DITP ปลุกพลังคิดนอกกรอบพัฒนาสินค้าใหม่

15 ต.ค. 2563 | 01:53 น.

DITP พัฒนาไอเดียผู้ประกอบการ แข่งขันเวทีการค้าโลก ผ่านโครงการ STYLE BANGKOK COLLABORATION 2020 พร้อมเล็งต่อยอดความร่วมมือพันธมิตร พัฒนาข่องทางขายออนไลน์-ออฟไลน์

DITP  ได้จัดโครงการ STYLE BANGKOK COLLABORATION 2020 สร้างมิติใหม่ให้กับสินค้าไลฟ์สไตล์ไทยนำพาผู้ประกอบการคิดนอกกรอบ สร้างไอเดียใหม่สำหรับพัฒนาสินค้า ดึงความโดดเด่นระหว่างแบรนด์มาผสานกันเพื่อสร้างจุดสินค้าใหม่ เกิดการขยายฐานลูกค้าระหว่างกัน และยังเตรียมเดินหน้าต่อยอดผลงานความร่วมมือในครั้งนี้ทั้งในและต่างประเทศครบทุกช่องทางผ่านออนไลน์-ออฟไลน์

 DITP ปลุกพลังคิดนอกกรอบพัฒนาสินค้าใหม่

นายสมเด็จ  สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ DITP กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีนโยบายที่จะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยต้องตั้งรับกับแข่งขันบนเวทีการค้าระหว่างประเทศ  ปรับตัว และหาโอกาสให้สามารถก้าวเข้าสู่ตลาดโลกด้วยความมั่นใจ โครงการพัฒนาสินค้าไลฟ์สไตล์ใหม่ หรือ STYLE Bangkok Collaboration 2020 สำหรับงานแสดงสินค้า STYLE Bangkok เดือนมีนาคม 2564 เป็นโครงการหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ ให้ผลิตสินค้าไลฟ์สไตล์ไทยที่มีความทันสมัย เกิดสินค้าใหม่ สร้างความหลากหลายให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อและผู้นำเข้า มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการ ซึ่งในอนาคต 

 

กรมฯ ยังมีแผนต่อยอดผลงานความร่วมมือของทั้ง 32 แบรนด์จากโครงการนี้ ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการค้าและการตลาด ไม่เพียงแต่งานแสดงสินค้า STYLE Bangkok เท่านั้น แต่ยังรวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ไม่ว่าจะออฟไลน์หรือออนไลน์ต่อไป

นางสาวเพลินจันทร์ วิญญารัตน์ นักออกแบบสินค้าไลฟ์สไตล์ ผู้ก่อตั้งและดีไซเนอร์แบรนด์ Mook V ผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมให้คำปรึกษาในโครงการ กล่าวว่า การ Collaboration ระหว่างแบรนด์นั้นจะทำให้สินค้ามีจุดแข็งและความแปลกใหม่ช่วยเพิ่มมูลค่า ทำให้สามารถสร้างตลาดได้ใหญ่ขึ้น โดยสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ รูปลักษณ์หรือการดีไซน์จะเป็นสิ่งแรกที่จะดึงดูดความสนใจให้คนหยิบจับ หลังจากนั้น จะดูถึงการใช้งานว่า สามารถนำมาใช้งานได้จริงหรือไม่ ฟังก์ชั่นตอบโจทย์ความต้องการมากน้อยเพียงใด ซึ่งความสวยและฟังก์ชั่นต้องไปด้วยกัน 

 DITP ปลุกพลังคิดนอกกรอบพัฒนาสินค้าใหม่

ผู้ประกอบการจะต้องชัดเจนในการเลือกกลุ่มเป้าหมายที่จะขายตั้งแต่แรก และการจะทำให้สินค้ามีความโดดเด่นและมีดีไซน์เป็นของตนเอง บางครั้งไม่จำเป็นต้องตามเทรนด์เสมอไป

 

นายรัฐ เปลี่ยนสุข นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์และผู้ก่อตั้ง Sumphat Gallery ผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมให้คำปรึกษาในโครงการเล่าว่า สิ่งสำคัญที่สุดของผู้ประกอบการคือการปรับตัว ช่องทางการขายผ่านออนไลน์จึงเป็นอีกหนึ่งทางออก การมีเว็บไซต์เพื่อขายสินค้าของตัวเองนั้นเป็นช่องทางการขายที่ดี ทำให้มีพื้นที่ในการเล่าเรื่องราวของสินค้า สามารถบอกรายละเอียดต่างๆ ได้ทั้งยังได้เห็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายชัดเจนขึ้น ส่งผลให้การออกแบบสินค้าตอบโจทย์ลูกค้าอย่างแท้จริง

หัวใจสำคัญสำหรับสินค้าเฟอร์นิเจอร์ในปัจจุบันคือการสร้างแบรนด์ที่ต่างจากเดิม เพราะฉะนั้นขนาดของธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงไป ผู้ผลิตต้องเข้าใจวิธีการตกแต่งบ้านมากขึ้นควบคู่กับเทรนด์ที่ผู้บริโภคต้องการ แต่ก็ต้องมีดีไซน์ที่เฉพาะตัว ดึงความต่างให้เกิดความโดดเด่นให้กับแบรนด์ตนเองด้วย

 DITP ปลุกพลังคิดนอกกรอบพัฒนาสินค้าใหม่

ด้านผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ปริยาพร  ธรรมรังษี นักออกแบบจากแบรนด์  MOBELLA (โมเบลล่า) เล่าถึงสินค้าที่ได้ Collab ในโครงการว่า มีการพัฒนาสินค้า 3 กลุ่ม ได้แก่ MOBELLA x I-SPA x PASAYA เป็นการพัฒนาสินค้าอ่างอาบน้ำให้มีฟังก์ชั่นการพักผ่อนแบบโซฟา สำหรับโซนนั่งเล่นหรือชานระเบียง, MOBELLA x LA VIE ออกแบบสินค้าให้เหมาะกับกลุ่มตลาดอาหรับ (Middle East) และกลุ่มตลาดอินเดียสมัยใหม่ (Modern Indian) และMOBELLA x PRIMPRAEWA คือการพัฒนาสินค้าร่วมกับผ้าไหมไทยให้มีความสากลและเข้ากับยุคสมัยปัจจุบันมากขึ้น

 

การเข้าร่วมโครงการนี้ ช่วยสร้างประโยชน์และแนวทางใหม่สำหรับการดีไซน์และพัฒนาสินค้า ได้รู้จักวัสดุและเรียนรู้กระบวนการผลิตใหม่ๆ ที่สามารถนำมาพัฒนาสินค้าเดิมของแบรนด์ให้มีจุดแข็งทางด้านดีไซน์และทางการตลาดมากขึ้น การคิดนอกกรอบและทำอะไรแปลกใหม่จากตัวตนเดิมของแบรนด์ ทำให้สินค้าเป็นที่น่าสนใจยิ่งขึ้นอีกทั้งยังช่วยสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ขึ้นมาได้อีกด้วย ซึ่งช่วยเกื้อหนุนทั้งภาพลักษณ์และก่อให้เกิดประโยชน์ทางการตลาดแก่กันและกัน

 DITP ปลุกพลังคิดนอกกรอบพัฒนาสินค้าใหม่

ส่วน นิตยา  จังสถิตย์กุล รองประธานกรรมการ บริษัท บาธรูม ดีไซน์ ไอ-สปา จำกัด แบรนด์ I-SPA เล่าว่า เคยผ่านการ Collab แบรนด์สินค้ามาก่อนกับ  DEESAWAT ตั้งแต่เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมาโดยใช้ไม้สักมาเป็นส่วนประกอบของสินค้าในห้องน้ำ และเมื่อพบว่ากรมฯ เปิดโครงการนี้จึงเข้าร่วมทันที ซึ่งทำให้ได้เจอกับเจ้าของ แบรนด์ต่างๆ ที่มีความชำนาญเฉพาะทาง ใช้วัสดุในการผลิตที่ไม่เหมือนกัน ทำให้เปิดมุมมองการพัฒนาสินค้าได้กว้างขึ้น สร้างโอกาสให้ได้เลือกใช้เทคนิคและวัสดุใหม่ๆ มาเป็นส่วนประกอบของสินค้ากันในอนาคต 

 

ตลอดจนโอกาสด้านอื่น อาทิ การเพิ่มกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพิ่มช่องทางรับรู้ และเพิ่มช่องทางสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายใหม่ ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญช่วยเรื่องการมองความเชื่อมต่อระหว่างแบรนด์และสะท้อนมุมมองของผู้ที่มีประสบการณ์เห็นงานออกแบบมามาก ซึ่งหลังจากนี้น่าจะทำให้เกิดการสร้างสรรค์สินค้าและเกิดความร่วมมือกันในมิติใหม่ๆ แน่นอน