“กนอ.” ชี้ปัญหา “การเมือง” ไม่กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน

15 ต.ค. 2563 | 10:05 น.

“กนอ.” ระบุการเมืองไม่กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนต่อประเทศไทย ขณะที่ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อภาคอุตสาหกรรมผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

นายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา รองผู้ว่าการสายงานยุทธศาสตร์และพัฒนาการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงประเด็นที่รัฐบาลมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ว่า นักลงทุนในประเทศไทยต่างเคยผ่านเหตุการณ์สําคัญทางการเมืองในประเทศมาก่อนหน้านี้  ไม่ว่าจะการปฏิวัติและเหตุการณ์สำคัญ ๆ มาแล้ว  โดยที่สุดท้ายนักลงทุนก็พบว่า ไม่ได้มีผลกระทบต่อการลงทุนมากนัก

ทั้งนี้  กนอ.จึงเชื่อว่า นักลงทุนต่างชาติยังคงมีความเชื่อมั่นในประเทศไทย และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ก็เป็นเพียงแค่สถานการณ์ระยะสั้นเท่านั้น อีกทั้งรัฐบาลก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีอยู่แล้ว และไม่มีผลต่อนโยบายหลักด้านต่าง ๆ ของประเทศ ไม่ว่าจะนโยบายส่งเสริมการลงทุนเกี่ยวกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี (EEC) ซึ่ง กนอ.ได้เตรียมการสร้างนิคมอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมารองรับการลงทุน พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ 5G รองรับ ซึ่งการนิคมฯ เองก็มีการลงทุนปรับด้านเทคโนโลยีของ กนอ.เองเช่นกัน เพราะ กนอ. ต้องการเห็นองค์กรขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยี 5G

“กนอ.” ชี้ปัญหา “การเมือง” ไม่กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน

ส่วนสถานการณ์โควิด-19 (Covid-19) ที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมโดยรวมนั้น ผลกระทบได้ผ่านจุดต่ำสุดมาไปแล้วในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ประมาณเดือนมิถุนายน - กรกฎาคมที่ผ่านมา และโดยภาพรวมก็เริ่มทยอยปรับตัวดีขึ้น  เพราะฉะนั้นจึงเชื่อว่าภายในปี 64 หรือช่วงหลังไตรมาส 3 ปีนี้ ภาคอุตสาหกรรมในประเทศโดยรวมก็น่าจะดีขึ้น เพราะสถานการณ์ในปีนี้ได้ผ่านมา 3 ไตรมาสแล้ว ซึ่งหลายอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัวและมีการปรับตัวดีขึ้น แต่ยังไม่เต็ม 100 เหมือนช่วงก่อนโควิด-19 สังเกตได้จากมีการใช้สาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรมที่เริ่มเพิ่มขึ้น

             

ด้านกระแสการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมนั้น  กลุ่มอุตสาหกรรมเดิมมีการทยอยลงทุนด้านเทคโนโลยีมากขึ้น โดยนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอันดับหนึ่งยังคงเป็นกลุ่มนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ขณะที่นักลงทุนประเทศจีน ก็เริ่มเข้ามาลงทุนมากขึ้น  ซึ่งภาคตะวันออกยังคงเป็นพื้นที่ที่ได้รับความนิยมเข้ามาลงทุนมากที่สุดอยู่ เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี  และยังเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลส่งเสริมอีอีซีด้วย  โดยจะเห็นได้จากการที่ภาคเอกชนมีการลงทุนตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับกระแสการเข้ามาลงทุน แม้ว่ายังคงมีโควิด-19 อยู่

ซึ่งในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีการลงทุนตั้งนิคมใหม่ 2-3 แห่ง และภายใน 2 ปีข้างหน้าจะเกิดการลงทุนไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านบาท ประเมินว่าน่าจะเกิดการจ้างงานประมาณ 50,000 คน โดยภาพรวมการลงทุนสะสมทั้งหมดในภาคตะวันออกปัจจุบันมียอดรวมประมาณ 1 ล้านล้านบาทแล้วเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรม  และมีการจ้างงานแล้วไม่ต่ำกว่า 300,000 คน

              ขณะที่การลงทุนส่วนใหญ่ยังเป็นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเดิม ส่วนอุตสาหกรรมใหม่ต้องรออีกสักระยะหนึ่ง โดยปัจจัยต่างประเทศที่ต้องจับตามองคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐและสงครามการค้า