ดิจิทัลหยวนระยะที่สอง ก้าวเร็วและไกลกว่าที่คิด (1) 

13 ต.ค. 2563 | 03:55 น.

ดิจิทัลหยวนระยะที่สอง ก้าวเร็วและไกลกว่าที่คิด (1)  : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

 

 

 

ดิจิทัลหยวนระยะที่สอง ก้าวเร็วและไกลกว่าที่คิด (1) 

หลังจากเริ่มโครงการนำร่องดิจิทัลหยวนเมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา แต่เพียงไม่ถึง 4 เดือนต่อมา รัฐบาลจีนก็ประกาศแผนระยะที่ 2 ซะแล้ว หลายคนเกิดข้อสงสัยว่า การดำเนินการในระยะแรกได้ผลดีหรือไม่ และรัฐบาลจีนเตรียมขยายการทดลองไปยังพื้นที่แถบไหน เมื่อไหร่ อย่างไรในแผนระยะที่ 2 รวมทั้งแผนในระยะยาวจะเป็นเช่นไร

 

การประกาศนำร่องการใช้เงินหยวนดิจิทัลในระยะแรก ไม่เพียงแต่ทำให้จีนกลายเป็นประเทศแรกที่เริ่มใช้เงินสกุลเงินคริปโต (Cryptocurrency) ที่ดำเนินการโดยธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน ซึ่งแตกต่างจากเงินดิจิทัลอื่นที่ดำเนินการโดยภาคเอกชน แต่ยังทำให้จีนเป็นเศรษฐกิจใหญ่สุดในบรรดาประเทศที่อยู่ระหว่างการทดลองใช้เงินดิจิทัล อาทิ ยูเครน นอรเวย์ สวีเดน เกาหลีใต้ อุรุกวัย หมู่เกาะบาฮามาส์ และหมู่เกาะมาร์แชล 

 

ในการดำเนินการระยะแรก รัฐบาลจีนพยายาม “ขีดเส้นขีดวง” ในหลายมิติ ในแง่พื้นที่ จีนนำร่องใน 4 เมืองใน 4 ภูมิภาคของจีน อันได้แก่ เซินเจิ้น (Shenzhen) ทางตอนใต้ของจีน ซูโจว (Suzhou) ทางซีกตะวันออก (ใกล้กับเซี่ยงไฮ้) เฉิงตู (Chengdu) ศูนย์กลางด้านซีกตะวันตก และสวงอัน (Xiong’an) เมืองใหม่ทางตอนใต้ของกรุงปักกิ่ง ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของจีน

 

ขณะเดียวกัน ก็กำกับควบคุมผู้ที่จะเข้าระบบ ทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยเปิดให้ธุรกิจรับชำระเงินจากบุคคลทั่วไปในเชิงพาณิชย์ และสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันระหว่างบุคคลทั่วไป   

 

ในทางปฏิบัติ จีนได้เปิดให้ทดสอบธุรกรรมที่แตกต่างกันในแต่ละเมือง อาทิ ในเมืองซูโจว เจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วนได้รับเงินสวัสดิการการเดินทางประจำเดือนพฤษภาคมในรูปของเงินหยวนดิจิทัล ซึ่งเสมือนเป็นการบังคับให้คนเหล่านี้ทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลไปโดยปริยาย  

 

ขณะเดียวกัน การทดลองใช้ในเมืองสวงอันมุ่งเน้นไปที่การค้าปลีกและบริการอาหารนอกสถานที่  เหม่ยถวนเตี่ยนผิง (Meituan Dianping) บริการส่งอาหารออนไลน์ก็เริ่มรับชำระค่าบริการในรูปเงินหยวนดิจิทัล ขณะที่ร้านแม็คโดนัลส์ (McDonald’s) และแฟรนไชส์ร้านอาหารจานด่วน ต่างชาติหลายรายในเมืองสวงอันก็เปิดรับชำระเงินหยวนดิจิทัล

 

หลังจากนั้น ธุรกิจออนไลน์จำนวนมากต่างก็ทยอยเปิดให้บริการรับโอนเงินหยวนดิจิทัล อาทิ ตีตีชูซิง (Didi Chuxing) บริการเรียกรถแท็กซี่ผ่านแอพรายใหญ่สุดของจีน และบิลลี่บิลลี่ (Bilibili) วิดีโอแชร์ริ่ง (Video Sharing) ชื่อดังในจีนที่ลิสต์อยู่ในตลาดแนสแด็ค (Nasdaq)  

 

จีนยังพยายามเพิ่มธุรกรรมไปยังกิจการอื่นอีกเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมท้องถิ่น ซุปเปอร์มาร์เก็ตไร้คน ร้านขนมปัง ร้านหนังสือ และสถานที่ออกกำลังกาย รวมทั้งร้านอาหารจานด่วนแบบแฟรนไชส์ของต่างชาติ อาทิ สตาร์บักส์ (Starbucks) และซับเวย์ (Subway) 

 

จากการประเมินผลการดำเนินการตามแผนในระยะแรก ระบุว่า การใช้เงินหยวนดิจิทัลในระยะแรกเป็นไปอย่างราบรื่น และไม่ตรวจพบการขัดข้องของระบบแต่อย่างใด

 

กิจการรายใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีนอย่างแอ๊นท์กรุ๊ป (Ant Group) และเทนเซ้นต์โฮลดิ้งส์ (Tencent Holdings) ที่เปิดให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัลและการโอนเงินหยวนผ่านแอ็พอาลีเพย์ (Alipay) และวีแชตเพย์ (WeChat Pay) ตามลำดับ ก็ยังเกาะกุมตลาดอีเพย์เมนท์ (E-Payment) ไว้ได้อย่างมั่นคง โดยครองตลาดในสัดส่วนเกือบ 95% ของมูลค่าการชำระเงินออนไลน์โดยรวมของจีน

ดิจิทัลหยวนระยะที่สอง ก้าวเร็วและไกลกว่าที่คิด (1) 

นอกเหนือจากความได้เปรียบของการเข้าสู่ตลาดก่อนแล้ว แอพทั้งสองยังผนวกบริการดีๆ อื่นเอาไว้ด้วยจนคนจีนติดใจในบริการกันงอมแงม อาทิ สื่อสังคมออนไลน์ อี-คอมเมิร์ซ การเรียกแท็กซี่ การจ่ายค่าสาธารณูปโภค และการลงทุนทางการเงิน  

 

จากสถิติพบว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2020 คนจีนใช้บริการโอนเงินผ่านแอพทั้งสองเพิ่มขึ้น โดยมีการโอนเงินผ่านแอพดังกล่าวคิดเป็นมูลค่ารวมถึง 53 ล้านล้านหยวน โควิด-19 จึงไม่เพียงจะไม่สามารถหยุดยั้งการเติบโต แต่กลับยังช่วยส่งเสริมความนิยมการใช้บริการแอ็พดังกล่าวอีกด้วย 

 

สิ่งนี้ทำให้รัฐบาลจีนตระหนักถึงความสำคัญในการเร่งพัฒนาระบบเงินหยวนดิจิทัล ต่อสาธารณชนในยุคหลังโควิด-19 แต่ก็ต้องเผชิญความท้าทายในการพัฒนาระบบให้ร่วมมือกับแอ็พยอดนิยมทั้งสอง และแอ็พอื่นๆ ที่มีอยู่มากมายในจีนให้ลงตัวได้อย่างไร 

 

ในวันที่ 12 สิงหาคม 2020 กระทรวงพาณิชย์ก็ “เปิดกว้าง” กระแสดังกล่าวด้วยการประกาศแผนการทดลองใช้เงินดิจิทัลหยวนระยะที่ 2 โดยขยายไปในหลายพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจด้านซีกตะวันออกของจีน ได้แก่

 

1.พื้นที่ปากแม่น้ำไข่มุก (Pearl River Delta) หรือที่นิยมเรียกกันในชื่อใหม่ว่า “เกรตเทอร์เบย์แอร์เรีย (Greater Bay Area) ซึ่งครอบคลุม “พื้นที่ท้องไก่” แถบมณฑลกวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊า

 

2.พื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียง (Yangtze River Delta) ซึ่งเป็น “พื้นที่อกไก่” แถบนครเซี่ยงไฮ้ และมณฑลเจียงซู เจ้อเจียง และอันฮุย ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงสุดของจีน พื้นนี้นี้ยังครอบคลุมถึงเมืองหังโจวที่จะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ในปี 2022 อีกด้วย

 

3.สามเหลี่ยมจิงจินจี้ (Jing-Jin-Ji) ใน “พื้นที่คอไก่” ครอบคลุมกรุงปักกิ่ง นครเทียนจิน และมณฑลเหอเป่ย ซึ่งครอบคลุมเมืองจางเจียโคว่ (Zhangjiakou) ซึ่งจะเป็นสถานที่จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2022 ขณะเดียวกัน โดยที่สนามแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวดังกล่าว จะเกี่ยวโยงไปถึงเมืองอื่นในมณฑลเหอเป่ย (Hebei) และเฮยหลงเจียง (Heilongjiang) การทดสอบระบบจึงต้องขยายไปในพื้นที่ดังกล่าวด้วยเช่นกัน

 

กระทรวงพาณิชย์จีนยังเปิดเผยอีกว่า การดำเนินการใน 3 พื้นที่ดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้คนจำนวนกว่า 400 ล้านคนได้ทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัลในอนาคต 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน :  ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3618 วันที่ 15-17 ตุลาคม 2563