"สลายชุมนุม" เกินกว่าเหตุ สมาคมทนายฯลั่น พร้อมช่วยเหลือผู้เสียหาย

17 ต.ค. 2563 | 10:22 น.

สมาคมทนายความฯ ออกแถลงการณ์ ชี้การสลายการชุมนุมเกินกว่าเหตุ ระบุ พร้อมช่วยเหลือผู้เสียหายในทางกฎหมาย

วันที่ 17 ตุลาคม 2563 สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ถึงกรณีสลายการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่แยกปทุมวัน เนื้อหาระบุว่า

 

การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐที่แยกปทุมวัน เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ ผู้กระทำต้องรับผิดต่อประชาชนในฐานะผู้เสียหายตามกฎหมาย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกาะติดชุมนุมม็อบคณะราษฎร 17 ตุลาคม 2563

"สลายชุมนุมเกินกว่าเหตุ" กรรมการสิทธิ์ ออกแถลงการณ์จี้รัฐเยียวยา

นิสิต 7 มหาวิทยาลัย จี้ยกเลิก ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ

6องค์กรสื่อ ออกแถลงการณ์ 3 ข้อ แนะยึดสันติวิธี - อย่าใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินริดรอนเสรีภาพ

 

ตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้กำลังรถยนต์และเครื่องมือที่ใช้ในการปราบจลาจลเข้าสลายการชุมนุมของนักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่มาร่วมชุมนุมเพื่อขับไลรัฐบาล ณ บริเวณสี่แยกปทุมวันนั้น

สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยเห็นว่าแม้การชุมนุมดังกล่าวจะเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา ๔ ประกอบมาตรา ๑๑ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๔ อันจะถือเป็นความผิดตามกฎหมายก็ตาม แต่การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าระงับการชุมนุมที่ถือเป็นความผิดจะต้องกระทำโดยสุจริตไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกินแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็นอันเป็นไปตามมาตรา ๑๗“ ของกฎหมายดังกล่าวเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติจึงจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

 

โดยที่การชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้นโดยสงบผู้เข้าร่วมชุมนุมส่วนใหญ่เป็นเยาวชนและประชาชนที่ไม่มีอาวุธไม่มีการก่อเหตุร้ายหรือก่อเหตุจลาจลดังนั้นการระงับการชุมนุมจึงต้องกระทำโดยละม่อม แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลับปรากฏว่าเจ้าหน้าที่เป็นฝ่ายเริ่มใช้กำลังและเครื่องมือร้ายแรงที่มีไว้เพื่อปราบการจลาจลเข้าสลายการชุมนุมการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจึงไม่สุจริตและเป็นสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีจำเป็นผู้กระทำจึงต้องรับผิดทั้งทางแพ่งทางอาญาและทางวินัยรวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องรับผิดต่อผู้เสียหายตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยพร้อมจะให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมายดังกล่าวและขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติจึงระลึกว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นคนร่วมชาติที่มิได้มีความขัดแย้งกับท่านหาก แต่เป็นการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองเพื่อขับไล่นายกรัฐมนตรีจึงควรปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมด้วยขันติธรรมและเมตตาธรรม

"สลายชุมนุม" เกินกว่าเหตุ สมาคมทนายฯลั่น พร้อมช่วยเหลือผู้เสียหาย