แบงก์เมินออกหุ้นกู้

14 ต.ค. 2563 | 09:30 น.

สมาคมตลาดตราสารหนี้ เผย 9 เดือน เอกชนออกหุ้นกู้ลดลง ชี้กลุ่มธนาคารลดลงมากที่สุด หลังสภาพคล่องล้น เงินฝากไหลเข้ามากขึ้น คาดปีนี้เอกชนจบที่ 800,000 ล้านบาท

การลงทุนในภาวะปัจจุบันที่มีความเสี่ยงสูง ตัวเลือกลงทุนที่ดีควรจะต้องเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย แต่สินทรัพย์ที่ปลอดภัยกลับได้ผลตอบแทนที่ตํ่า ซึ่งการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงตํ่าและผลตอบแทนยังพอรับได้ “ตราสารหนี้” หรือ “หุ้นกู้” ยังคงเป็นตัวเลือกได้ดี โดยต้องพิจารณาถึงผู้ออกหุ้นกู้ร่วมกับอันดับเครดิต และผลตอบแทนว่า เหมาะสมกันหรือไม่ เพราะหากเลือกที่มีผลตอบแทนสูง แน่นอนว่า ความเสี่ยงย่อมสูงตามเช่นกัน

 

รายงานข่าวจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยเปิดเผยว่า การออกตราสารหนี้ของเอกชนระยะสั้น 9 เดือนแรก ปี 2563 อยู่ที่ 561,025 ล้านบาท ลดลง 238,783 ล้านบาท หรือ -29.85% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่อยู่ที่ 799,808 ล้านบาท ส่วนระยะยาวอยู่ที่ 533,624  ล้านบาทลดลง 291,846 ล้านบาท หรือ -35.35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 825,470ล้านบาท 

 

โดยกลุ่มธนาคารออกตราสารหนี้ระยะสั้นอยู่ที่ 232,249 ล้านบาท ลดลง 105,846 ล้านบาท หรือ -39.37% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 383,095 ล้านบาท ส่วนกลุ่มเศรษฐกิจจริง (Real Sector) อยู่ที่ 328,776 ล้านบาท ลดลง 87,937 ล้านบาท หรือ -21.10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 416,713 ล้านบาท

แบงก์เมินออกหุ้นกู้

ขณะที่นักลงทุนต่างชาติ 9 เดือนแรก อยู่ในสถานะขายสุทธิรวม 71,299 ล้านบาท โดยในไตรมาส 1 ปี 2563 มีสถานะขายสุทธิสูงสุดที่ 105,266 ล้านบาท และเดือนมีนาคม ขายสุทธิมากที่สุดที่ 94,678 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 3 มีการซื้อสุทธิเป็นไตรมาสแรกที่ 39,444 ล้านบาท และเดือนกันยายน มีสถานะซื้อสุทธิมากที่สุดที่ 23,993 ล้านบาท 

 

ขณะเดียวกัน การถือครองของนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทย ณ ไตรมาส 3 ปี 2563 อยู่ที่ 848,767 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6% ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ไทย แต่ลดลง 68,049 ล้านบาท หรือ -7.42% จากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 916,816 ล้านบาท 

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดตราสารหนี้ไทยช่วงที่เหลือของปี 2563 คาดว่า บริษัทเอกชนยังคงมีความต้องการระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ระยะยาว เพื่อเสริมสภาพคล่อง ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แม้ว่าจะมีความต้อง การระดมทุนของรัฐบาลจำนวนมาก เนื่องจากรัฐบาลจะใช้เครื่องมือการระดมทุนที่หลากหลาย

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยกล่าวว่า การออกหุ้นกู้เอกชนปีนี้ คาดว่า จะอยู่ที่ประมาณ 800,000 ล้านบาท โดยในไตรมาส 2 และ 3 ที่มีการออกลดลงของเอกชนอย่างชัดเจนนั้น จากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้บางบริษัทต้องเลื่อนแผนออกไปก่อน รวมถึงหลายบริษัทกลับไปใช้สินเชื่อจากธนาคารมากขึ้น แต่ปัจจุบันแนวโน้มเริ่มกลับมาดีขึ้น โดยอยู่ระหว่างติดตามการออกหุ้นกู้ใหม่ เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่จะครบกำหนดในปีหน้าที่ประมาณ 750,000 ล้านบาท 

แบงก์เมินออกหุ้นกู้

อย่างไรก็ตาม การออกตราสารหนี้ องกลุ่มธนาคารที่เป็น 1 ใน 3 กลุ่มหลัก มีมูลค่าการออกลดลงมากที่สุด มาจากสภาพคล่องที่มีค่อนข้างสูง จากที่ผ่านมา มีเงินฝากไหลเข้าธนาคารเพิ่มขึ้น ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องระดมทุนเพื่อใช้เงินมากนัก ส่วนภาพรวมการออกตราสารหนี้ มองว่า แนวโน้มยังคงมีอยู่ ถึงจะเป็นปริมาณที่ลดลงก็ตาม เพราะหากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ก็ยังต้องระดมทุนเพื่อตุนสภาพคล่อง และหากเศรษฐกิจเติบโต ก็ยังต้องระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจเป็นปกติ

 

“ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ ความไม่แน่นอนยังมีอีกมาก เช่น การเลือกตั้งของสหรัฐที่จะมีผลกระทบต่อการเงิน อัตราดอกเบี้ย กระแสเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติ สงครามการค้า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบสองที่จะมีผลกระทบหนักขึ้น และเศรษฐกิจในประเทศที่จะกระเตื้องมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากมีการควบคุมได้ดี เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการส่งออกเริ่มกลับมาปกติ จะทำให้ภาพรวมดีขึ้นแน่นอน ส่วนสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ขณะนี้ยังไม่เห็นภาพที่มากขึ้น เพราะบางรายมีการเจรจากับทางเจ้าหนี้ไปบ้างแล้ว” 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แบงก์กรุงเทพ ออก "หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์" 2.3 หมื่นล้าน ตุนทุนสำรองรับมือพิษโควิด

รู้จัก “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” เสี่ยงแต่คุ้ม?

ROJNA ออกหุ้นกู้ 1,600 ลบ.ดอกเบี้ย 3.90% ต่อปี 

"Kbank" มาแล้วออก"หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์" 500 ล้านดอลลาร์ จับตาแบงก์ตามมาติดๆแน่

 

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,618 วันที่ 15 - 17 ตุลาคม พ.ศ. 2563