เติมเงินฐานราก ปรับพื้นฐานเศรษฐกิจ

14 ต.ค. 2563 | 02:15 น.

เติมเงินฐานราก ปรับพื้นฐานเศรษฐกิจ : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3618 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 15-17 ต.ค.2563 


          รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ได้ออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค 3 ชุด การเติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง โครงการช้อปดีมีคืน เพื่อคาดหวังให้มีการใช้จ่ายเงินกระตุ้นกำลังซื้อการบริโภคให้เกิดขึ้นในตลาด ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท

          รัฐบาลและศบศ.มองว่ามาตรการ 3 ชุด ที่ออกมาในการเติมให้ประชาชนใช้จ่ายบริโภค เพียงพอแล้วเหลือเพียงแค่รอระยะเวลาให้มาตรการเหล่านี้ ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาบ้างและในระหว่างนี้คงไม่มีมาตรการเพิ่มสำหรับไตรมาส 4 อาจจะมีบ้างในแง่ของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนแต่ไม่ได้เป็นในรูปของตัวเงิน

          อย่างไรก็ดี กับสถานการณ์ผลกระทบทางเศรษฐกิจในขณะนี้ แทบทุกองคาพยพได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงในทุกภาคส่วน ทั้งภาคบริการ ภาคการผลิต ลงทุนอุตสาหกรรม ภาคเกษตร มาตรการที่ออกมาจึงยังไม่น่าเพียงพอในการประคองเศรษฐกิจในระยะนี้ไปจนถึงสิ้นปีต่อด้วยช่วงเริ่มต้นปี 2564 โดยเฉพาะปัญหาหนี้ที่กดทับการดำเนินงานของภาคธนาคาร จากข้อเสนอเอกชนที่ให้พักชำระหนี้ 2 ปี ซึ่งยังหาข้อสรุปไม่ได้ ซึ่งส่งผลกระทบเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

          เราเห็นว่าชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมา ยังเบาบางมากเกินไป และอาจจะมองข้ามบางภาค โดยเฉพาะภาคเกษตรที่เชื่อมเศรษฐกิจฐานรากอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งแม้จะได้รับผลเยียวยาโดยตรงจากการจัดสรรงบประมาณในส่วนอื่นๆ แต่เพียงสามารถรองรับผลกระทบได้บางส่วนเท่านั้นและหากได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากน้ำท่วม ก็อาจทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปมากกว่าเดิม

          รัฐบาลจึงควรเตรียมความพร้อมในการพิจารณาอนุมัติมาตรการเศรษฐกิจในระยะต่อไป รวมทั้งการพิจารณาใช้เม็ดเงินจากเงินพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน ในส่วนของ 4 แสนล้านบาทหลังโดยเร็ว โดยเฉพาะโครงการที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งจะก่อให้เกิดผลทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในด้านการปรับพื้นฐานเศรษฐกิจเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายจะสามารถขยับได้ทันที ไม่จำเป็นต้องรอให้ปัญหาเกิดขึ้นก่อนแล้วมาวางแนวทางแก้ไขในภายหลัง ที่จะเป็นปัญหาที่ยุ่งยากมากขึ้น