สนามเลือกตั้ง“นายก อบจ.” พิสูจน์ศรัทธารัฐบาล

11 ต.ค. 2563 | 05:22 น.

3 บก.ชี้เลือกตั้ง “นายก อบจ.” ขั้วรัฐบาลได้เปรียบ หากแพ้สะท้อนศรัทธาเสื่อม-คะแนนถดถอย เตือนผู้สมัคร “คณะก้าวหน้า” ชนะเลือกตั้ง โอกาสโดนใบแดงสูงลิบ


รายการ “พูดตรง ๆ กับ 3 บก.” ซึ่งดำเนินรายการโดย นายสมชาย มีเสน นายวีระศักดิ์ พงศ์อักษร และ นายบากบั่น บุญเลิศ ออกอากาศทาง FB, Yutube กรุงเทพธุรกิจ และ FB, Yutube ฐานเศรษฐกิจ เมื่อวันศุกร์ที่ 9 ต.ค. เวลา 21.00 น. ที่ผ่านมา ได้วิเคราะห์การจัดการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) 


โดยตอนหนึ่งได้ระบุว่า การเลือกตั้งนายกอบจ.ครั้งนี้รอกันมา 7 ปีแล้ว ซึ่งการเลือกตั้งนายก อบจ. 76 แห่ง ในวันที่ 13 หรือ 20 ธ.ค. 2563 เลือกตั้งระดับเทศบาล-อบต. ในเดือน ก.พ.2564 เลือกตั้งพัทยา ในเดือนเม.ย. 2564 และเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.-50 สก. ในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2564

 

โดยกำหนดยุทธศาสตร์การเลือกตั้งท้องถิ่น หากกำหนดให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก่อน พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อาจจะแพ้ เพราะคนกทม.ไม่ปลื้มพรรคพปชร. จึงต้องกำหนดให้เลือกตั้งนายกอบจ.ก่อน เพื่อหากจัดเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. แล้วพรรคพปชร.แพ้ก็จะเสียหาย

 

“ในแง่ยุทธวิถีการเลือกตั้งนายกอบจ. ฝั่งรัฐบาลมีความได้เปรียบ เพราะกระทรวงมหาดไทยมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่ อาจจะใช้เป็นเครื่องมือได้ และยังมีฐานของหัวคะแนนที่มีศักยภาพมากกว่า”

                                               สนามเลือกตั้ง“นายก อบจ.” พิสูจน์ศรัทธารัฐบาล


สำหรับเป้าหมายการชิงเก้าอี้นายกอบจ. พรรคการเมืองใหญ่ยังไม่กำหนดเป้าหมาย ส่วน “คณะก้าวหน้า” ชิงประกาศก่อนว่าจะส่งผู้สมัครลงชิงเก้าอี้นายกอบจ. 40 จังหวัด โดยใช้ยุทธศาสตร์เดิน 2 ขา แยกกันเดินกับพรรคก้าวไกล ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยตัดสิทธิทางการเมืองนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล น.ส.พรรณิการ์ วานิช แต่คณะก้าวหน้าคัดเลือกตัวแทนลงสมัครชิงนายก อบจ. จะไม่ยุ่งเกี่ยวการเมืองได้อย่างไร


“เขาบอกว่าให้เงียบๆ ไว้ก่อน รอให้ตัวแทนคณะก้าวหน้าได้เป็นนายกอบจ. เขาจะแจกใบแดง เพราะมีคนถูกตัดสิทธิทางการเมืองเข้าไปยุ่ง ซึ่งเราขอเตือนทั้ง 3 ท่านไว้ก่อน ตัวแทนของคณะก้าวหน้า หากชนะการเลือกตั้งก็มีสิทธิถูกตัดสิทธิ และรายชื่อตัวแทนของคณะก้าวหน้าแต่ละจังหวัด ถ้าได้เป็นนายก อบจ. ได้รับเงินเดือนจากรัฐ จึงทำให้เกิดการตีความ”


สำหรับสนามเลือกตั้งนายก อบจ. จังหวัดต่างๆ อาทิ จ.ตรัง คนตัดสินคือ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์  แม้จะมีกลุ่มของนายสาธิต วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคปชป. พยายามผลักดันคนของตัวเอง แต่ค่อนข้างแน่นอนว่าจะส่ง นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ลงชิงเก้าอี้


ส่วน จ.นครศรีธรรมราช ก็ดุเดือนเช่นกัน เพราะในพรรคพปชร. ก็มีตัวเลือก 4 คน ซึ่งยังเลือกกันไม่ได้ สนาม จ.สงขลา พรรคพปชร.ตัดสินใจส่ง พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล ลงชิงเก้างอี้ ซึ่งมีโอกาสสูง หากทีมของนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย และนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม จากพรรคปชป.แตกกัน แต่ตอนนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคปชป. ให้จับมือกันแล้ว สนาม จ.สงขลาจึงดุเดือด

   สนามเลือกตั้ง“นายก อบจ.” พิสูจน์ศรัทธารัฐบาล

 


ขณะที่ สนามจ.เชียงใหม่ นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ เป็นเจ้าของพื้นที่อย่างยาวนาน มีหลานชื่อนายทัศนัย บูรณุปกรณ์ เป็นนายกเทศบาลเมือง ฐานเสียงจึงมีความเข้มแข็งมาก โดยนายบุญเลิศ เคยโดน ม.44 ริบตำแหน่ง แต่สุดท้ายเคลียร์กันได้ ทำให้พรรคเพื่อไทยค่อนข้างโกรธ จึงจะส่งผู้สมัครลงแข่ง ทำให้สนาม จ.เชียงใหม่ดุเดือดมาก 


สำหรับสนาม จ.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เตรียมส่ง น.ส.วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ลงสมัคร ซึ่งนายยงยุทธ ติยะไพรัช ยอมหลบทางให้


สำหรับยุทธศาสตร์สนามภาคเหนือของพรรคพปชร. มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวเรือใหญ่ โดยจ.พะเยา จะให้น้องชายของร.อ.ธรรมนัส ลงสมัคร และมีการเจรจาบางส่วนในพื้นที่ จ.ลำปาง ซึ่งจะมีการหลีกทางกัน
3 บก. สรุปว่า ผลการเลือกตั้งสนามเลือกตั้งนายก อบจ. จะถูกนำมาคำนวณว่าฝ่ายรัฐบาลได้เท่าไร ฝ่ายค้านได้เท่าไร ซึ่งจะบ่งบอกคะแนนนิยม 


“หากรัฐบาลแพ้หมด มันจะบ่งบอกว่ารัฐบาลไปไม่รอดแล้ว ซึ่งการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเป็นสนามวัดศรัทธาของรัฐบาล” 3 บก.ฟันธง

   สนามเลือกตั้ง“นายก อบจ.” พิสูจน์ศรัทธารัฐบาล