ลุ้นแบงก์ชาติ ขยายเวลาพักชำระหนี้

18 ต.ค. 2563 | 03:00 น.

ลุ้นแบงก์ชาติ ขยายเวลาพักชำระหนี้ : บทบรรณาธิการฐานเศรษฐิจ ฉบับ 3619 ระหว่างวันที่ 18-21 ต.ค.63

 

 

ใกล้สิ้นสุดการพักชำระหนี้ 6 เดือน ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) และประชาชนที่ไปขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) ได้มีมาตรการออกมา เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนตุลาคม 2563 นี้
 

ปัจจุบันมีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือในการพักหนี้รวม 12.82 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวมเกือบ 7 ล้านล้านบาท หรือ 1 ใน 3 ของสินเชื่อในระบบทั้งหมด โดยกลุ่มเอสเอ็มอีมีมูลหนี้ถึง 2.25 ล้านล้านบาท จำนวน 1.17 ล้านราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการด้านธุรกิจบริการท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยงจะกลายเป็นหนี้เสียไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติหลังสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ขอธปท.ในเดือนตุลาคมนี้
 

ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายออกมาเรียกร้อง ธปท.รวมทั้งเสนอเรื่องไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือศบศ. ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ไปแล้ว เพื่อส่งสัญญาณไปยังธปท.ขอพักชำระหนี้ออกไปอีก 2 ปี แต่เรื่องยังเงียบหายว่ารัฐบาลจะมีแนวทางออกมาอย่างไร

ขณะที่ธนาคารออมสิน ได้ขยายเวลาพักชำระหนี้ออกไปสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2563 และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ขยายเวลาพักชำระหนี้ไปถึงสิ้นเดือนมกราคม 2564 นำร่องไปแล้ว
 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คนใหม่ เครื่องร้อนออกมารับลูก ที่จะแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของทั้งภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่ม SME เช่น ที่จะไปเร่งพิจารณามาตรการ Soft loan การเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงมาตรการการพักชำระหนี้ในระยะต่อไป ที่รับปากว่าจะไป ประสานธปท.เพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสมออกมา
 

ล่าสุดธปท.ส่งสัญญาณมายังกระทรวงการคลังว่า จะมีมาตรการดูแลลูกหนี้และธนาคารเพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการพักชำระหนี้ และแก้ไขหลักเกณฑ์สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ภายหลังจากมาตรการพักชำระหนี้ครบกำหนดในเดือนตุลาคมนี้ แต่การแก้ปัญหาจะต้องตรงจุดมากขึ้น เพื่อให้เกิดประสิทธิผล
 

ธปท.ยืนยันว่า ขณะนี้ลูกหนี้ส่วนใหญ่อยู่ในภาวะที่ดีขึ้น เห็นได้จาก ลูกหนี้ที่เข้าโครงการช่วยเหลือ 60% สามารถกลับมาชำระได้ตามปกติ ส่วนที่เหลืออีก 40% ยังจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทั้งการยืดหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้เป็นเฉพาะราย ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเอสเอ็มอี
 

ดังนั้น ในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 นี้ คงต้องมาลุ้นกันว่า ธปท. จะงัดแพ็กเกจอะไรมาช่วยลูกหนี้ ผ่อนเบาภาระต่อไปได้อีกบ้าง