หนี้ครัวเรือนพุ่ง กดดันเศรษฐกิจฟื้น

04 ต.ค. 2563 | 02:00 น.

หนี้ครัวเรือนพุ่ง กดดันเศรษฐกิจฟื้น : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3615 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 4-7 ต.ค.2563

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาเปิดเผยตัวเลขหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2 ปี 2563 มียอดคงค้าง 13.58 ล้านล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.84% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มียอดคงค้างอยู่ที่ 13.08 ล้านล้านบาท และเพิ่มขึ้น 0.68% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ ที่มีอยู่คงค้างอยู่ที่ 13.49 ล้านล้านบาท และเมื่อเทียบกับสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีของประเทศในไตรมาส 2 ปีนี้ ปรับขึ้นไปที่ 83.8% สูงสุดในรอบ 18 ปี จากไตรมาสแรกอยู่ที่ 80.2% ถือเป็นสถานการณ์ที่สวนทางกับวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ในขณะที่ปี 2552 สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีอยู่ที่เพียง 50.4%  เท่านั้น
 

การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน  เป็นการสะท้อนให้เห็น 2 ด้าน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กลุ่มแรก เป็นกลุ่มครัวเรือนที่ยังพอมีกำลังซื้อ และยังมีความสามารถในการชำระหนี้ อีกกลุ่มเป็นครัวเรือนที่เผชิญกับปัญหาการขาดสภาพคล่อง ทำให้ต้องกู้เงินมาเพื่อการดำรงชีพและสำรองค่าใช้จ่าย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนนี้ จะมีแนวโน้มสูงมากขึ้นมาอยู่ในกรอบ 88-90% ต่อจีดีพี ของประเทศในสิ้นปี 2563 จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังหดตัว และมาจากกลุ่มครัวเรือนที่ยังพอมีกำลังซื้อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ ซึ่งจะเป็นภาพตอกย้ำวังวนของภาระหนี้สูง ที่มาพร้อมกับฐานะทางการเงินของประชาชนและครัวเรือนที่อ่อนแอลงในวงกว้าง
 

หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนี้ มีการมองว่า จะเป็นตัวฉุดให้การแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจพลิกกับมาฟื้นตัวได้ช้า เพราะเมื่อครัวเรือนมีรายได้เท่าเดิมหรือมีรายได้ลดลง จากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19  แต่ต้องกันเงินส่วนหนึ่งไปชำระหนี้ หรือหากถูกเลิกจ้าง รายได้จะหายไปไม่มีเงินไปชำระหนี้ เพราะต้องกันไว้สำหรับการดำรงชีพ จากเหตุผลดังกล่าวนี้ จะทำให้เม็ดเงินที่เคยใช้จ่ายในระบบลดลง หรือไม่มีกำลังซื้อมากพอที่จะไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินต่อไปได้
 

เห็นได้จากรัฐบาล มีมาตรการต่างๆ ออกมา ทั้งเยียวยาแจกเงินคนละ 5 พันบาท การพักชำระหนี้ เป็นเวลา 6 เดือน และจะขยายเวลาเพิ่มขึ้นอีก หรือโครงการคนละครึ่ง เพื่อที่จะลดภาระของลูกหนี้ หรือให้ลูกหนี้มีเงินนำไปใช้จ่ายเข้าสู่ระบบมากขึ้น เพราะรัฐบาลหวังที่จะให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเดินต่อไปได้
 

ทางออกของหนี้ครัวเรือนนี้ จึงเป็นสิ่งท้าทายของรัฐบาลอีกปัญหาหนึ่งว่า จะทำให้หนี้ครัวเรือนปรับลดลงได้อย่างไร หรือช่วยแบ่งบาภาระหนี้ต่อไปในอนาคตได้  ซึ่งก็มีผลสำรวจออกมา เสียงส่วนใหญ่อยากให้รัฐบาล ออกมาตรการปรับลดดอกเบี้ยลงมา รองลงมาขยายระยะเวลาโครงการพักชำระหนี้ หยุดคิดดอกเบี้ยในช่วงมาตรการ พักชำระเงินต้น เป็นต้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะหยิบยกมาตรการใดไปใช้ เพราะอย่างน้อยก็เป็นทางหนึ่งในการช่วยเหลือสถาบันการเงินไม่ให้เกิดหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลในอนาคตสูงขึ้น และลูกหนี้มีเงินเหลือหรือมีกำลังซื้อพอ ที่จะมากระตุ้นการบริโภคในระบบได้