี้เป็นเหตุผลที่เรียกท่านทั้งสองมา และก็เชื่อว่าทั้งสองท่านก็เข้าใจว่าจะเป็นผู้ที่ได้สร้างประเทศจากซากปรักหักพัง แล้วก็จะได้ผลในส่วนตัวมาก ว่าได้ทำดี แก้ไขอย่างไรก็แล้วแต่ที่จะปรึกษากัน ก็มีข้อสังเกตดังนี้

 

ท่านประธานองคมนตรี ท่านองคมนตรีเปรม ก็เป็นผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ ผู้ที่พร้อมที่จะให้คำแนะนำ ปรึกษาหารือกันด้วยความเป็นกลาง ด้วยความรักชาติ เพื่อสร้างสรรค์ประเทศให้เข้าสู่ทางของความวัฒนา ขอฝากให้ช่วยกันสร้างชาติ”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัปเดต สถานการณ์ชุมนุม ม็อบคณะราษฎร 18 ตุลาคม 2563 

"บิ๊กตู่"ย้ำใครปลุกปั่น -บิดเบือนข้อมูล ทำสังคมแตกแยกจะถูกดำเนินคดี 

แถลงการณ์แพทย์ 386 รายชื่อ กรณีสลายการชุมนุม ม็อบคณะราษฎร

เดือด "ไล่ออก" หมอลงชื่อหนุนม็อบคณะราษฎร ค้านสลายชุมนุม 

“หมอเจี๊ยบ” หนุน “แถลงการณ์กลุ่มแพทย์” แนะใช้สันติวิธี

แพทย์สาวขอโทษคนไข้ หลังถูก"หมอเหรียญทอง"ไล่ออก

‘พรก.ฉุกเฉิน’ สยบม็อบ ‘คณะราษฎร63’อ่อนแรง? 

'นายกฯลุงตู่ผิดอะไร'  เพจลุงตู่ตูนตอบ 8 ข้อ 

“กลุ่มคนรักษ์ระยอง"แสดงจุดยืนไม่สนับสนุน "ไมค์ ภาณุพงศ์"

กลุ่มอาชีวะเครือข่าย "คณะราษฎร" ออกแถลงการณ์ "ขอโทษ"