Digital ID  ชีวิตที่ง่ายขึ้น

09 ต.ค. 2563 | 10:15 น.

จะดีไหม ถ้าเราๆ ท่านๆ สามารถสมัครเปิดบริการต่างๆได้ โดยไม่ต้องเตรียมและหอบหิ้วเอกสารไปแสดงยืนยันและแสดงตัวตน จะดีไหมถ้าเราไม่ต้องขอเอกสาร เช่น แฟ้มประวัติการรักษา ใบรับรองจากหน่วยงานต่างๆ ผลการสอบ เพื่อนำไปส่งให้อีกที่ หรือแม้แต่ขอเอกสารมากมายไปแสนดงตนที่สถานทูต เพื่อขอวีซ่า เราๆ ท่านๆจะสะดวก ประหยัดเวลาได้ขนาดไหน

 

นี่เป็นเพียงบางตัวอย่างการนำไปใช้งานของสิ่งที่เรียกว่า ดิจิทัลไอดี (Digital ID)

 

จึงเป็นจุดเริ่มต้นกว่า 2 ปีที่ภาครัฐ โดย กระทรวงการคลัง และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้จัดตั้งคณะทำงานพิสูจน์และยืนยันตัวตน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุติมากมาย ทั้งจากหน่วยงานรัฐและเอกชน รวมเป็นทีมงานอาสาสมัครเกือบ 300 ชีวิต วางรากฐานและผลักดันเรื่องสำคัญๆ เช่น กฎหมาย กฏระเบียบและมาตรฐานเกี่ยวกับแนวทางการใช้ดิจิทัลไอดีสำหรับประเทศไทย ออกแบบระบบและโครงสร้างการพิสูจน์และยืนยันตัวตน จนถึงจัดตั้งบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID

 

นายบุญสันต์ ประสิทธิ์สัมฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NDID ระบุว่า จนถึงปัจจุบัน NDID มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการระบาดของ Covid-19 เป็นตัวเร่งในการทำธุรกรรมที่สำคัญแบบไม่พบหน้า(Non Face to Face) ซึ่งการทำธุรกรรมดังกล่าวต้องใช้ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่ได้มาตรฐาน เราเห็นการเปิดบัญชีธนาคารที่อยู่ใน Regulatory Sandbox ของ ธปท ผ่านระบบ NDID Platform เป็นจำนวนมากหลายแสนรายการ 

 

Digital ID  ชีวิตที่ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม เราพบปัญหาบ้าง เพราะ Digital ID เป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้ใช้งานหรือประชาชน ขั้นตอนที่สำคัญคือ การมีตัวตนบนโลกดิจิทัล หรือการมี Digital ID ต้องเคยถ่ายภาพใบหน้าตนเอง มีการเปรียบเทียบภาพใบหน้า (Facial Comparison) และต้องมี Mobile Banking

 

ซึ่งธนาคารแต่ละแห่งมีวิธีที่แตกต่างกันและต้องทำความเข้าใจก่อนใช้งาน แต่เมื่อมีตัวตนบนโลกดิจิทัลแล้ว การทำรายการมีความสะดวกและใช้งานง่าย เพียงแค่ทำตามหน้าจอของระบบผู้ให้บริการ ซึ่งเราอยู่ในจุดเริ่มต้นและการเปลี่ยนผ่านหลายๆอย่าง ทำให้เราต้องปรับปรุง พัฒนาการบริการอย่างไม่หยุดหย่อน

 

มาตรฐานของระบบ NDID นั้นเรายืนอยู่บนของหลักเกณฑ์ หลักปฏิบัติ ของหน่วยงานกำกับที่เกี่ยวข้อง เช่น ธปท ก.ล.ต. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย นอกเหนือจากนั้น ลูกค้าทุกรายก่อนการขึ้นระบบจริง ต้องผ่านการทดสอบด้านระบบ รวมถึงการตรวจสอบความปลอดภัยทางด้านสารสนเทศที่เราได้จ้างที่ปรึกษามาออกแบบโดยเฉพาะ 

 

ในส่วนของ NDID Platform นั้น มีการออกแบบโดยยึดหลัก Data and Security by design บนระบบ blockchain ที่ไม่มีการเก็บข้อมูลลูกค้า ข้อมูลลูกค้ายังคงอยู่กับสมาชิกเอง NDID Blockchain เก็บเพียงข้อมูลบันทึกเวลาการทำธุรกรรมของสมาชิกในระบบเท่านั้นว่า ใครร้องขอให้ใครช่วยยืนยันพิสูจน์ตัวตน

 

เมื่อยืนยันตัวตนแล้วก็สามารถส่งข้อมูลของเรา (data sharing) ซึ่งเราเป็นคนอนุญาตเอง ไปให้กับคนที่เราอนุญาตรับข้อมูลของเรา โดยการส่งข้อมูลกันนี้ไม่ได้ผ่าน NDID เลยแต่เราเป็นผู้ออกแบบมาตรฐานการรับส่ง เราจึงให้บริการได้สมบูรณ์แบบทั้ง eKYC, eConsent, และ eSignature

Digital ID จะเป็นอนาคตและมั่นใจว่า จะมีการเติบโตอย่างมาก ต่อไปทุกธุรกรรมไม่ว่าจะเป็นแบบพบหน้า(Face to Face) หรือ ไม่พบหน้า (Non Face to Face) จะเป็นกลไกลที่สำคัญที่อยู่เบื้องหลัง เพื่อให้การบริการเป็นแบบ 100% digital 

 

ในแง่ผู้บริโภคหรือประชาชน สามารถรับบริการที่ปลอดภัยและสะดวกมากขึ้น เพราะข้อมูลดิจิทัลมีความน่าเชื่อถือสูง เมื่อเทียบกับการสำเนาเอกสารที่พวกเราใช้กันอยู่ ส่วนผู้ให้บริการสามารถทำให้ลูกค้าได้รับบริการที่ดีด้วยต้นทุนถูกลงบนบริการดิจิทัล 

 

และสำหรับประเทศก็จะมีระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบภายใต้ไทยแลนด์4.0 นับว่าความฝันของคนไทยเริ่มที่จะเป็นจริงแล้ว การออกก้าวเดินเริ่มต้น ถึงแม้ทางข้างหน้ายังมีอุปสรรคที่ต้องฝ่าฟัน แต่สักวันหนึ่งเราก็จะถึงจุดหมายที่หวังไว้ 

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,616 วันที่ 8 - 10 ตุลาคม พ.ศ. 2563