DSI ไม่รับคดีทุจริตสหกรณ์โคนมปากช่อง เป็นคดีพิเศษ

10 ต.ค. 2563 | 03:30 น.

สมาชิกสหกรณ์ผิดหวัง หลังดีเอสไอไม่รับ คดีทุจริตสหกรณ์โคนมปากช่อง เป็นคดีพิเศษ ผวาผู้ต้องหาหลุดคดี ไม่คืบ โยงคนมีอิทธิพลท้องถิ่นช่วยเหลือลับๆ ยื้อจนอายุความหมด

แหล่งข่าวเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์โคนมปากช่อง เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อปลายปี 2562 มีกลุ่มเกษตรกรได้ทำหนังสือไปร้องเรียนว่าประธานสหกรณ์และรองประธานสหกรณ์ ไปร้องที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เรื่อง คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โคนมปากช่อง จำกัด มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต อาทิ จัดทำหลักฐานอันเป็นเท็จในการทำสัญญาซื้อขายเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ในราคากว่า 32 ล้านบาท โดยไม่มีการซื้อขายเครื่องจักรจริงเพื่อสร้างพยานหลักฐานนำไปใช้การประกอบการลงบัญชีงบการเงินของสหกรณ์ เพื่อแสดงฐานะทางการเงินให้ผู้อื่นหลงเชื่อ ที่ปรากฎข้อเท็จจริงและหลักฐานทั้งพยายานบุคคลพยานเอกสาร ยืนยันชัดเจนว่ามีพฤติการณ์และการกระทำที่เป็นความผิดทางอาญา มาตรา264 และมาตรา 268 ประกอบกับมาตรา 83 ซึ่งเป็นความผิดอาญาทั่วไปและอยู่ในหน้าที่และอำนาจของพนักงานสอบสวนท้องที่ที่เหตุเกิดทำการสอบสวนและดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งในกรณีผู้เสียหายได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรปากช่องเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายแล้วกรณีความผิดดังกล่าวไม่ใช่คดีความผิดทางอาญาตามที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พ.ศ.2551 และที่กำหนดในกฎกระทรวงโดยการเสนอแนะของ กคพ.ตามมาตรา21 วรรคหนึ่ง (1)

 

ประกอบกับเรื่องกรณีดังกล่าวไม่ใช่ความผิดทางอาญาที่มีลักษณะซับซ้อน จำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ และไม่ใช่ความผิดทางอาญาที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศิลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา21 วรรค(1) (ก)-(จ) จึงไม่เข้าข่ายเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรค (1) หรือ มาตรา21 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่จะรับไว้ดำเนินการ

 

ทั้งนี้ได้ประสานงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้ว ส่วนเรื่องร้องเรียนในประเด็นอื่นจากการสืบสวนยังไม่ปรากฎพยานหรือหลักฐานใดที่บ่งชี้ยืนยันว่ามีพฤติการณ์และการกระทำที่เป็นความผิดทางอาญา ซึ่งสอดคล้องกับรายงานผลการตรวจสอบของสหกรณ์จังหวัดนครราชสีมา ในฐานะนายทะเบียนที่ได้รับเรื่องร้องเรียนในเรื่องเดียวกันได้สรุปผลการตรวจสอบว่านอกจากประเด็นเรื่องการปลอมและใช้เอกสารปลอมที่เป็นความผิดทางอาญา แล้ว ในประเด็นอื่นจากการตรวจสอบ พฤติการณ์ และการกระทำของผู้ถูกร้องเป็นลักษณะการใช้อำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการและรองประธานกรรมการในการควบคุมดูแลการดำเนินการทั่วไปของสหกรณ์และจากการตรวจสอบแล้วไม่มีมูลกรณีตามข้อร้องเรียน

 

 

ขณะที่สหกรณ์จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จากกรณ๊ดังกล่าวนี้ จึงได้เสนอให้สหกรณ์ปรับปรุงรายการกลับไปรายการบัญชีที่ถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะจากหลักฐานทางคณะกรรมการได้มีการจัดทำสัญญาขึ้นเอง เพื่อนำเป็นหลักฐานในการทำบัญชีทรัพย์สินโดยลดยอดค่าใช้จ่ายของสหกรณ์ แต่ไม่ได้จัดซื้อทรัพย์สิน จึงส่งผลทำให้ทรัพย์สินของสหกรณ์สูงกว่าความเป็นจริง และมีการหักยอดค่าเสื่อมราคาสะสมที่ไม่มีทรัพย์สินจริง ส่งผลทำให้ยอดขาดทุนสุทธิต่ำกว่าความเป็นจริง ควรที่จะ กว่า 53 ล้านบาท แต่ปรับให้เหลือกว่า 32 ล้านบาท ปัจจุบันสหกรณ์ขาดทุนสะสม รวมแล้ว 140 ล้านบาท

 

สหกรณ์จังหวัดจึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่3) พ.ศ.2562 ประกอบกับคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์จึงขอเพิกถอนมติประชุมคณะกรรมการของสหกรณ์โคนมปากช่องจำกัดขุดที่ 31 พิจารณาแล้วว่าการจัดทำสัญญาขึ้นโดยไม่มีการซื้อขายจริงอันเป็นข้อบกพร่องเกี่ยวกับการเงินการบัญชี หรือกิจการหรือฐานะการเงิน หรืออาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก แล้วให้สหกรณ์ไปปรับปรุงรายการบัญชีที่ถูกต้องตามความเป็นจริง

 

แหล่งข่าวกล่าวว่า คดีดังกล่าวยังไม่คืบหน้า ประกอบกับคณะกรรมการชุดดังกล่าวรู้จักผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นเกรงว่าคดีดังกล่าวจะปล่อยให้หมดอายุความ จึงตัดสินใจมาร้องเรียนกับสื่อ เพื่อขอให้ช่วยเหลือติดตามคดีดังกล่าว เพื่อไม่ให้มีปัญหากับสหกรณ์ในอนาคต เพราะเรื่องนี้มีผลกับการยื่นเรื่องไปถึง ธ.ก.ส.ที่กำลังอยู่ในระหว่างในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้