อย่ากระพือความรุนแรง ซ้ำเติมเศรษฐกิจ

15 ต.ค. 2563 | 12:40 น.

อย่ากระพือความรุนแรง ซ้ำเติมเศรษฐกิจ : คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3619 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 18—1 ต.ค.2563 โดย... กระบี่เดียวดาย

 

ในที่สุดม็อบ 14 ตุลา 2563 โดยกลุ่มผู้ชุมนุมที่ใช้ชื่อ “คณะราษฎร” ภายใต้การนำของ อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชีวรักษ์ หรือ เพนกวิน, ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ ,ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง ,ณัชนน ไพโรจน์ นำมวลชนเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 14 ต.ค.เข้าไปยึดครองพื้นที่ถนนพิษณุโลก บริเวณสะพานชมัยมยุรเชษฐ์ ติดกับมุมทำเนียบรัฐบาล นำไปสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อเวลา 04.00 น.ของเช้าวันที่ 15 ตุลาคม 2563
 

รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร โดยที่ปรากฏว่ามีบุคคลหลายกลุ่มได้เชิญชวน ปลุกระดม และดําเนินการให้มีการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะขึ้นในกรุงเทพมหานคร โดยใช้วิธีการและช่องทางต่าง ๆ ก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายและความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน มีการกระทําที่กระทบต่อขบวน เสด็จพระราชดําเนิน มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทําที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล อันมิใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรอง ตามรัฐธรรมนูญ ทั้งยังกระทบโดยตรงต่อสัมฤทธิผลของมาตรการควบคุม การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ของประเทศที่อยู่ในภาวะเปราะบาง
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกาะติด "ม็อบ 14 ตุลา" ชุมนุม คณะราษฎร 2563 ได้ที่นี่

โพลเผยคนไทยส่วนใหญ่รับไม่ได้ "ม็อบ 14 ตุลา"คุกคาม -จาบจ้วงสถาบัน

สื่อเทศมอง “ม็อบ 14 ตุลา” ประเทศไทยที่เปลี่ยนไป

 

กรณีจึงจําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไข ให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที่เพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย และรักษาความสงบเรียบร้อยและประโยชน์ส่วนรวม
 

มีการจับกุมแกนนำหลายราย โดยแกนนำประกาศให้สลายการชุมนุมไปก่อนและให้กลับมาชุมนุมกันใหม่ที่พื้นที่ธุรกิจใจกลางเมือง “สี่แยกราชประสงค์”
 

การประกาศตั้งกอร.ฉ.ดึงหน่วยราชการ ทหาร เข้าร่วมเพื่อดำเนินการตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง และดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายตามการแถลงของตำรวจ
 

แน่นอนแม้เป็นไปตามขั้นตอนดำเนินการปกติ เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีการตั้งกองอำนวยการบัญชาการสั่งการ เพื่อควบคุมจัดการสถานการณ์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
 

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จริงอยู่ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม นอกเหนือจากกฎหมายปกติ แต่รัฐในฐานะผู้กุมอำนาจและกลไกการดำเนินงานทุกอย่างอยู่แล้ว ต้องไม่ใช้อำนาจกับผู้ชุมนุมเกินขอบเขตและไม่เลือกปฏิบัติ หรือ 2 มาตรฐานในการบังคับใช้กับผู้ชุมนุมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ต้องไม่ลืมว่านอกเหนือจากกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎรแล้ว ในวันเดียวกันนั้นยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองอีกกลุ่มหนึ่งด้วย ถ้าหากกระทำผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการเช่นเดียวกัน
 

ไม่ว่าพัฒนาการของการชุมนุมจะเป็นไปอย่างไร ไม่ว่าการดำเนินการของรัฐภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินจะเดินอย่างไร แต่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันประคับประคองไม่ให้นำไปสู่ความรุนแรง การปะทะหักหาญ บาดเจ็บเลือดตกยางออก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาในสังคมไทยและจะมีผลกระทบซ้ำเติมเศรษฐกิจ
 

 แม้ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกเป็นความจำเป็นของรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องเข้าไปดูแลสถานการณ์ "ทางฝ่ายความมั่นคงเขาต้องเข้าไปดูแล ถ้าไม่ทำ ก็จะกระทบต่อภาคธุรกิจด้วย" และไม่ขอคาดการณ์ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์นี้ “มองยาก อย่าให้คาดการณ์เลย ตอนนี้ ขอดูแลเฉพาะงานที่ทำดีกว่า”
 

ว่าที่จริงแล้วเศรษฐกิจเจอดาบแรกจากโควิด-19 ก็แทบไปไม่รอดกันแล้วในห้วงเวลานี้ มาเจอดาบ 2 หากมีสถานการณ์ขัดแย้งรุนแรงบานปลาย ก็จะหายนะกันยกเข่งเป็นแน่แท้
 

ความเชื่อมั่น การค้า การขาย การลงทุน จะสะดุดหยุดลง แบบยากที่จะกู่กลับ
 

ทุกฝ่ายต้องอดทนอดกลั้นให้ถึงที่สุด
 

ประชาชนผู้หาเช้ากินค่ำ ไปไม่ไหวกันแล้ว!!