กทม.เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก 7 - 9 ตุลาคมนี้

07 ต.ค. 2563 | 18:00 น.

"ผู้ว่าฯอัศวิน" แจงความพร้อมรับมือฝนตกหนักในช่วง 7 - 9 ตุลาคม ระบุได้ประชุมซักซ้อมแผนและแนวทางบริหารการจัดงานน้ำในพื้นที่เมืองกรุงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "ผู้ว่าฯอัศวิน"เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 "เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมรับมือฝนตกหนักในช่วง 3 วัน ( 7 - 9 ตุลาคม 2563 ) โดยมีเนื้อหาประกอบไปด้วย 

 

กทม.ได้ติดตามสถานการณ์ฝนในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศแจ้งเตือนว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากช่วงวันที่ 7-9 ต.ค.นี้  โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (7 ต.ค.63) กทม.ได้มีการประชุมซักซ้อมแผนและแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องและตัวแทนกลุ่มเขต 6 กลุ่มเขต มีการเตรียมพร้อมอุโมงค์ระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ และประตูระบายน้ำต่างๆ ส่วนการลอกท่อและเก็บขยะในคูคลองนั้น กทม.ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตลอดครับ 

 

กทม.เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก 7 - 9 ตุลาคมนี้

 

อย่างที่มีนักวิชาการได้ออกมาย้ำข้อเท็จจริงที่ว่า โครงสร้างกรุงเทพฯ เป็นแอ่งกระทะ เมื่อฝนตกลงมา น้ำจึงระบายไม่ได้ แม้ว่าจะมีอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ แต่ก็มีขีดความสามารถเฉพาะในพื้นที่ที่จำกัดเท่านั้น โดยการแก้ไขปัญหาที่สำคัญ คือ ต้องสร้างแก้มลิงใต้ดินเก็บน้ำเหมือนประเทศญี่ปุ่น 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประกาศฉบับที่ 6 รับมือ "ดีเปรสชัน"

กรมอุตุฯ เปิดวอร์รูมติดตามเฝ้าระวัง พายุระดับ 2 “ดีเปรสชัน” (มีคลิป)

จุดเสี่ยงน้ำท่วมกทม. 14 แห่ง เช็กที่นี่ 

กทม.ได้จัดเจ้าหน้าหน้าที่ไปดูงานมาเช่นเดียวกันครับ แต่ประเมินแล้วเป็นโครงการขนาดใหญ่มาก กทม.ไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ จึงเลือกใช้วิธีการสร้างแก้มลิงเก็บน้ำใต้ดิน หรือเรียกว่า บ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (water bank) ในพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมขังบ่อยๆ เพื่อเป็นแหล่งพักน้ำเมื่อฝนตก ก่อนจะระบายน้ำออกสู่ระบบระบายน้ำเมื่อฝนหยุดตก หรือระดับน้ำในคลองลดลง โดยสร้างเสร็จแล้วและเปิดใช้งานแล้ว 2 แห่ง จากทั้งหมด 4 แห่ง 


1.บริเวณใต้สถานีตำรวจนครบาลบางเขน เขตบางเขน ซึ่งเป็น 1 ในจุดเสี่ยงน้ำท่วมขัง แต่หลังจากเปิดใช้งานตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 ปรากฏว่า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำบริเวณวงเวียนบางเขนและหมู่บ้านใกล้เคียง ได้เป็นอย่างดี และไม่พบปัญหาน้ำท่วมขังอีก


2. ปากซอยสุทธิพร2 ถนนอโศกดินแดง เขตดินแดง เปิดใช้งานแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ภายในซอยสุทธิพร 2 รวมถึงผู้ที่สัญจรเส้นทางถนนอโศก-ดินแดงช่วงจากสี่แยกประชาสงเคราะห์ถึงซอยขวัญพัฒนา และพื้นที่ใกล้เคียงเป็นอย่างดีครับ 


ส่วนอีก 2 แห่ง ได้แก่ สวนสาธารณะใต้สะพานข้ามแยกถนนรัชดาภิเษกตัดกับถนนวิภาวดีรังสิต เขตจตุจักร และใต้สะพานข้ามแยกถนนกรุงเทพกรีฑาตัดกับถนนศรีนครินทร์ เขตบางกะปิ  คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2564 
 

ส่วนปัญหาน้ำท่วมที่เกิดจากขยะอุดตันนั้น กทม.ได้จัดเจ้าหน้าที่เก็บขยะในคูคลอง รวมถึงบริเวณตะแกรงของสถานีสูบน้ำและอุโมงค์ระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ 50 เขต เก็บขยะหน้าตะแกรงบนผิวจราจรในช่วงที่ฝนตก รวมถึงรณรงค์ขอความร่วมมือประชาชนไม่ให้ทิ้งขยะมาโดยตลอดครับ 

 

กทม.เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก 7 - 9 ตุลาคมนี้

 

สำหรับอุโมงค์ระบายน้ำต่างๆ 4 แห่งที่เปิดใช้แล้ว ก็ใช้การได้ดี ขณะนี้กทม.อยู่ระหว่างก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง คือ อุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้โครงการคืบหน้าแล้วกว่า 60% 


ส่วนฝั่งธนบุรี ซึ่งยังไม่มีอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่เลย กทม.ก็ได้จัดสรรงบประมาณปี 64 เพื่อดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนาบริเวณคอขวด คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566 ครับ

 
กทม.มีการรายงานสภาพอากาศ แจ้งเตือน และประชาสัมพันธ์แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกทม.มาโดยตลอด อาจไม่ได้แจ้งให้สื่อมวลชนทราบ แต่ผมก็ได้แจ้งผ่านเฟซบุ๊คผู้ว่าฯ อัศวิน เฟซบุ๊คของสำนักงานประชาสัมพันธ์กทม. และเฟซบุ๊คของสำนักการระบายน้ำ อย่างต่อเนื่อง 
หากปริมาณฝนไม่เกิน 100 มิลลิเมตร กทม.สามารถรับมือได้ แต่หากเกินกว่า 100 มิลลิเมตร และตกต่อเนื่องหลายชั่วโมง ซึ่งเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปริมาณฝนสูงสุด 150 มิลลิเมตร ใช้เวลาระบายน้ำบนถนนสายหลักประมาณ 3 ชั่วโมง 


ส่วนเมื่อวันศุกร์ที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา ประมาณ 120 มิลลิเมตรใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง แล้วแต่พื้นที่ ช้าที่สุดบริเวณซอยสุขุมวิท 71 และวัดศรีเอี่ยม เขตบางนา ซึ่งลักษณะพื้นที่เป็นแอ่ง และเป็นพื้นที่รอยต่อเขตทางของกรมทางหลวง 


กทม.จึงได้ประสานกระทรวงคมนาคมเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณดังกล่าว ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เตรียมจัดสรรงบประมาณปี 64 เพื่อให้กรมทางหลวงไปดำเนินการต่อไป หากพบปัญหาน้ำท่วมขังให้แจ้งได้ที่ศูนย์ป้องกันน้ำท่วมกทม. โทร. 0 2248 5115 (5 คู่สาย) และ 0 2246 0317-9 กทม.จะเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่และดีที่สุดครับ