แนวทางจ่ายเงินบัตรทองปี 64 หนุนจัดบริการลดแออัด

16 ต.ค. 2563 | 07:52 น.

สปสช.แจงแนวทางจ่ายเงินบัตรทองปี 2564 หนุนจัดบริการลดแออัด - รักษาระยะห่างทางสังคม

แนวทางจ่ายเงินบัตรทองปี 64 หนุนจัดบริการลดแออัด

 

จากการที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2564  ไปเมื่อเร็ว ๆนี้  โดยมี นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อภิปรายในหัวข้อ "การจัดการแนวทางการจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ ปีงบประมาณ 2564"

 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า การจัดสรรงบประมาณปี 2564 มีหลักการสำคัญคือ รายการบริการส่วนใหญ่ยังคงเหมือนปี 2563 ยกเว้นรายการเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ใหม่หรือปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น สนับสนุนการจัดบริการให้สอดคล้องกับนโยบายการรักษาระยะห่างทางสังคมและลดความแออัดในหน่วยบริการ การปรับปรุงจะเน้นเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพต่างๆ และกำหนดแนวทางการจ่ายค่าใช้จ่ายที่ไม่ซับซ้อน

 

ในส่วนของการจ่ายชดเชยค่าบริการนั้น สปสช.จะใช้ข้อมูลตาม send date คือ ส่งเบิกเดือนไหนก็จ่ายเดือนนั้นและจะปิดงบเร็วขึ้นภายใน 25 ก.ย. เพื่อให้หน่วยบริการมีสภาพคล่องดีขึ้น ในส่วนของผู้ป่วยใน จะประกันอัตราจ่ายคงที่หรือ fix rate เบื้องต้นที่อัตรา 8,350 บ./AdjRW หรือค่าบริการตามน้ำหนักสัมพัทธ์เท่ากันทุกเขต และผู้ป่วยสามารถเปลี่ยนหน่วยบริการได้สิทธิทันทีไม่ต้องรอ 15 วัน รวมทั้งผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว ในกรณีที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง สามารถไปรับบริการที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ที่พร้อม กล่าวคือในกรณีที่ต้องรอคิว เช่น ฉายรังสีรักษา ทาง สปสช.จะพยายามหาหน่วยบริการมารองรับให้เร็วที่สุด

 

"ปีนี้ สปสช.ได้งบประมาณเพิ่มขึ้น เงินเหมาจ่ายรายหัวจาก 3,600 บาท/ประชากร เพิ่มเป็น 3,719.23 บาท/ประชากร กรณีผู้ป่วยใน สปสช.ปรับอัตราการจ่ายสำหรับบริการผ่าตัดวันเดียว/ผ่าตัดแผลเล็ก เพื่อส่งเสริมการลดวันนอนและสำรองเตียงไว้สำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นจริงๆ ส่วน กทม.สามารถกำหนดเงื่อนไขหรือราคาจ่ายตามบริการสำหรับบริการ Non OP, Non IP หรือสำหรับผู้ป่วยในที่มีค่าใช้จ่ายสูงเกินปกติเมื่อเทียบกับเงินชดเชยตาม DRG และในส่วนบริการเฉพาะ ยังขับเคลื่อนเรื่องห้องฉุกเฉินหรือ ER คุณภาพ เช่น มีผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉินไปรับบริการ แล้วถูกเรียกเก็บเงิน ขณะนี้ทาง สปสช.จ่ายชดเชยให้ 150 บาท/ครั้ง อีกเรื่องคือจ่ายสำหรับผู้ป่วยโรคเลือดออกง่ายและโรคหายาก หรือ rare disease ด้วย" นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ในส่วนเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ ปีนี้กรมควบคุมโรคต้องการฉีดวัคซีนในเด็กที่อายุน้อยลง โดยเพิ่มการฉีดวัคซีน MMR สำหรับอายุ 1 ปี 6 เดือน มีการขยายการคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรมไปยังหญิงตั้งครรภ์ทุกกลุ่มอายุ ขยายการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้แบบ Fit test ไปยังทุกสิทธิ และเพิ่มมาตรการไม่สมทบเงินแก่กองทุนท้องถิ่น กทม.หากมียอดเงินคงเหลือตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อให้เกิดการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

 

ขณะที่ในส่วนของบริการนอกเหมาจ่ายรายหัวนั้น ในกลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV สปสช.ได้นำร่องยาป้องกันก่อนสัมผัสเชื้อหรือ PrEP และเพิ่มจำนวนถุงยางอนามัยให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ ส่วนโรคไตวายเรื้อรัง จะเริ่มบริการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (Automated Peritoneal Dialysis :APD) และพัฒนาระบบการบริหารจัดการรองรับในอนาคต ส่วนกลุ่มผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน ปรับเหมาจ่ายรายเคสผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นตามเงื่อนไขที่กำหนด

 

ทั้งนี้ ประเด็นที่มีการเปลี่ยนแปลงในปี 2564 ในส่วนของค่าบริการเพิ่มเติมสำหรับบริการปฐมภูมิมีหลายรายการ ประกอบด้วยการผลักดันบริการร้านยาสุขภาพชุมชนทั้ง 3 โมเดล บริการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังผู้ป่วยที่บ้าน การจัดบริการ telehealth/telemedicine/ tele pharmacy บริการด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์และบริการด้านกายภาพบำบัด ตลอดจนบริการตรวจแล็บนอกหน่วยปฏิบัติการ

ด้าน นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในส่วนของ สธ. โจทย์คือทำอย่างไรถึงสามารถจัดสรรทรัพยากรให้หน่วยบริการสามารถดูแลผู้ป่วยได้ ซึ่งงบประมาณปี 2564 ได้มา 1.13 แสนล้าน หลังจากหักเงินเดือนก็จะเหลือจริง ๆเพื่อจัดสรรหน่วยบริการ 5.9 หมื่นล้านบาท โดยแนวทางการบริหารเงินจะมี 3 หัวข้อใหญ่ๆ คือ 1.ส่งเสริมการมีส่วนร่วม 2.จัดสรรเงินอย่างมีประสิทธิภาพ 3.กระจายอำนาจให้เขตสุขภาพ

 

นพ.สุระ กล่าวว่า ในส่วนของการส่งเสริมการมีส่วนร่วม จะมีคณะกรรมการระดับเขต คณะกรรมการระดับกระทรวง ในระดับรองลงไปก็มีคณะกรรมการระดับจังหวัด โดยเชิญกลุ่มเหล่านี้มาสะท้อนปัญหา และอีกส่วนที่ต้องทำคือพัฒนาระบบบัญชี ระบบตรวจสอบและพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการบริหารจัดการเงิน ขณะที่ด้านการจัดสรรเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ก็คล้ายปีก่อนคือใช้ค่า Step Ladder การใช้ค่า K เติมงบ IP หรืองบผู้ป่วยในรายกลุ่มและกระจายเงินให้เขตกำหนดค่าน้ำหนักรายโรงพยาบาลได้ อีกทั้งประกันรายรับขั้นต่ำ 100% ของทุกหน่วยบริการ การเติมเงินให้โรงพยาบาลที่มีประชากรหลักประกันสุขภาพหรือ UC น้อยกว่า 30,000 ราย และปรับ Hardship จัดสรรพื้นที่ทุรกันดาร พื้นที่เสี่ยงภัยพื้นที่ยากลำบากและพื้นที่ชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัด และในส่วนการกระจายอำนาจให้เขตสุขภาพ มีเงินเพื่อบริหารเงินให้ 3,000 ล้านบาท

 

"สรุปภาพรวมทั้งหมด จะเหลือวงเงินหลังหักเงินเดือนและเงินบริหารภาพรวม 5.5 หมื่นล้านที่ลงไปในหน่วยบริการจริงๆ ส่วนเงินบริหารภาพรวมจะจัดสรรในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาเฉพาะกรณี 3,700 ล้านบาท สำรองเพื่อบริหารในระดับประเทศ 300 ล้านบาท และกระจายอำนาจบริหารให้เขต 3,000 ล้านบาท" นพ.สุระ กล่าว