“ช้อปดีมีคืน” ยาแรงไม่พอกระตุ้นศก.

10 ต.ค. 2563 | 06:10 น.

 

ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19 หรือศบศ.มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี ส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่น และส่งเสริมการอ่าน โดยเป็นการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2563 สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 30,000 บาท

กลุ่มเป้าหมาย เป็นผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กลุ่มผู้ประกอบการประเภทผู้ค้าสินค้าและบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบการขายหนังสือและสินค้า OTOP โดยไม่รวมสินค้าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยาสูบ สลากกินแบ่งรัฐบาล นํ้ามัน ค่าที่พัก และค่าตั๋วเครื่องบิน และมีเงื่อนไขประชาชนที่ใช้สิทธิ์โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการคนละครึ่งแล้วจะไม่สามารถใช้สิทธิ์นี้ได้ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2563 เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีในปีภาษี 2563 ณ เดือน มีนาคม.2564 คาดว่าจะมีเงินสะพัดเข้าสู่ระบบราว 5.5-6 หมื่นล้านบาท

“ช้อปดีมีคืน” ยาแรงไม่พอกระตุ้นศก.

 

ทั้งนี้ การออกมาตรการดังกล่าว เป็นการเปลี่ยนชื่อจากโครงการช้อปช่วยชาติ ที่กำหนดเพดานการจับจ่ายใช้สอยไม่เกินวงเงิน 1.5 หมื่นบาท มาเป็นช้อปดีมีคืน วงเงินไม่เกิน 3 หมื่นบาท ซึ่งถือเป็นการพบกันครึ่งทาง จากที่ก่อนหน้านี้ทางภาคเอกชนได้เสนอให้ขยายเพดานวงเงินขึ้นไปที่ 5 หมื่นบาท หรือไม่จำกัดเพดานวงเงินในการซื้อสินค้า จะช่วยให้เกิดกำลังซื้อที่สูงขึ้นมากกว่า

ขณะที่ภาครัฐเห็นว่า หากขยายเพดานวงเงินสูงขึ้นตามข้อเสนอของภาคเอกชน เกรงว่ารัฐจะสูญเสียรายได้กระทบต่อเป้าการจัดเก็บของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2564 ที่ตั้งเป้าจัดเก็บรายได้ไว้ที่ 2.085 ล้านล้านบาท

ในมุมมองของภาคเอกชนเห็นว่า “ช้อปดีมีคืน” ภายใต้การกำจัดวงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาท  เป็นยาแรงไม่พอ ที่จะจูงใจให้ผู้บริโภคมาจับจ่ายใช้สอยมากนัก เพราะหากคำนวณการหักลดหย่อนภาษีใช้จ่ายเต็มวงเงิน 3 หมื่นบาท ส่วนใหญ่จะได้รับการลดหย่อนภาษีเพียง 1,500-3,000 บาท เท่านั้น หรือทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไปราว 3-6 พันล้านบาท จากจำนวนที่เสียภาษีที่คาดว่าจะเข้ามาร่วมมาตรการดังกล่าวราว 2 ล้านคน

ทั้งนี้ หากรัฐขยายเพดานวงเงินซื้อสินค้าขึ้นไปที่ 5 หมื่นบาท หรือไม่จำกัดเพดานวงเงิน จะสามารถดึงกำลังซื้อจากกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยที่นิยมไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งมีข้อมูลจากบัตรเครดิตส่วนบุคคลรวบรวมจากธนาคารในปี 2561 ประมาณ 1.44 แสนล้านบาท ปี 2562 ประมาณ 1.58 แสนล้านบาท  ซึ่งเติบโตถึงปีละ 10%  ต่อเนื่องกันมา และในปี 2563 ช่วงเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ ก่อนที่สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จะรุนแรง มียอดใช้จ่ายถึง 4.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังมีกำลังซื้ออยู่อีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้  

  นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญธุรกิจค้าปลีก ที่ปรึกษาสมาคมผู้ค้าปลีกไทย สะท้อนให้เห็นว่า มาตรการช้อปดีมีคืน ควรกำหนดตัวเลขที่สูงกว่านี้ หรือไม่กำหนดเพดานเลยก็ได้ เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการจับจ่ายซื้อสินค้า และเกิดเงินสะพัดได้อย่างเต็มที่ เพราะหากเปิดกว้างให้ใช้จ่ายได้ไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือไม่จำกัดเพดาน มีผู้เข้าร่วมเพียง 1.5 ล้านคนจะมีเงินสะพัดอย่างตํ่า 75,000 ล้านบาท หากมีผู้เข้าร่วมยิ่งมาก จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 4 กลับมาคึกคักขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รัฐสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีไปเพียง 5-6 พันล้านเท่านั้น เมื่อเทียบกับภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เก็บมาจากการขายสินค้า จะเก็บได้ในจำนวนที่สูงมากขึ้น “แนวทางการกระตุ้น เศรษฐกิจในขณะนี้ จะทำอย่างไรให้คนที่มีกำลังซื้อสูงๆ ซึ่งมีกว่า 6 ล้านคนออกมาใช้จ่ายให้มากๆ การขยายเพดานการซื้อสินค้ายิ่งสูงขึ้นไปจะช่วยดึงคนกลุ่มนี้ออกมา”

อย่างไรก็ตาม รัฐจะสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีเงินบุคคลธรรมดาไปเพียง 5 พันล้านบาทถึง 1 หมื่นล้นบาท เท่านั้น แต่จะสามารถเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม จากการขายสินค้าเข้ามาในจำนวนที่สูงมากขึ้นตามด้วย

ดังนั้น มาตรการช้อปดีมีคืน ของกระทรวงการคลังที่เสนอ ศบศ. ยังมีเวลาทบทวนเพดานวงเงินการซื้อสินค้า  ก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ว่าสมเหตุสมผลหรือไม่  ที่จะใช้ในการกระตุ้นกำลังซื้อหรือการบริโภคของประชาชนในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 8 ฉบับที่ 3,617 วันที่ 11 - 14 ตุลาคม พ.ศ. 2563