ผ่าแนวคิด ‘อาคม-เศรษฐพุฒิ’ 2 แม่ทัพเศรษฐกิจ

10 ต.ค. 2563 | 06:25 น.

สัปดาห์หน้าหลังวันที่ 11 ตุลาคม 2563 "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" จะปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางความคาดหวังของหลายคนว่าเมื่อเข้ามาแล้วจะมีนโยบายเร่งด่วนออกมาแก้ปัญหา นำพาประเทศผ่านวิกฤติเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากไวรัวโควิด-19

 

ขณะที่ก่อนหน้านี้ในฝากฝั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หน่วยงานหลักที่ทำหน้า กำกับดูแลนโยบายการเงิน ก็มี “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” เข้ามาเป็นผู้ว่าการธปท.คนใหม่ 

 

ผู้เขียนจึงขอพาท่านผู้อ่านไปดูแนวคิดของผู้ที่เข้ามากำกับดูแลนโยบายการคลัง-การเงินของประเทศคนใหม่ทั้ง 2 คน ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

 

เริ่มจากรมว.คลังคนใหม่ นายอาคม เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เติบโตมาจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ทำงานด้านบัญชีประชาชาติและเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการวางแผนและกำหนดนโยบาย

 

ก่อนก้าวขึ้นเป็นเลขาสศช. มีประสบการณ์ทำงานในสภาพัฒน์ 3 กองคือ กองบัญชีประชาชาติ กองโครงการเศรษฐกิจ โดยอยู่ฝ่ายวางแผนอุตสาหกรรม และกองวิเคราะห์และประมาณการเศรษฐกิจ ซึ่งดูเรื่องเศรษฐกิจมหภาค งานหลักเน้นเรื่องตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต และการพยากรณ์เศรษฐกิจ 

 

ไม่เพียงการวิเคราะห์ภาพรวมทางเศรษฐกิจ ในสมัยเป็นเลขาสภาพัฒน์ นายอาคมให้ความสำคัญกับการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ของประเทศ หรือ New Economy รวมถึง “เศรษฐกิจ สร้างสรรค์” เพื่อสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจ หรือ Value Creation ควบคู่กับการสร้าง “ทุนทางวัฒนธรรม” หรือ Cultural Capital เพื่อเป็นแหล่งรายได้ใหม่ของประเทศ

นายอาคม นับเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับการการวางโครงสร้างการพัฒนาประเทศในระยะยาว โดยเน้นไปที่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โดยเฉพาะระบบโลจิสติกส์ เพราะเขาเชื่อว่าหากใครทำระบบเชื่อมโยงการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด จะเป็นผู้ที่ก้าวล้ำไปอีกก้าวหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศ

 

ผ่าแนวคิด  ‘อาคม-เศรษฐพุฒิ’ 2 แม่ทัพเศรษฐกิจ

 

 

นายอาคมยังให้ความสำคัญคืกับ เรื่องคุณภาพของคนไทย โดยเฉพาะการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อยกระดับคุณภาพคน ควบคู่กับการลดความเหลื่อมลํ้า ด้วยการกระจายความเจริญ ความมีเสถียรภาพ และความเป็นธรรม ซึ่งเขาเชื่อว่าการทำให้ประชาชนหลุดพ้นความยากจน อยู่ที่การสร้างโอกาสในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม เนื่องจากรายได้เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต

สอดคล้องกับมุมมองด้านเศรษฐกิจของ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ ที่มักเรียกตัวเองว่าเป็น “เนิร์ดเศรษฐศาสตร์” เพราะชอบนำทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์มาวิเคราะห์ ประยุกต์ใช้กับความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ แต่ไม่เชื่อสูตรสำเร็จเชิงนโยบายที่เป็นเหมือนคัมภีร์ และไม่เชื่อการเปิดเสรีแบบไม่ดูอะไร

 

ดร.เศรษฐพุฒิ เห็นว่าทางเลือกเชิงนโยบายต้องมีมากกว่าหนึ่งทางเลือกเสมอ และก็ต้องว่ากันไปเป็นเรื่องๆ ในแต่ละบริบท 

ดร.เศรษฐกิจพุฒิ ยังเคยวิเคราะห์เศรษฐกิจของไทย เมื่อปี 2558 ที่ไว้ในวารสาร ‘BOT พระสยาม MAGAZINE’ ของธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับเดือนกันยายน-ตุลาคม 2558 ตอนหนึ่งไว้อย่างน่าสนใจว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจภายใต้ ‘บริบทใหม่’ หรือ “New Normal” ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงสร้างประชากรไทย เปรียบเสมือนคนที่ “แก่ก่อนรวย” 

 

กล่าวคือ ประชากรวัยทำงานของเรามีจำนวนเพิ่มขึ้น ในสัดส่วนน้อยลง แต่ประสิทธิภาพการทำงานต่างๆ กลับยังไม่ค่อยดีเท่าที่ควร รวมถึงปัจจัยการผลิตอย่างเทคโนโลยีที่เราควรมี มันยังไม่มี สะท้อนให้เห็นว่าชีวิตความเป็นอยู่คุณภาพชีวิต และระดับรายได้สำหรับประชากรส่วนใหญ่ในประเทศยังไม่ดี แต่อัตราการเติบโตกำลังชะลอตัวลดลง 

คงต้องยอมรับว่าปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเข้าสู่บริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายมิติ ซึ่ง ดร.เศรษฐพุฒิ คิดว่าเป็นประเด็นที่อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของแบงก์ชาติ มีขอบเขตกว้างเกินกว่าที่หน่วยงานราชการเพียงแค่หน่วยงานเดียวจะรับผิดชอบได้

 

ดร.เศรษฐพุฒิ เห็นว่าหนทางแก้ไขเพื่อนำพาประเทศไปสู่ทางออกที่ดีกว่า “เรื่องแรกเราต้องปรับ Mindset ของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเอกชน ประชาชนหรือวิชาการ อย่าคอยให้ภาครัฐเป็น Facilitator ช่วยผลักดันกระบวนการต่างๆ ที่ภาคเอกชนและประชาชนดำเนินการ รวมถึง Mindset เรื่อง Sense of Urgency จากที่เคยคิดว่าเป็นปัญหาในระยะยาว คราวนี้จะปล่อยผ่านไม่ได้แล้ว”

 

ดร.เศรษฐพุฒิยังอธิบายการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของไทยในหลายเวทีว่า การแก้ปัญหาเชิงนโยบาย หลายคนมักคิดว่าคำตอบอยู่ที่รัฐ หรือไม่ก็ระบบราชการ แต่ในโลกที่ซับซ้อนมากๆ แบบที่เป็นอยู่ ก็มีคำถามว่าเราจะคาดหวังให้รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง หรือสภาพัฒน์ เป็นคนวาดภาพและวางแผนได้จริงหรือ การให้สุดยอดผู้เชี่ยวชาญไม่กี่คนมานั่งกำหนดนโยบายจากบนลงล่าง ไม่สามารถตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงได้แล้ว เพราะไม่ใช่แค่โลกเปลี่ยนและซับซ้อนขึ้นเท่านั้น ศักยภาพของรัฐไทยเมื่อเทียบเมื่อ 30-40 ปีที่แล้วลดลงมาก สถานการณ์ตอนนี้เลยกลายเป็นว่าเราไปฝากความหวังและพึ่งพิงกลไกที่ไม่ได้มีศักยภาพแล้ว

 

ถึงตรงนี้คงเห็นภาพแล้วว่าทั้งนายอาคม และดร.เศรษฐพุฒิ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับการวางโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศในระยาว ด้วยกันทั้งคู่

 

จึงต้องจับตาดูว่า นอกจากนโยบายเร่งด่วนในการแก้ปัญหาระยะสั้นแล้ว ทั้งคู่จะมีมาตรการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่สอดประสานกันอย่างไร 

 

คอลัมน์ ถอดสูตรคุย  โดย  บรรทัดเหล็ก

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,617 หน้า 10 วันที่ 11 - 14 ตุลาคม 2563