ทูตสหรัฐฯมั่นใจไทยมีจุดแข็ง พร้อมดึงนักลงทุนใหม่เข้าอีอีซี

04 ต.ค. 2563 | 01:16 น.

เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ เยือนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เยี่ยมชม 3 บริษัทเรือธงสัญชาติอเมริกัน ย้ำถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและความมุ่งมั่นของสหรัฐในการขยายการค้า-การลงทุนในไทย พร้อมระบุข้อเสนอแนะที่จะทำให้ไทย “น่าดึงดูดใจ” มากยิ่งขึ้นในสายตานักลงทุนต่างชาติ

 

2 ต.ค. 2563 นายไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย นำคณะเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนเดินทางเยือน ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย และเยี่ยมชมโรงงานผลิตของ 3 บริษัทเรือธงสัญชาติอเมริกันในภาคอุตสาหกรรม ในจังหวัดระยอง ได้แก่ บริษัท แบ็กซ์เตอร์ เมนูแฟคเจอริ่ง หนึ่งในบริษัทบริการด้านสุขภาพของสหรัฐฯ แห่งแรก ๆ ที่เข้ามาลงทุนในไทย บริษัท การ์เดียน กลาส ผู้ผลิตกระจกรายใหญ่ลำดับต้นๆ ของโลก และบริษัท ฟอร์ด แมนูแฟคเจอริ่ง หนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่และเป็นที่รู้จักมากที่สุดในไทย

ทูตสหรัฐฯมั่นใจไทยมีจุดแข็ง พร้อมดึงนักลงทุนใหม่เข้าอีอีซี

ทั้งสามธุรกิจดังกล่าวล้วนเป็นบริษัทอเมริกันที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเป็นเวลายาวนาน และมีฐานการผลิตอยู่ใน EEC ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตดีซอมบรีได้เน้นย้ำถึงบทบาทของบริษัทอเมริกัน ในการนำมาซึ่งกระบวนการการผลิตที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรมและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งด้วยประสบการณ์ด้านธุรกิจในภูมิภาคเอเชียมากว่า 20 ปี เอกอัครราชทูตดีซอมบรีมีความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

 

“หนึ่งในประเด็นสำคัญสำหรับผมคือการร่วมมือกับรัฐบาลไทยเพื่อดึงบริษัทและการลงทุนของสหรัฐฯ เข้ามาในไทย ในขณะที่ทั่วโลกกำลังฟื้นตัวจากโรคระบาดใหญ่และบริษัททั้งหลายปรับตัวรับภูมิทัศน์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เราหวังว่านักลงทุนอเมริกันจะยกระดับการดำเนินงานที่มีอยู่ในไทย และบริษัทใหม่ ๆ จะคว้าโอกาสนี้ย้ายฐานการลงทุนและห่วงโซ่อุปทานมาที่นี่”

 

ทั้งนี้ บริษัทอเมริกันได้เข้ามาลงทุนหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในไทย และสหรัฐฯ ก็ยังคงเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทย แม้การค้าระหว่างสหรัฐฯ และไทยจะมีมูลค่ารวมถึง 47,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา (2562) แต่ก็ยังคงมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยอยู่ในอันดับ1 ของประเทศที่เหมาะ เริ่มต้นทำธุรกิจ

สหรัฐสนลงทุนในไทยหลังโควิด

สถานทูตสหรัฐออกแถลงการณ์ ยันไม่เคยให้ทุนหนุนม็อบ 

 

“เรากำลังเดินหน้ายกระดับความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งมีความสำคัญกับรัฐบาลไทย ทั้งภาคการเกษตร การสาธารณสุข พลังงาน เศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนการศึกษาวิจัยและนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง และเรายังทำงานกับรัฐบาลไทยเพื่อดึงดูดการลงทุนมายังอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (S-Curve) ใน EEC อีกด้วย” เอกอัครราชทูตดีซอมบรีกล่าว

พร้อมกันนี้ เอกอัครราชทูตดีซอมบรียังเปิดเผยว่า จากการได้พบปะหารือกับเอกอัครราชทูตอังกฤษ เอกอัครราชทูตเยอรมนี และเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย เมื่อเร็ว ๆนี้ ท่านทูตทั้ง 4 ประเทศได้ข้อสรุปเป็นข้อเสนอแนะเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลไทยในการเสริมสร้างจุดแข็งและเพิ่มความน่าดึงดูดใจให้กับประเทศไทยในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งสามารถประมวลได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้

 

  • ให้มาตรการกระตุ้นและเยียวยาเศรษฐกิจไทยท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ครอบคลุมมาตรการที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้าไว้ด้วย ซึ่งหลายประเทศก็ทำเช่นนั้น โดยอาจจะจัดสรรงบกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนหนึ่งให้กับโครงการที่จะก่อให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ หรือการสร้างสรรค์นวัตกรรม
  • เสนอให้มีการผ่อนคลายข้อจำกัด เพื่อให้แรงงานต่างชาติที่มีทักษะความเชี่ยวชาญ (skilled labor) มีความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง สามารถเข้ามาทำงานในไทยได้มากขึ้น เนื่องจากการลงทุนของต่างชาติในไทย โดยเฉพาะการลงทุนในขั้นต้นนั้น ต้องการผู้ชำนาญงานและแรงงานที่มีทักษะจากต่างประเทศเข้ามาช่วยปูพื้นฐาน ฝึกอบรมและถ่ายทอดทักษะความรู้ให้แก่ทีมงานท้องถิ่นในประเทศไทย ข้อกำหนดในปัจจุบันที่จำกัดสัดส่วนแรงงานไทยต่อแรงงานต่างชาติไว้ที่ 4 ต่อ 1 จึงอาจเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและความรู้ความชำนาญในระดับสูง ถ้าหากไทยทำให้กระบวนการขอวีซ่าและใบอนุญาตทำงานสำหรับบุคลากรต่างชาติที่มีทักษะสูงเหล่านี้รวมทั้งครอบครัวของพวกเขา เป็นกระบวนการที่ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มแรงดึงดูดใจในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
  • ขอให้ไทยให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งในการลดขั้นตอนความยุ่งยากต่าง ๆทั้งในด้านกฎหมายและกฎระเบียบข้อบังคับ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการดำเนินธุรกิจ กฎเกณฑ์บางอย่างก็ไม่เข้ากับยุคสมัยแล้ว และเป็นอุปสรรคต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจในยุคใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่ต้องใช้เทคโนโลยีและระบบการผลิตอัจฉริยะ
  • สนับสนุนการใช้แพลตฟอร์ม E-Government ให้มากยิ่งขึ้น บริษัทในภาคอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ นวัตกรรมด้านการแพทย์ และการส่งออกโดยทั่วไป ต้องการใช้บริการ “รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์” หรือ E-Government ในการยื่นเอกสาร แบบฟอร์ม หรือการขออนุมัติต่าง ๆผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือระบบออนไลน์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกรวดเร็วแล้ว ยังช่วยลดการใช้เอกสารต่าง ๆในรูปกระดาษได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังสามารถนำระบบดังกล่าวไปใช้ในแวดวงโรงพยาบาลของภาครัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการออกใบสั่งยา การจ่ายยา การจัดทำระเบียนผู้ป่วย การจัดทำนัดหมายแพทย์ การจัดซื้อ และอื่น ๆ
  • ให้ความสำคัญกับ “ความโปร่งใส” และธรรมาภิบาล เนื่องจากนักลงทุนต้องการความชัดเจน โปร่งใส เกี่ยวกับกฎเกณฑ์กติกา กฎหมาย และข้อสัญญาต่าง ๆ เพื่อให้สามารถวางแผนล่วงหน้า คาดการณ์ และมีความมั่นใจในข้อตกลงและสัญญาทางธุรกิจ ประเทศไทยจะน่าดึงดูดใจอย่างมากสำหรับนักลงทุนต่างชาติ หากพวกเขาได้รับความชัดเจน โปร่งใส และความบริสุทธิ์ยุติธรรมเป็นหลักในการอ้างอิงและใช้แก้ไขปัญหาหรือข้อพิพาทใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
  • เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยื่นล้มละลายและฟื้นฟูกิจการ มีความโปร่งใสชัดเจนเกี่ยวกับกฎหมายล้มละลายและข้อกำหนด-กฎระเบียบต่าง ๆที่เกี่ยวข้อง ควรมีการเผยแพร่ทั้งในรูปเอกสารและรูปแบบดิจิทัล ที่สามารถเข้าถึงได้ทางออนไลน์ เป็นต้น  

ทูตสหรัฐฯมั่นใจไทยมีจุดแข็ง พร้อมดึงนักลงทุนใหม่เข้าอีอีซี

  • เร่งแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน ประเทศไทยจะมีการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานมาเป็นลำดับแล้วก็ตาม เช่นด้วยการปฏิรูประบบการศึกษาและจัดเตรียมแรงงานสำหรับอุตสาหกรรมที่รัฐมุ่งให้การส่งเสริมเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ก็ขอให้ดำเนินการปฏิรูปนี้ต่อไปให้เกิดความต่อเนื่อง ยกระดับการฝึกอบรมและเพิ่มคุณภาพการศึกษาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการและความท้าทายของอุตสาหกรรมแขนงใหม่ ๆ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยของโลกยุคปัจจุบัน
  • ขอให้ปรับปรุงคุณภาพอากาศ เนื่องจากปัญหามลภาวะทางอากาศของไทยอาจส่งผลกระทบเชิงลบโดยตรงต่อการตัดสินใจที่จะมาลงทุนใหม่ในประเทศไทย คุณภาพอากาศที่ดีขึ้นจะเป็นแรงจูงใจให้ประเทศน่าอยู่ น่าทำงาน ในสายตาของบุคลากรชาวต่างชาติ  บริษัทที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและคุณภาพชีวิตของพนักงานมีแนวโน้มที่จะไม่ลงทุนในพื้นที่ที่คุณภาพอากาศย่ำแย่
  • ขอให้ต้นทุนพลังงานต่ำลงมา ทั้งนี้ นักลงทุนสหรัฐที่มีการลงทุนอยู่ในภูมิภาคนี้ และนักลงทุนที่สนใจจะเข้ามาลงทุนใหม่ ระบุว่าค่าไฟฟ้าในประเทศไทยซึ่งเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งสำหรับผู้ลงทุนนั้น สูงกว่าประเทศอื่น ๆในภูมิภาคอยู่มาก เสนอแนะว่าการปฏิรูปด้านกฎระเบียบต่าง ๆ อาจจะช่วยให้ไทยสามารถปรับลดต้นทุนพลังงานสำหรับผู้ลงทุนลงมาได้
  • การมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ หรือระบบราง ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญประกอบการตัดสินใจของนักลงทุน การมีทางเลือกการคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้ รวมทั้งระบบน้ำประปา การเข้าถึงแหล่งน้ำซึ่งจำเป็นสำหรับการผลิต ล้วนเป็นสิ่งที่นักลงทุนให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ขอให้ไทยเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เท่าที่ได้มีการพูดคุยกับบริษัทเอกชน พวกเขายังต้องการให้มีสนามบินในพื้นที่ที่เป็นฐานการผลิตด้วย
  • การพัฒนาทักษะบุคลากรผ่านโครงการนักศึกษาฝึกงานซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทเอกชนต่างชาติและมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย  
  • การส่งเสริม Venture Capital เพื่อให้บริษัทสตาร์ทอัพเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และดึงดูดโครงการลงทุนด้านดิจิทัลและไฮเทคเข้ามาในประเทศไทยได้มากขึ้น
  • ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ในการบ่มเพาะบริษัทสตาร์ทอัพหรือธุรกิจรายใหม่ที่มีศักยภาพ ด้วยการส่งเสริมธุรกิจหรือโครงการที่เป็น “Incubator” ซึ่งจะเป็นผู้ที่ให้คำแนะนำ-ปรึกษาแก่บรรดาสตาร์ทอัพตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นไอเดียให้เกิดรูปแบบธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ Incubator จะช่วยให้สตาร์ทอัพได้ทดลองไอเดียใหม่ ๆ ของพวกเขา ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้ที่สร้างสรรค์นวัตกรรม และได้สร้างเครือข่ายที่จะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจใหม่ของพวกเขามีความมั่นคงแข็งแรงมากขึ้น