สกัดขาใหญ่ฟอกเงินดิจิทัล “ปปง.-ก.ล.ต.” จับมือออกล่า

15 ต.ค. 2563 | 00:00 น.

สกัดขาใหญ่ฟอกเงินดิจิทัล “ปปง.-ก.ล.ต.” จับมือออกล่า : คอลัมน์ห้ามเขียน ฉบับ 3618 ฐานเศรษฐกิจ หน้า 20 ระหว่างวันที่ 15-17 ต.ค.63 โดย...พรานบุญ

 

          โลกของเงินเสมือนที่มีม่านหมอกของเงินตราและความละโมบมาบดบังสายตาคนรุ่นใหม่ กำลังกลายเป็นช่องทางหนึ่งในการฟอกเงินกันสนั่นลั่นทุ่ง

          6 ตุลาคม ที่ผ่านมา พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันกุล ประธานกรรมการ ปปง. ออกแรงเองเรียกประชุมคณะกรรมการฟอกเงินเต็มคณะทั้ง 14 คน มาประชุมร่วมกัน เพื่อสกัดกั้นการฟอกเงินในตลาดเงินเสมือนทั้งโทเคน คริปโตเคอร์เรนซี่ คอยน์ เหรียญดิจิทัล ที่นับวันระบาดอย่างหนัก และเป็นช่องทางการฟอกเงินของ “สายดาร์ก”

          จิ้งจกย่านราชเทวีร้องจ๊กๆ บอกว่า งานนี้บรรดากรรมการมากันยกชุด ทั้ง ประยงค์ ปรียาจิตต์ สุทธิรัตน์ รัตนโชติ ประสงค์ พูนธเนศร์ กฤษดา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต.นำทัพบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงมาพรึ่บ

          เพราะหลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คลอดหลักเกณฑ์การซื้อ-ขายสกุลเงินดิจิทัล (Crypto Currency) เพื่อเปิดทางให้การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย ต้องผ่าน 7 สกุลเงินดิจิทัลอันประกอบด้วย Bitcoin, Bitcoin Cash, Ethereum, Ethereum Classic, Litecoin, Ripple และ Stellar เนื่องจากมีความน่าเชื่อถือและได้รับความนิยม ทำให้มีสภาพคล่องสูง เหมาะกับการใช้งาน

          โลกของเงินเสมือน “คริปโตเคอเรนซี่-โทเคน-คอยน์” ในประเทศไทยเปิดกว้างอย่างเต็มที่ 

          ผู้ได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ไล่จาก 1.บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด,2.บริษัท บิทคอยน์ จำกัด, 3.บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด 4.บริษัท หั่วปี้ (ประเทศไทย) จำกัด 5.บริษัท อีอาร์เอ็กซ์ จำกัด 6.บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด 7.บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด 8.บริษัท จีเอ็มโอ-แซด.คอม คริปโทนอมิคซ์ (ประเทศไทย) จำกัด

          ผู้ได้รับใบอนุญาตนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัลออกมาทำมาหากินในโลกเสมือนจำนวนมาก เช่น 1.บริษัท คอยส์ ทีเอช จำกัด 2.บริษัท บิทาซซ่า จำกัด 3.บริษัท ซาโตชิ จำกัด 4.บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด 5.บริษัท จีเอ็มโอ-แซด.คอม คริปโทนอมิคซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ฯลฯ 

          ตลาดที่เปิดกว้างทำให้การซื้อขายโทเคน คอยน์ บิตคอยน์ เหรียญดิจิทัล ของคนรุ่นใหม่ พ่อค้า นักการเมือง นักการพนัน ในประเทศไทยคึกคักซื้อขายกันบริษัทละไม่น้อยกว่าวันละ 200-1,500 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ ผู้คนเริ่มไม่ยึดติดกับ “ธนบัตร” แล้ว

          จิ้งจกร้องจ๊กๆ บอกว่า ต้นตอหลักมาจากการที่ “กองข่าวกรองทางการเงิน สำนักงาน ปปง.” ได้ทำการศึกษา “ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการต่อต้านอาชญากรรมในยุคดิจิทัล: อาชญากรรมกับ Cryptocurrency” แล้วพบว่า เงินเสมือน เงินดิจิทัลได้กลายการเป็นช่องทางในการประกอบอาชญากรรมและฟอกเงิน และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้น เพราะมีระบบกลไกที่ไม่ผูกติดกับธนาคารพาณิชย์ และเป็นอิสระจากการควบคุมดูแลของหน่วยงานรัฐบาล ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้ธนาคารในการทําธุรกรรม มีคุณสมบัติโดดเด่นในเรื่องการปกปิดตัวตนของผู้ทําธุรกรรม 

          จึงสนองความต้องการของผู้ที่ชื่นชอบความเป็นนิรนามหรือ anonymous ได้เป็นอย่างดี และยังมีความรวดเร็วในการโอนเงินระหว่างประเทศที่ใช้เวลาเป็นนาทีหรือชั่วโมงเท่านั้น  

          นอกจากลักษณะเด่นในเรื่องความรวดเร็วในการทําธุรกรรมแล้ว บุคคลทั่วไปสามารถเปิดใช้งานเงินเสมือนเพียงแค่เปิดบัญชีกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital wallet) ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการเปิดบัญชีฯ ทางเว็บไซต์หลายราย นอกจากนี้ เงินเสมือนยังเอื้อประโยชน์ต่อการอําพรางตัวตนและสถานที่ทําธุรกรรมได้เป็นอย่างดีกล่าวคือ ผู้ใช้เงินเสมือนทําธุรกรรมผ่าน Digital wallet จะมีแอดเดรส (address) เป็นของตนเอง โดย address ถูกสร้างขึ้นแบบสุ่มด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และประกอบด้วยตัวเลขกับตัวอักษร 26 - 34 ตัว 

          ธุรกรรมเหล่านี้ทำกันได้ง่ายเพียงแค่ผู้ใช้เงินเสมือนในการชําระค่าสินค้าหรือโอนเงินจากบุคคลหนึ่งไปอีกบุคคลหนึ่งต้องทราบ address ของผู้ขายสินค้าหรือผู้รับโอน ผู้ใช้งานทั้ง 2 ฝ่ายต่างไม่มีข้อมูลตัวตนที่แท้จริงของผู้ที่ทําธุรกรรม และ address สําหรับธุรกรรมที่ใช้เงินเสมือนมีความแตกต่างจากหมายเลขบัญชีเงินฝากธนาคารในลักษณะที่ว่า address จํานวน 1 address ใช้สําหรับธุรกรรม 1 รายการเท่านั้น 

          ทันทีที่ผู้ทําธุรกรรมชําระค่าสินค้าหรือส่งคําสั่งโอนเงินเสมือนออกจาก Digital wallet แล้ว addressของผู้ทําธุรกรรมจะเปลี่ยนไป และในขณะเดียวกัน address ของผู้รับโอนหรือผู้ขายสินค้าก็จะเปลี่ยนไปด้วยทันที ที่มีเงินเสมือนโอนเข้ามาใน Digital wallet  

          ความซับซ้อนของระบบที่อยู่เบื้องหลังการทํางานของเงินเสมือนนี้ เอื้อประโยชน์ต่อการปกปิดตัวตนที่แท้จริง และข้อมูลการทําธุรกรรม ไม่ว่าจะเป็นชื่อผู้ทําธุรกรรม จํานวนเงิน ต้นทางและปลายทางของเส้นทางการเงิน และหากอาชญากรมีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีเงินดิจิทัลและ Blockchain ก็จะส่งผลให้การ แกะรอยหรือติดตามเส้นทางการเงินมีความยากลําบากและใช้เวลานาน 

          การสืบสวนต้องใช้โปรแกรม คอมพิวเตอร์หรือซอฟท์แวร์ในการจําแนก address และต้องอาศัยความร่วมมือจาก Exchanger หรือ Dealer ในการเชื่อมโยงข้อมูล address กับตัวตนที่แท้จริงของผู้ทําธุรกรรม 

          นอกจากนี้ เงินเสมือนไม่อยู่ในการควบคุมของเจ้าของเว็บไซต์มีระบบที่ไม่ผ่านตัวกลางหรือสถาบันการเงินใด และสามารถทําธุรกรรมผ่าน Digital wallet บนโทรศัพท์มือถือได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ส่งผลให้เงินเสมือนมีความเสี่ยงที่จะถูกแสวงประโยชน์ในการเป็นช่องทางในการประกอบอาชญากรรมและฟอกเงิน และถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเคลื่อนย้ายถ่ายเทเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด รวมทั้งเป็นเครื่องมือของอาชญากรในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายมากขึ้นด้วย

          ปปง.-ก.ล.ต. จึงต้องจับมือกันส่องผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลฯ รวมถึงสถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 ที่มีลูกค้าหรือบัญชีหรือธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ให้มีการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า  (Customer Due Diligent : CDD) และการตรวจสอบการทำธุรกรรม หากพบความผิดปกติเป็นธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยต้องรายงาน และขอให้อธิบายพฤติกรรมและลำดับระยะเวลาที่พบความผิดปกติ หรือข้อมูลการแสดงตนของบุคคลที่ถูกรายงาน เพื่อทำการสอบสวนเส้นทางทางการเงิน และป้องกันมิให้สินทรัพย์ดิจิทัลถูกใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงิน 

          กรณีคดีเว็บไซต์ AlphaBay ซึ่งเป็นเว็บไซต์ใต้ดิน Darknet ที่เปิดให้บริการซื้อขายยาเสพติดอาวุธ และของผิดกฎหมายอื่น ๆ โดยใช้เงินเสมือนในการซื้อขายแลกเปลี่ยนและหลบหนีเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งสํานักงานสอบสวนกลาง (FBI) สหรัฐอเมริกา ขอความร่วมมือมายังประเทศไทยในการช่วยติดตามตัวและจับกุมผู้ดูแลเว็บไซต์ จนต้องดึงองค์การตํารวจสากล (Interpol) องค์การตํารวจยุโรป (Europol) มาร่วมกับกับหน่วยงานใน ไทย เนเธอร์แลนด์ ลิธัวเนีย แคนาดา สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส จนทําให้สามารถจับกุมได้

          แม้ไม่มีรายงานระบุออกมาว่า ใครอยู้ในข่ายของการฟอกเงินบ้าง แต่จิ้งจกร้องๆ บอกมาว่า มีนักการเมือง นายทหาร นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ล็อบบี้ยิสต์ ชื่อดัง นายบ่อนหนุ่มที่รวยไม่รู้เรื่องและชอบโชว์เงินสด ตลอดจนนักธุรกิจนายทุนใหญ่ในเมืองไทย 2-3 ราย ที่เฉิดฉายในสังคม อยู่ในข่ายของการสอดส่องจับจ้องพิเศษ...

          จุ๊ๆ อย่าเอ็ดไปเชียวว่ามีใครบ้าง แต่คนย่านดอนเมือง ฝั่งธน ย่านทองหล่อ ย่านใจกลางเมือง ย่านรามอินทรา ระวังไว้เด้อ!