อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด"ทรงตัว"

16 ต.ค. 2563 | 00:24 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบลงมาก เหตุทั้งนักลงทุนต่างชาติที่ทยอยซื้อตราสารหนี้สวนทางกับการขายหุ้น

อัตราแลกเปลี่ยนค่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้(วันที่16ตุลาคม2563)ที่ระดับ 31.22 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน กรอบเงินบาทระหว่างวัน 31.12-31.32 บาทต่อดอลลาร์

 

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS)ระบุว่าในคืนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลงติดต่อกันเป็นวันที่สาม ดัชนี S&P 500 และ NASDAQ ย่อตัว 0.2% และ 0.5% ตามลำดับ ขณะที่โดยรวมไม่มีประเด็นทางเศรษฐกิจหรือการเมืองใหม่ที่น่าสนใจมาก โดยจะมีเพียงตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ในสหรัฐ (U.S. initial jobless claims) ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาที่ 8.98 แสนตำแหน่ง จากระดับ 8.45 แสนในสองสัปดาห์ก่อน ส่งสัญญาณว่าแรงหนุนทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงมากในระยะสั้น

ฝั่งตลาดเงิน ดอลลาร์ปรับตัวขึ้น 0.45% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักทันทีที่ตลาดเคลื่อนไหวในเชิงปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) โดยที่บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10ปีอยู่ที่ระดับ 0.73% และประเด็นหลักที่ตลาดจับตาคือนโยบายการคลัง ถ้าพรรคริพับบลิกันและโดนัลด์ ทรัมป์ สามารถหาข้อสรุปเรื่องปริมาณการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ก็อาจกลับมากดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าได้อีกครั้ง

ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบลงมาก เนื่องจากมีทั้งนักลงทุนต่างชาติที่ทยอยซื้อตราสารหนี้สวนทางกับการขายหุ้น จึงไม่ได้เป็นลบกับเงินบาทมากนัก ส่วนในระยะสั้นต้องกลับมาจับตาภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐเพิ่มเติม ถ้าฟื้นตัวช้ากว่าที่ตลาดคาดหวัง ก็อาจกดดันให้เกิดแรงขายสินทรัพย์เสี่ยง และเงินบาทอ่อนค่าได้ต่อเช่นกัน

 

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (16 ต.ค.) ปรับตัวอยู่ที่ระดับ 31.19 บาทต่อดอลลาร์ฯ ใกล้เคียงระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 31.22 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทั้งนี้เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบ โดยตลาดรอติดตามปัจจัยภายในประเทศ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับอานิสงส์จากสัญญาณไร้ข้อสรุปของมาตรการสหรัฐฯ ประกอบกับตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ออกมาน่าผิดหวัง


สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 31.00-31.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยสำคัญที่รอติดตามยังอยู่ที่ สถานการณ์การเมืองของไทย และประเด็นทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนต.ค.