งานวิจัยชี้ วัคซีนต้านโควิด-19 ยังมีประสิทธิภาพ แม้เจอไวรัสกลายพันธุ์

12 ต.ค. 2563 | 09:34 น.

องค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติของออสเตรเลีย เปิดเผยการค้นพบซึ่งบ่งชี้ว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสจะไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีศักยภาพต้านโรคโควิด-19

 

ผลการวิจัยของ องค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) ช่วยคลายความกังวลที่ว่า วัคซีนซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาในปัจจุบัน จะไม่มีประสิทธิภาพในการต่อต้าน เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แบ่งออกเป็นหลายสายพันธุ์ และเป็นสายพันธุ์ที่ล้วนก่อให้เกิดโรคโควิด-19

งานวิจัยชี้ วัคซีนต้านโควิด-19 ยังมีประสิทธิภาพ แม้เจอไวรัสกลายพันธุ์

การศึกษาระบุว่าวัคซีนที่อยู่ระหว่างการทดลองส่วนใหญ่มีต้นแบบการผลิตมาจากไวรัส "สายพันธุ์ดี" (D-strain) ที่พบมากในการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ไวรัสดังกล่าวได้กลายพันธุ์จนเกิดเป็น "สายพันธุ์จี" (G-strain) หรือ "D614G" ซึ่งขณะนี้มีสัดส่วนอยู่ที่ 85% ของจีโนมไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2)

 

ทีมวิจัยของ CSIRO ได้ทดสอบไวรัสทั้งสองสายพันธุ์ในเลือดของพังพอนที่ถูกฉีดวัคซีน "INO-4800" อันเป็นวัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัท อิโนวิโอ ฟาร์มาซูติคัลส์ (Inovio Pharmaceuticals) และพบว่าวัคซีนมีประสิทธิผลต่อทั้งสายพันธุ์ดีและจี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัสเซียเฉลยเบื้องหลัง พัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ได้ไว 

จีนเริ่มทดลองวัคซีนโควิด-19 เฟส 3 ในต่างประเทศ 

ทุ่ม400ล้าน เร่งผลิต "วัคซีนโควิด"

 

"โลกเข้าใกล้วัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการปกป้องและช่วยชีวิตผู้คนไปอีกก้าว" แลร์รี มาร์แชล ผู้บริหารสูงสุดของ CSIRO แถลง "การวิจัยด้วยความรวดเร็วเช่นนี้ ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันในเชิงลึกร่วมกับพันธมิตรทั้งในออสเตรเลียและทั่วโลกเท่านั้น"

งานวิจัยชี้ วัคซีนต้านโควิด-19 ยังมีประสิทธิภาพ แม้เจอไวรัสกลายพันธุ์

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เอส.เอส.วาซาน (S.S. Vasan) ผู้เขียนหลักของการศึกษาวิจัยดังกล่าว ระบุว่า การค้นพบนี้ถือเป็นข่าวดีสำหรับวัคซีนหลายร้อยตัวที่อยู่ระหว่างการพัฒนาทั่วโลก

 

"วัคซีนโรคโควิด-19 ที่อยู่ระหว่างการทดลองส่วนใหญ่มุ่งเป้าที่ “สไปก์โปรตีน” หรือ “โปรตีนหนาม” ซึ่งเป็นโครงสร้างชั้นนอกของไวรัส เนื่องจากสไปก์โปรตีนจะไปจับกับตัวรับชนิด ACE2 ที่อยู่ในปอดและทางเดินหายใจของเรา ซึ่งเป็นจุดที่เชื้อจะเข้าสู่เซลล์" วาซานกล่าว

 

นอกจากงานวิจัยเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของไวรัสและประสิทธิภาพของวัคซีนต้านโควิด-19 ข้างต้นซึ่งถือเป็นข่าวดีแล้ว ในส่วนของบริษัทผู้ผลิตยารักษาโควิด-19 ที่หนึ่งในนั้นคือบริษัท รีเจเนอรอน ฟาร์มาซูติคัลส์ อิงค์. ( Regeneron Pharmaceuticals Inc.) ผู้คิดค้นยาที่ใช้ในการรักษาอาการป่วยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทางซีอีโอของบริษัท คือนายเลนนาร์ด ชไลเฟอร์ ได้ออกมาติงเตือนเมื่อเร็ว ๆนี้ว่า อย่าเพิ่งดีใจว่า โลกได้ยารักษาโควิด-19 แล้วเพียงเพราะปธน.ทรัมป์ใช้แล้วมีอาการดีขึ้น

 

ชไลเฟอร์ซึ่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท รีเจเนอรอนฯ เตือนว่า การคิดเช่นนั้นจะเป็นการด่วนสรุป เพราะกรณีของปธน.ทรัมป์นั้น เป็นเพียงกรณีเดียว แต่ในการวิจัยเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของยารักษาโรค จำเป็นต้องมีการทดสอบมากกว่านี้ในการทดลองทางคลินิก เพื่อนำไปประเมินผลต่อว่าตัวยามีประสิทธิภาพในการรักษาโรคโควิด-19 จริงหรือไม่

 

ความเคลื่อนไหวของซีอีโอบริษัท รีเจเนอรอนฯ ครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากที่ปธน.ทรัมป์ได้กล่าวชื่นชมยาของบริษัท ที่ทำให้เขามีอาการดีขึ้นจากการป่วยด้วยโรคโควิด-19 ไม่เพียงเท่านั้น ปธน.ทรัมป์ยังระบุด้วยว่า ตัวเขาเองนั้น"มีภูมิคุ้มกัน" โรคดังกล่าวแล้ว

 

“แม้ยาของบริษัทจะสร้างภูมิคุ้มกันได้จริง แต่ก็ยังไม่แน่นอนว่าภูมิคุ้มกันนั้นจะอยู่นานเพียงใด โดยอาจจะอยู่นานหลายเดือน หรือเป็นหลายปี” นายชไลเฟอร์ ยังกล่าวต่อไปว่า กรณีของปธน.ทรัมป์นั้นค่อนข้างน่าสนใจ เพราะปธน.มีอายุมากแล้ว (74 ปี) ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยง แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นยังไม่แข็งแกร่งมากพอที่จะใช้เป็นหลักฐานได้จริง โดยหลักฐานจะแข็งแกร่งมากพอก็ต่อเมื่อมาจากการทดลองทางคลินิกขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ยอมรับได้และขณะนี้ก็มีหลายฝ่ายกำลังดำเนินการอยู่

ทั้งนี้ บรรดาผู้ป่วยได้ขอเข้าร่วมการทดลองทางคลินิกสำหรับการใช้ยารักษาโรคโควิด-19 ที่สกัดจากแอนติบอดีของบริษัท รีเจเนอรอนฯ ซึ่งใช้ในการรักษาอาการป่วยของปธน.ทรัมป์

 

ปธน.ทรัมป์ได้ออกจากโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ทหารแห่งชาติวอลเตอร์ รีด และกลับเข้าทำเนียบขาวเมื่อวันจันทร์ที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันศุกร์ที่ 2 ต.ค. โดยเขามีอาการติดเชื้อที่ปอดจนระดับออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง

 

แพทย์ประจำตัวของปธน.ทรัมป์เผยว่า ผลการตรวจเลือดที่ผ่านมาพบว่า แอนติบอดีมีการต่อสู้กับเชื้อโรค ซึ่งโฆษกของรีเจเนอรอนฯ ให้เหตุผลว่า อาจเป็นผลมาจากการรักษาด้วยยาของบริษัท

         

ด้านปธน.ทรัมป์ ให้สัญญาว่า เขาจะให้ชาวอเมริกันได้รับยาดังกล่าวฟรี พร้อมทั้งบรรยายถึงสรรพคุณของยานี้ อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ระบุว่า ก่อนที่จะนำยาดังกล่าวไปใช้ในวงกว้างได้นั้น จะต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประเมินประสิทธิภาพในการรักษาเสียก่อน