กมธ.กฎหมายเกาะติดขบวนการงาบหัวคิว 35-50% ขุดลอกแหล่งน้ำ

08 ต.ค. 2563 | 11:43 น.

กมธ.กฎหมายเกาะติดขบวนการงาบหัวคิว 35-50% ในโครงการขุดลอกแหล่งน้ำทั่วประเทศ วงเงิน 20,425 ล้านบาท เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบภาคอีสาน


วันนี้(7 ต.ค.63) ที่รัฐสภา) คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร โดย นายสิระ เจนจาคะ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้เพื่อพิจารณาศึกษาตรวจสอบ ตามที่กลุ่มธรรมาภิบาล เครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริตและคอร์รัปชั่น ได้ยื่นเรื่องให้ศึกษาและตรวจสอบการกระทำความผิดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีการทุจริตและเรียกเก็บหัวคิวงานขุดลอกแหล่งน้ำทั่วประเทศ ในโครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมของรัฐบาล งบประมาณประจำปี 2563 งบกลาง จำนวน 20,425 ล้านบาท ที่มี "ขบวนการค้างบประมาณแผ่นดิน"ไปอ้างชื่อผู้ใหญ่ในรัฐบาลไปเรียกเก็บเงินหัวคิว 35-50% กับผู้รับเหมาทั่วประเทศ เพื่อแลกกับการได้ทำสัญญาทำงานขุดลอก ซึ่งสร้างความเสียหายต่อเงินแผ่นดินกว่า 4,000 ล้านบาท


การประชุมครั้งนี้ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิน และ นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เข้าร่วมประชุมชี้แจงตามคำเชิญของคณะกรรมาธิการฯ 


นายฉัตรชัย ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือแจ้งและกำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อให้จังหวัดใช้จ่ายงบประมาณนี้ ซึ่งเป็นงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โปร่งใสและให้ตรวจสอบได้ ทั้งให้ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างตามโครงการให้เป็นไปตามระเบียบและกฏหมาย โดยให้ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ พร้อมทั้งกำชับผู้ที่เกี่ยวข้องให้ปฎิบัติตามกฏหมายการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเคร่งครัดแล้ว หากพบว่ามีข้าราชการหรือผู้ใดไปแอบอ้างหรือมีการกระทำโดยมิชอบให้ดำเนินคดีตามกฏหมายได้ทันที


 

 

นายสิระ ได้หารือที่ประชุมและขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทย ว่าให้ช่วยตรวจสอบอย่างเข้มงวดกับกลุ่มผู้ที่ไปเรียกรับผลประโยชน์ในครั้งนี้ เพราะถือว่าได้สร้างความเสียหายต่อโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งกรณีดังกล่าวจะได้ยินกระแสข่าวเรื่องมีผู้ไปเก็บหัวคิวงานขุดลอกแหล่งน้ำของหน่วยงานราชการ กับผู้ประกอบการอยู่เป็นประจำทุกปีงบประมาณ โดยคณะกรรมาธิการฯ จะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบการดำเนินการตามโครงการต่อไปในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งมีการร้องเรียนเข้ามามากที่สุด เช่น ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม หนองบัวลำภู และนครพนม ในเร็วๆ นี้


ด้านนายวิวัฒน์ สมบัติหลาย ประธานกลุ่มธรรมาภิบาลฯ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ ได้เสนอต่อที่ประชุมว่า ควรจะมีการแก้ไขระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีตกลงราคา ซึ่งอาจไปเอื้อประโยชน์ หรือสบช่องให้ขบวนการเรียกเก็บหัวคิวไปหาประโยชน์ได้ และเปิดช่องว่างให้เกิดขบวนการค้างบประมาณแผ่นดินอยู่ในขณะนี้ 


โดยระเบียบดังกล่าวเริ่มกำหนดให้ใช้มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 ตามหนังสือคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ ด่วนที่สุด ที่ กค(กวพ.)0405.2/ว 315 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2559 ซึ่งให้หน่วยงานใช้สำหรับการซื้อ จ้าง ครั่งหนึ่งวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท ให้จัดจ้างโดยวิธีตกลงราคา(ไม่ต้องประกวดราคา)โดยให้หน่วยงานสามารถเชิญชวนผู้ขายหรือผู้รับจ้างให้เสนอราคาเข้ามาอย่างน้อย 2-3 รายได้เพื่อให้ได้คู่สัญญา 


ซึ่งหากหน่วยงานที่จัดซื้อจัดจ้างใดเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนก็จะเชิญชวนเฉพาะพรรคพวกของตนหรือผู้ที่เสนอผลประโยชน์ให้มาตกลงราคาได้เลยกรณีนี้จึงเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดขบวนการค้างบประมาณแผ่นดินกันอย่างมโหฬาร เห็นว่าควรจะมีการแก้ระเบียบและกฏหมายที่ทำให้เกิดการทุจริตและคอร์รัปชั่นเช่นนี้ให้โดยเร็วจะเป็นประโยชน์ต่อเงินแผ่นดินที่สุด 
โดยที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ ได้รับข้อเสนอเพื่อนำไปพิจารณาศึกษาเพื่อนำไปสู่การแก้ไขระเบียบและกฏหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป