ขอ‘บีโอไอ’ปีนี้ไม่ต่ำ 2 แสนล้านชงบอร์ดเพิ่มสิทธิรักษาจ้างงาน

05 ต.ค. 2563 | 01:10 น.

บีโอไอเล็งชงบอร์ดเพิ่มสิทธิประโยชน์บริษัทที่ได้รับส่งเสริมเดิม ช่วยรักษาการจ้างงาน พ่วงส่งเสริมกิจการใหม่ จูงใจต่างชาติย้ายฐานเข้าเพิ่ม ทำใจตัวเลขขอส่งเสริมปีนี้ชะลอตัวจากพิษโควิด แต่คาดมีมูลค่าเกิน 2 แสนล้าน

สถานการณ์การขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งไทยและเทศจากบีโอไอช่วง 6 เดือนแรกปี 2563 มีทั้งสิ้น 754 โครงการ มูลค่าลงทุน 158,888 ล้านบาท แง่โครงการเพิ่มขึ้น  7% ส่วนแง่เงินลงทุนลดลง 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้บีโอไอต้องเร่งหาแนวทางกระตุ้นการลงทุน เพิ่มการจ้างงาน และรักษาแรงงานเดิมเอาไว้
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เผยว่า เตรียมนำเสนอที่ประชุมบอร์ดบีโอไอเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับนักลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไออยู่แล้วทางด้านของการรักษาการจ้างงาน โดยอาจจะมีมาตรการที่จะเข้าไปช่วยเหลือเพิ่มเติม เพื่อรักษาการลงทุนและการจ้างงาน รวมถึงกระตุ้นการลงทุนใหม่ที่จะเข้ามาในประเทศไทย ทั้งการย้ายฐานการผลิต และการขยายการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากความต้องการสินค้าที่มากขึ้น
ทั้งนี้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อรักษาการจ้างงานนี้ บีโอไอจะไปดูว่าจะมีแนวทางการให้สิทธิ์เพิ่มอย่างไรที่จะเชื่อมโยงช่วยลดค่าใช้ของบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมอยู่แล้ว ส่วนบริษัทที่จะเข้ามาใหม่จะดำเนินการโดยยกจุดเด่นของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย รวมถึงความสามารถในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ติดขัด และขีดความสามารถทางการแข่งขันทั้งเรื่องเกษตร อาหาร และการแพทย์ เป็นต้น

ขอ‘บีโอไอ’ปีนี้ไม่ต่ำ 2 แสนล้านชงบอร์ดเพิ่มสิทธิรักษาจ้างงาน
นอกจากนี้ ก็จะดำเนินการต่อยอดในส่วนที่ทำได้ดีอยู่แล้ว เช่น หมวดอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ซึ่งยังคงมีแนวโน้มการเติบโตในทิศทางที่ดี โดยจะเป็นลักษณะของการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งอาจจะเป็นการลงทุนเพื่อเปลี่ยนเครื่องจักรให้เป็นรูปแบบของออโตเมชั่นมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีเรื่องของการปรับปรุงประเภทกิจการหลายประเภทที่อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
 

“การประชุมบอร์ดน่าจะมีขึ้นได้ภายในเดือนตุลาคม ต้องเรียนว่าการประชุมในยุคปัจจุบันมีความแตกต่างจากเดิมอย่างมาก เพราะต้องมีการเสนอมาตรการออกมาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่ไม่จำเป็นต้องเสนอมาตรการบ่อยนักในการประชุม”
นางสาวดวงใจ กล่าวอีกว่า ในส่วนของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์  ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งนั้น จะดำเนินการเสนอบอร์ดเพื่อพิจารณาเพิ่มเติมประเภทกิจการใหม่ในการส่งเสริม เช่น การวิจัยทางคลินิก ซึ่งจะสนับสนุนการวิจัยและพัฒนายาชนิดใหม่ รวมถึงการพัฒนาวัคซีนเพื่อใช้ในการรักษาไวรัสโควิด-19 โดยมองว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสำหรับรองรับการไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตยาของภูมิภาคอาเซียนด้วย จากเดิมที่บีโอไอมีการส่งเสริมอยู่แล้วทางด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัย, ชุดPPE, สารชีววัตถุ และยาสมุนไพร เป็นต้น
“จากข้อมูลการขอรับการส่งเสริมการลงทุน พบว่าครึ่งแรกปี 2563 มีโครงการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมทางการแพทย์มายื่นคำขอแล้ว 45 โครงการ  เงินลงทุน 1.3  หมื่นล้านบาท ถือว่ามากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งมีประเด็นเรื่องการขาดแคลนหน้ากากอนามัย และอุปกรณ์ทางการแพทย์ช่วงโควิดเข้ามาเกี่ยวข้อง” 
สำหรับทิศทางการลงทุนในไทยปีนี้เชื่อว่าคงกลับมาเหมือนเดิมได้ยากมากหากโควิด-19 ยังอยู่ แต่ทั้งนี้คาดว่ามูลค่าการลงทุนปี 2563 น่าจะมีมากกว่า 2 แสนล้านบาท สูงกว่าปี 2558 ที่มีการลงทุนต่ำสุด แม้ว่าจะมีข้อจำกัดมากมาย เช่น เรื่องของการเดินทาง เป็นต้น