"อาคม" เร่งเครื่อง ฟื้นเศรษฐกิจ

19 ต.ค. 2563 | 10:55 น.

ขุนคลังคนใหม่ "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" เดินหน้าทำงานทันที ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น ระยะปานกลาง รับมือเศรษฐกิจเปิด หลังโควิดตลี่คลาย

กระทรวงการคลังที่เงียบเหงามากว่า 1 เดือน  คึกคักขึ้นทันที เมื่อได้ขุนคลังคนใหม่เข้ามาทำงานอย่าง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ที่เดินหน้าทันที ตั้งแต่วันแรกของการเข้าทำงาน ด้วยการประกาศเร่งทำ 5 เรื่องด่วน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้กลับเข้าที่เข้าทางได้โดยเร็ว หลังจากถูกโควิด-19 กัดกินมานาน

 

ชัดเจนแล้วว่า รายได้ของประเทศสูญหายไปมาก โดยเฉพาะรายได้จากการท่องเที่ยว เพราะผลจากการล็อกดาวน์ ทำให้ไม่มี นักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่เดือนเมษายน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม 6 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 6.7 ล้านคน หดตัว 66.15% มีรายได้เพียง 3.3 แสนล้านบาท หดตัวถึง 65.15% จากที่เคยคาดไว้ช่วงต้นปีก่อนเกิดโควิด-19 ว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติจะสูงถึง 40.08 ล้านคน จะทำรายได้เข้าประเทศถึง 3.18 ล้านล้านบาท 

 

ขณะที่รายได้จากการส่งออก ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ แม้เดือนสิงหาคม จะขยับดีขึ้นคือ ติดลบน้อยลงเพียง 7.94% แต่เมื่อรวมทั้ง 8 เดือนแล้วยังติดลบ 7.75% ทำให้รายได้จากการส่งออกหายไปเกินครึ่งจากปีก่อนหน้า 

 

ดังนั้นทางออกเดียวที่จะทำได้คือ เพิ่มรายได้หรือดึงกำลังซื้อจากในประเทศให้ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ ซึ่งนายอาคม จัดเต็มสูบทันทีซึ่งมีทั้งระยะสั้นและระยะปานกลาง

"อาคม" เร่งเครื่อง ฟื้นเศรษฐกิจ

มาตรการระยะสั้น อย่างแรกคือ เร่งแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของทั้งภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือต่อเนื่อง หลังหมดมาตรการพักชำระหนี้ในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ โดยให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สรุปภายใต้หลักการ ควรกำหนดระยะเวลาพักชำระหนี้อย่างมีขอบเขตเหมือนในต่างประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขาดวินัยในการชำระหนี้ และเกิดหนี้เสียสะสมเป็นระยะเวลานาน แต่ควรจะใช้มาตรการปรับโครงสร้างหนี้และการปรับโครงสร้างธุรกิจของภาคเอกชนหลังจากสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้มากกว่า

"อาคม" เร่งเครื่อง ฟื้นเศรษฐกิจ

ต่อมาคือ หามาตรการรองรับปัญหาการว่างงาน โดยต้องพยายามให้เอกชนรักษาการจ้างงานขององค์กรไว้ให้ได้มากที่สุด ตามมาด้วย การสร้างความเข้มแข็งฐานะการคลังอย่างยั่งยืน ดูแลกระแสเงินสดของภาครัฐ ให้เพียงพอต่อการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการจัดเก็บรายได้ ให้ได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งการหารายได้เพิ่มจากรายได้ที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tax revenue) จากทรัพย์สินของรัฐ รายได้จากรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเงินนอกงบประมาณต่างๆ ที่ไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ ควรต้องนำกลับมาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาล 

 

นอกจากนั้น ยังต้องเร่งรัดการเบิก จ่ายงบประมาณในปี 2564 ทั้งงบประมาณรายจ่ายและงบลงทุน โดยเฉพาะงบจัดประชุมสัมมนาในต่างจังหวัดเพื่อช่วยกระตุ้น เศรษฐกิจในระดับภูมิภาค รวมถึงเร่งรัดเบิกจ่ายงบฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เพื่อเร่งนำเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุด 

 

สุดท้ายคือ เพิ่มกำลังซื้อของประชาชนในกลุ่มต่างๆ ผ่านมาตรการกระตุ้นการบริโภคที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปแล้ว เช่น การให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการคนละครึ่ง ควรเร่งรัดให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนด 

"อาคม" เร่งเครื่อง ฟื้นเศรษฐกิจ

 

“ผมได้สั่งการให้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปประเมินว่า มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อที่ออกมาทั้งมาตรการคนละครึ่ง เติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 500 บาท 3 เดือน และช้อปดีมีคืน จะมีผลต่อเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด จากนั้นจะออกมาตรการเสริมในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2563 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนที่ต้องการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่อีก” 

ดังนั้น ก็งต้องดูว่า มาตรการที่ออกมานั้น จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ได้มากน้อยแค่ไหน และจะทำให้จีดีพีปีนี้ติดลบตํ่ากว่า 8.5% ได้ตามที่คาดได้หรือไม่

 

ขณะเดียวกัน ท่านขุนคลังคนใหม่ยังประกาศลุยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระยะปานกลางเป้าหมายคือ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและดูแลให้เศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาเติบโตได้ตามศักยภาพหลังจากวิกฤตโควิด-19 โดยจะให้ความสำคัญในการปรับโครงสร้างการคลังของประเทศทั้งในส่วนของรายได้และรายจ่าย เช่น การจัดเก็บภาษี E-commerce, Online-trade และ E-logistics

 

โดยเฉพาะการเตรียมมาตรการฟื้นฟูหลังเศรษฐกิจเปิด (Reopening economy) ทั้งมาตรการด้านการเงินการคลัง และการเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่ได้รับการอนุมัติแล้ว รวมทั้งการจัดแหล่งเงินลงทุน (Financing infrastructure) ที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการ เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐในระยะต่อไป 

 

จากนี้ไป ก็คงเหลือรายละเอียดที่จะเดินตามกรอบที่วางไว้ ซึ่งหากยังไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมา่ได้ การเพิ่มกำลังซื้อในประเทศระลอกใหม่ ก็คงมีออกมาให้เห็นอีกเป็นแน่แท้ แต่จะเป็นมาตรการที่แรงพอที่จะกระตุกเศรษฐกิจให้ทยานขึ้นได้หรือไม่ ต้องรอวัดฝีมือขุนคลังคนนี้ ที่เคยเป็นเบอร์หนึ่งของ 4 เสาหลักเศรษฐกิจมาแล้ว 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สคร.ถก “อาคม”ปรับแผนลงทุนรัฐวิสาหกิจปี 2564

อาคม เชื่อ ออกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน สร้างความเชื่อมั่นภาคธุรกิจได้

"อาคม" ระบุรัฐจำเป็นออกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มั่นใจธุรกิจเดินหน้าต่อได้ 

จ่อปิดดีล สัญญาสัมปทานสายสีเขียว หลัง "อาคม" นั่งขุนคลัง

หน้า 13  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,619 วันที่ 18 - 21 ตุลาคม พ.ศ. 2563