"อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รมว.คลังคนใหม่ ไม่เซอร์ไพรส์ตลาดหุ้น

05 ต.ค. 2563 | 07:55 น.

ดัชนีหุ้นไทยเปิดซื้อขายช่วงบ่ายบวก 5 จุด โบรกเผยตลาดไม่คาดหวัง "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รมว.คลังคนใหม่ ชี้เข้ามาช่วยสานต่อนโยบายเดิม คาดไม่มีมาตรการแปลกใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจ

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์ห่างประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ดัชนีหุ้นไทยช่วงบ่ายวันที่ 5 ตุลาคม2563 ณ เวลา 14.52 น. อยู่ที่ 1,243.45 จุด เพิ่มขึ้น 5.91 จุด หรือ 0.48% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 24,669.50 ล้านบาท โดยปรับลดลงจากปิดซื้อขายช่วงเช้าที่ 1,245.63 จุด เพิ่มขึ้น 8.09 จุด หรือ 0.65% หลังจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี โดยแต่งตั้ง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แทนนายปรีดี ดาวฉาย ที่ลาออกไปเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563

 

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า การที่มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่นั้น มองว่าประวัติการทำงานของนายอาคมในด้านการเมือง หรือตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจที่ผ่านมา ทำให้มีภูมิคุ้มกันการเมืองเป็นอย่างดี 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โปรดเกล้าฯ "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง

ประวัติ "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รมว.คลัง ผู้ใจถึง  เข้มแข็ง ในปฐพี

เอกชน ขานรับ “อาคม” ว่าที่รมว.คลังคนใหม่

ส่องผลงาน "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" ว่าที่รมว.คลังคนใหม่

 

ซึ่งจะช่วยสานต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเดิมที่สะดุดให้เดินหน้าต่อได้ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงสูง ส่วนการทำงานร่วมกับคณะทำงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตลาดไม่ได้คาดหวังรายชื่อผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมากนัก เพราะคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ว่าหากเป็นคนนอกจะต้องเป็นข้าราชการเกษียณอายุ และต้องปกป้องผลประโยชน์ได้ โดยการเข้ามาจะเป็นการสานต่อนโยบาย แต่คงไม่มีนโยบายแปลกใหม่และไม่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก ทำให้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งนี้ไม่ได้มีผลอะไรต่อตลาดหุ้นไทย

“ตลาดไม่คาดหวังอะไรกับการมีรมว.คลัง เพราะคิดว่าคงเป็นการสานต่อนโยบาย และไม่มีนโยบายแปลกใหม่อะไรเข้ามาเหมือนต่างประเทศที่กล้าจะแบกรับความเสี่ยงร่วมกับของเอกชน ซึ่งไทยยังเป็นระบบข้าราชการ นโยบายที่ออกมาจึงไม่เหมือนสหรัฐ เช่น การยอมซื้อพันธบัตรในอันดับเครดิตที่แย่เพื่อให้สามารถไปต่อได้ ในขณะที่ไทยถึงจะมีนโยบายดังกล่าว แต่กลับไม่ได้ใช้เงินในส่วนนี้เลย รวมถึงเอสเอ็มอี ที่ในที่สุดก็ยังคงเป็นเอกชนที่รับความเสี่ยงเองเป็นหลัก”