อินโดฯดึงทุนจีน-เกาหลี ร่วมทุนผุดฮับ “แบตเตอรี่รถไฟฟ้า”  

16 ต.ค. 2563 | 20:00 น.

อินโดนีเซียตั้งเป้าพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่รถไฟฟ้าแบบครบวงจร ที่สามารถพึ่งพาตนเองและลดการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศ ให้ได้มากที่สุด เป้าหมายดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทั้งจากนโยบายภาครัฐ แรงขับเคลื่อนจากรัฐวิสาหกิจ และกลุ่มทุนจากต่างประเทศที่แสดงความสนใจเข้ามาร่วมลงทุน

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กลุ่มรัฐวิสาหกิจของอินโดนีเซีย มีแผนจะร่วมกันจัดตั้ง บริษัทร่วมทุนเพื่อผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (electric vehicles: EVs) และปูพื้นฐานสู่การก่อตั้งอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมทุกมิติของการผลิตแบตเตอรี่รถไฟฟ้า

อินโดฯดึงทุนจีน-เกาหลี ร่วมทุนผุดฮับ “แบตเตอรี่รถไฟฟ้า”  

รายงานระบุว่า บริษัทร่วมทุนที่ก่อตั้งขึ้นใหม่นี้จะมีชื่อว่า บริษัท อินโดนีเซีย แบตเตอรี่ โฮลดิ้ง (Indonesia Battery Holding) มีผู้ร่วมทุนเป็นรัฐวิสาหกิจของอินโดนีเซีย 5 ราย ประกอบด้วย บริษัท ไมนิง อินดัสทรี อินโดนีเซีย (Mind ID) และบริษัท อาเนกา ตัมบัง (Antam) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านเหมืองแร่ บริษัท เปอรูซาฮัน ลิสทริก เนการา (PLN) รัฐวิสาหกิจผู้ผลิตกระแสไฟฟ้า และบริษัท เปอร์ตามินา (Pertamina) เป็นรัฐวิสาหกิจในอุตสาหกรรมน้ำมัน

 

นายโอริอัส เพอทรัส โมเอดัก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไมนิง อินดัสทรี อินโดนีเซีย (Mind ID) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมจัดทำแผนความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม เพื่อที่จะสามารถเริ่มแผนงานในส่วนของการนำแร่นิกเกิลมาใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถไฟฟ้าได้โดยเร็วที่สุด “โครงการนี้จะช่วยสร้างอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมทุกมิติของการผลิตแบตเตอรี่ เริ่มตั้งแต่การผลิตสารเคมีและแร่ธาตุที่ต้องใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ ไปจนถึงการประกอบแบตเตอรี่ที่พร้อมสำหรับการนำไปใช้งาน รวมทั้งการนำแบตเตอรี่เก่าไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลด้วย” ซีอีโอของ Mind ID กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วางเป้าไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าใน 5 ปี

ยุคใหม่ "รถยนต์ไฟฟ้า" ดันไทยเป็นฮับแบตเตอรี่โลก 

“สมอ.” อนุมัติมาตฐานแบตเตอร์รี่รถไฟฟ้าเพิ่มขานรับนโยบาย EV

 

ไม่เพียงเท่านั้น บริษัท อินโดนีเซีย แบตเตอรี่ โฮลดิ้ง ยังจะร่วมมือกับกลุ่มทุนจากต่างประเทศ คือบริษัทจีนและเกาหลีใต้ ลงทุนร่วมกันใน 2 โครงการ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนราว 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดมากไปกว่านี้

รายงานของรอยเตอร์ยังระบุด้วยว่า บริษัท อาเนกา ตัมบัง (Antam) ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจหุ้นส่วนโครงการ ยังมีแผนจะจัดทำโครงการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตแบตเตอรี่รถไฟฟ้า อาทิ โครงการถลุงแร่นิกเกิลด้วยเทคโนโลยี HPAL (high-pressure acid leaching) และโครงการถลุงแร่ด้วยเตาถลุงไฟฟ้าแบบหมุน RKEF (rotary kiln electric furnace) ซึ่งมีมูบค่าระหว่าง 2,000-3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ก่อนหน้านี้ในเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่า บริษัทเกาหลีใต้ 2 ราย คือ บริษัท ฮุนได และบริษัท แอลจี เคม (LG Chem)ให้ความสนใจในการเข้ามาร่วมทุนแบตเตอรี่รถไฟฟ้าในประเทศอินโดนีเซีย แต่ไม่มีรายละเอียดมากนัก และในขณะนั้นก็ยังไม่มีการตัดสินใจเกี่ยวกับขนาดของการลงทุน

 

ในเดือนพ.ค. รายงานการวิจัยของ BloombergNEF (Bloomberg New Energy Finance) ซึ่งเป็นผู้นำด้านการนำเสนอข้อมูลทางการเงินของธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ เปิดเผยว่า ค่าไฟฟ้าสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมในอินโดนีเซียนั้นต่ำกว่าค่าไฟฟ้าในจีนอยู่ประมาณ 11% นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังมีปัจจัยบวกอื่น ๆอีก อาทิ ทรัพยากรแร่ธาตุอย่างนิกเกิล โคบอลท์ และแมงกานีส ที่มีอยู่จำนวนมาก ขณะที่ต้นทุนแรงงานก็ยังถูกอยู่ แถมด้วยมาตรการอุดหนุนจากภาครัฐ ทำให้อินโดนีเซียสามารถลดต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่รถไฟฟ้าลงได้ประมาณ 8% เมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตในจีน และด้วยเหตุนี้ อินโดนีเซียจึงอาจจะเป็นประเทศที่สามารถผลิตแบตเตอรี่รถไฟฟ้าได้ด้วยต้นทุนต่ำที่สุดในภูมิภาคนี้

 

ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซียเคยประกาศไว้เมื่อเดือนธ.ค. 2562 ว่า อินโดนีเซียมีเป้าหมายที่จะเริ่มผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2565 ซึ่งเหตุผลหลักที่กำหนดกรอบเวลาไว้ในปีดังกล่าว ก็เพื่อให้อินโดนีเซียลดการพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์หลัก ๆ ที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถไฟฟ้ามาจากต่างประเทศ และพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด

 

ข้อมูลอ้างอิง

Indonesian firms to form EV battery production JV

Hyundai, LG Chemical to Set Up EV Factory in Indonesia