จ่อคุ้มครองเงินฝาก e-wallet คาดต้นปีหน้า

07 ต.ค. 2563 | 07:06 น.

สคฝ.จ่อคุ้มครองเงินใน e-wallet คาดได้ข้อสรุปต้นปีหน้า เบื้องต้นรวมกับเงินฝากในแบงก์ต้องไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อบัญชีต่อธนาคาร หลังพบการใช้e-money เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2562 บัญชีเงินฝาก ที่เป็นเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศทุกประเภท จะได้รับความคุ้มครองภายใต้ พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝากในวงเงิน 5 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝากเงิน ต่อ 1 สถาบันการเงินไปจนถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2564 

 

ผู้ฝากเงินจะได้รับความคุ้มครองโดยอัตโนมัติทันทีที่เปิดบัญชีเงินฝากของสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก หากสถาบันการเงินใดถูกเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ฝากเงินในสถาบันการเงินนั้นทุกรายจะได้รับเงินฝากคืนตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดอย่างรวดเร็ว

 

นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก(สคฝ.)เปิดเผยว่า สคฝ.อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางขยายการคุ้มครองเงินฝาก ไปยังกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallet)ที่ได้รับการอนุญาตเปิดกิจการตามกฎหมายใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

 

และต้องเป็นผู้ประกอบการมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท เช่น True Money Wallet, บัตรเติมเงิน SCB VIRTUAL Prepaid Card, บัตร PLANET SCB, mPAY Wallet, e-Money, Rabbit LINE Pay และ M-PASS โดยคาดว่า จะได้ข้อสรุปช่วงต้นปี 2564

 

จ่อคุ้มครองเงินฝาก e-wallet คาดต้นปีหน้า

 ทั้งนี้ เพราะการใช้บริการทางการเงินผ่าน e-wallet ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลผู้ฝากเงินทั้งหมดที่นับรวมกับคนต่างประเทศและนิติบุคคล 80 ล้านบัญชี คิดเป็นเงิน 14 ล้านล้านบาทนั้น มีการใช้จ่ายด้วยเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money) ผ่าน e-wallet กว่า 40 ล้านบัญชี

 

และณ เดือนมิ.ย. มีการเติมเงินใช้จ่ายแล้ว 25,700 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ยังไม่ได้นับรวมการใช้ e-money ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและแอพลิเคชันเป๋าตังที่เป็นผลิตภัณฑ์ของรัฐบาล สะท้อนว่า มีการการเติบโตของการใช้ e-money มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

“การใช้งาน e-money ที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการลด สาขาธนาคารพาณิชย์ ทั่วประเทศ โดยจากปี 2558 ธนาคารมีสาขาทั่วประเทศ 7,000 สาขา แต่ปี 2562 ลดเหลือเพียง 5,000 สาขา ฉะนั้นโอกาสในการเติบโตของ e-money จึงมีเพิ่มมากขึ้น มีโอกาสโตได้ถึง 50-60 ล้านบัญชี "

 

ขณะที่การเกิดโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการใช้จ่ายด้วยเงินสดของประชาชนเปลี่ยนไปเช่น บางคนซื้ออุปกรณ์ฆ่าเชื้อโรคบนพันธบัตรและเงินเหรียญ ทำให้เกิดปัจจัยสนับสนุนเงินอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเราควรให้ความเชื่อมั่นกับคนกลุ่มนี้ด้วยว่า เงินที่ใส่ลงไปใน e-wallet นั้นจะได้รับการดูแลด้วย

อย่างไรก็ตาม สคฝ.จะศึกษาแนวทางการคุ้มครองจากหลายๆ ประเทศ ซึ่งพบว่า มีอยู่ 2 ประเทศที่น่าสนใจคือ ไต้หวันและแอฟริกา โดยแนวทางของไต้หวันจะคุ้มครองเงินฝาก ที่บริษัท e-money ต้องระบุธนาคารที่จะนำเงินที่ได้รับฝากจากผู้ใช้บริการไปฝากไว้ที่ใด เพื่อให้เกิดความชัดเจน หากสถาบันการเงินนั้นๆมีปัญหา ก็จะได้รับความคุ้มครองครอบคลุมมาถึง e-money นั้นๆ ด้วย

 

จ่อคุ้มครองเงินฝาก e-wallet คาดต้นปีหน้า

ส่วนแนวทางของแอฟริกา จะคุ้มครอง e-money โดยอัตโนมัติ เพราะแอฟริกามีสาขาสถาบันการเงินน้อย และประชาชนยังเข้าถึงสถาบันการเงินไม่มาก ซึ่งเบื้องต้น สคฝ.อาจจะใช้แนวทางของประเทศไต้หวันเป็นต้นแบบในการคุ้มครองเงินฝาก e-money ได้

 

ขณะเดียวกัน เบื้องต้นจะคุ้มครองระหว่างการฝากเงินสดในบัญชีของสถาบันการเงินปกติ และบัญชี e-money รวมกันในวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อบัญชีต่อธนาคาร ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดในปัจจุบัน แต่ในปีหน้าคือ ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2564 จะปรับลดวงเงินคุ้มครองเหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชีต่อธนาคาร ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีแนวโน้มว่า จะขยายการคุ้มครองที่ 5 ล้านบาทต่อบัญชีต่อธนาคารออกไปอีก

นอกจากนั้น สคฝ.ได้เปิดเผยพฤติกรรมการฝากเงินของผู้ฝากบุคคลธรรมดา 3 กลุ่มช่วงวัยคือ กลุ่มวัยเริ่มทำงาน อายุ 23-35 ปี วัยทำงาน อายุ 36-59 ปี และวัยเกษียณ อายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งจากข้อมูลพบว่า จำนวนเงินในบัญชีมีความสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งครึ่งหนึ่งของผู้ฝากในแต่ละช่วงวัย มียอดเงินฝากไม่เกิน 3,300 บาท 4,900 บาท และ 7,400 บาท ตามลำดับ

 

โดยกลุ่มวัยเริ่มทำงาน มีเงินฝากน้อยและหนี้สินมาก เนื่องจากลงทุนในสินทรัพย์ประกอบกับทำงานและสร้างฐานะ แต่สำหรับกลุ่มคนทำงานจะมีเงินฝากเพิ่มขึ้น ขณะที่หนี้สินลดลง และมีความสามารถจัดสรรสินทรัพย์เพื่อสะสมเงิน โดยลงทุนผ่านตลาดต่างๆ ตามความถนัด เช่น กองทุนลดหย่อนภาษี ขณะที่กลุ่มเกษียณอายุ ผู้ฝากจะสามารถรับความเสี่ยงการลงทุนได้น้อยลง เนื่องจากขาดรายได้จากงานประจำ

 

ทั้งนี้ในวัยเริ่มทำงาน อายุ 23-35 ปี เป็นช่วงวัยที่มีรายได้เป็นของตัวเอง และเริ่มบริหารเงินเก็บผ่านการฝากเงินในสถาบันการเงิน โดยครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้มียอดเงินฝากไม่เกิน 3,300 บาทต่อราย (ปริมาณเงินฝากเฉลี่ย 65,000 บาท) ซึ่งส่วนใหญ่มีการเปิดบัญชีเงินฝากมากกว่า 1 บัญชี กับสถาบันการเงินมากกว่า 1 แห่ง

 

ส่วนวัยทำงาน อายุ 36-59 ปี เป็นช่วงวัยที่มีรายได้สูงขึ้น และมีเป้าหมายในการออมเงินที่ชัดเจน เริ่มมีการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นเพิ่มเติมจากการฝากเงินกับสถาบันการเงินเพื่อเพิ่มเงินสะสม โดยคนกลุ่มนี้มีจำนวนเกือบครึ่งหรือคิดเป็น 46% ของผู้ฝากทั้งหมด และมีเงินฝากรวมกันปริมาณสูงถึง 51% ของเงินฝากในระบบทั้งหมด โดยครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้มียอดเงินฝากไม่เกิน 4,900 บาทต่อราย (ปริมาณเงินฝากเฉลี่ย 214,000 บาท)

 

และวัยเกษียณ อายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นคนกลุ่มนี้มีบัญชีเงินฝากจำนวน 14% ของผู้ฝากทั้งหมด มีเงินฝากรวมกันคิดเป็น 38% ของเงินฝากในระบบทั้งหมด โดยประมาณครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้มียอดเงินฝากไม่เกิน 7,400 บาทต่อราย (ปริมาณเงินฝากเฉลี่ย 537,000 บาท)ทั้งนี้ผู้ฝากกลุ่มนี้ มีเงินเพียงส่วนน้อยที่อยู่ในบัญชีเงินฝากประจำ โดย 88% ของจำนวน 14 ล้านบัญชีเงินฝาก เป็นการฝากบัญชีออมทรัพย์

 

ข่าวที่เกี่ยวของ

สคฝ.คาด ครึ่งปีหลัง คนถอนเงินฝากเพิ่ม หลังตกงานสูง

สคฝ.แนะกระจายเงินฝากเพิ่มผลตอบแทน

ราชกิจจาประกาศ "พ.ร.ฎคุ้มครองเงินฝาก" สร้างความเชื่อมั่นผู้ฝากเงิน

88 ล้านบัญชี รับกระทบเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,615 วันที่ 4 - 7 ตุลาคม พ.ศ. 2563