กรมควบคุมโรค ประเมินไทยติดโควิด-19 กว่า 6,000 คน

03 ต.ค. 2563 | 08:23 น.

กรมควบคุมโรค ย้ำ ใส่หน้ากาก ป้องกันโควิด-19 ประเมินไทยติดกว่า 6,000 คน

3 ตุลาคม 2563 นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงสถานการณ์ภาพรวมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ของทั้งโลกว่า ขณะนี้ซึ่งมีผู้ป่วยโควิด-19 ประมาณ 34 ล้านคนแล้วและยังไม่มีแนวโน้มว่า จะดีขึ้นยังคงอยู่ในระดับสูง ในส่วนของประเทศไทยผู้ป่วยในระบบรายงาน 3,575 คน แต่จากการคาดประมาณของทีมวิชาการประเทศไทยน่าจะมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่านี้ โดยน่าจะอยู่ที่ประมาณกว่า 6,000 คน

 

ปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19ได้ดี ประกอบด้วย 

 

1.ระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง ได้รับคะแนนอันดับดีทั้งในระดับโลกและระดับเอเชีย มีทีมสอบสวนโรคและอสม.ที่เข้มแข็ง 

 

2.การเริ่มปฏิบัติงานอย่างรวดเร็ว โดยหลังจากมีข่าวการระบาดของโควิด-19 มาตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2562 จากนั้นวันที่ 3 ม.ค. 2563 ไทยเริ่มปฏิบัติการด้านสาธารณสุขทันที และมีการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น 

 

3.ใช้ความรู้วิชาการมาเป็นตัวนำ ทีมวิชาการยังทำงานอย่างเข้มแข็ง การตัดสินใจหลายอย่างที่ต้องใช้หลักฐานทางวิชาการก็สามารถร่วมกันคิดร่วมกันทำได้ค่อนข้างดี

 

4.ภาวะการนำในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับสูงสุดของประเทศ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างๆ ตลอดจนพื้นที่ ตำบล หมู่บ้านก็มีส่วนร่วมเข้ามาช่วยในการประคับประคองสถานการณ์ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ทักษิณเผยบีบีซี คิดโควิดเพราะการ์ดตก

"คิม จอง อึน"ส่งข้อความอวยพร "ทรัมป์-ภรรยา"หายจากโควิด-19 โดยเร็ว 

คนไทยยังตั้งการ์ด "ล้างมือ-กินร้อน-ช้อนใครช้อนมัน 

"ทรัมป์"รอผลตรวจ หลังผู้ช่วยคนสนิทติดเชื้อโควิด-19

 

5.ความร่วมมือทุกภาคทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมต่างๆ

 

6. การสื่อสารที่ดี

 

7.ความร่วมมือร่วมใจของคนไทย เมื่อเผชิญสถานการณ์วิกฤตใดๆ ก็ตามคนไทยจะหันหน้าเข้าหากัน

นพ.ธนรักษ์ กล่าวด้วยว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศเมียนมาเป็นตัวกดดันสำคัญของประเทศไทยว่า จะมีการระบาดหรือไม่แต่หากมีผู้ติดเชื้อเข้ามาแล้วมีระบบควบคุมป้องกันโรค มีการจัดการที่ดีในระยะเวลาที่เหมาะสม ก็จะควบคุมการระบาดในประเทศไทยได้ แต่หากยังมีการปล่อยให้ลักลอบเข้ามา ความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดในประเทศไทยก็จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้สถานการณ์การระบาดเริ่มเห็นว่า การระบาดใกล้ชายแดนไทยเข้ามาทุกที

 

เพราะฉะนั้น เรื่องการกวดขันคนที่เดินทางเข้าเมืองผิดกฎหมายให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากที่ทุกฝ่ายไม่เพียงแต่ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ประชาชนทุกคนสามารถช่วยกันสอดส่องได้หากพบการเข้าเมืองผิดกฎหมายขอให้ช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐด้วย

 

“การที่ประเทศไทยจะเกิดการระบาดระลอก2 หรือไม่ขึ้นอยู่กับมีการหละหลวมมาตรการต่างๆ ประมาท และป้องกันโรคไม่ได้อย่างที่ควรจะทำ และถ้าระบาดระลอก 2 ไม่ได้มีหลักฐานชัดว่าจะรุนแรงกว่ารอบแรกเสมอไป การจะรุนแรงหรือไม่รุนแรง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของโรค แต่ขึ้นอยู่กับมาตรการควบคุมป้องกันโรคและความร่วมมือของประชาชน หากสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เมื่อออกไปพื้นที่ชุมชน ก็จะลดโอกาสที่จะเกิดการระบาดใหญ่ได้มาก และเวลาเกิดเหตุการณ์ขึ้นการตอบโต้หรือตอบสนองต่อเหตุการณ์อย่างเหมาะสมจะมีผลกระทบต่อชีวิตประชาชนน้อยที่สุด ถือว่าดีกว่าการตอบโต้แบบรุนแรง”นพ.ธนรักษ์กล่าว

 

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ยังกล่าวด้วยว่า ข้อมูลจากการศึกษาพบว่า การดำเนินการมาตรการควบคุมโรคทางสาธารณสุขที่ล่าช้า ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของการควบคุมโรค โดยพบว่า หากดำเนินการสอบสวนควบคุมโรคล่าช้าน้อยกว่า 1 วัน หรือตรวจเจอหลังมีผู้ป่วยเกิดขึ้นแล้ว 1 วัน จะมีประสิทธิผลในการควบคุมโรคเหลือ 79.9% แต่หากล่าช้าถึง 3 วัน ประสิทธิผลเหลือ 41.8% ลดลงมาถึงครึ่ง และหากล่าช้าถึง 7 วัน ประสิทธิผลจะเหลือเพียง 4.9% 

 

เพราะฉะนั้น การตรวจเจอผู้ติดเชื้อได้เร็ว จะส่งผลโดยตรงต่อการควบคุมโรคไม่ให้ระบาดและแพร่ออกไปในวงกว้าง ซึ่งการที่มีโมบายแอปพลิเคชันต่างๆ ในการติดตามผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ จะทำให้สามารถติดตามได้เร็ว และควบคุมโรคได้ทันการ ประสิทธิผลของการควบคุมโรคก็จะมากขึ้น

 

"การที่ทำให้มาตรการควบคุมโรคทางสาธารณสุข สามารถดำเนินการได้เร็ว เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด ซึ่งคนไทยสามารถช่วยได้ โดยการใช้แอพพลิเคชั่น ทั้งหมอชนะ หรือไทยชนะในการเข้าไปใช้บริการสถานที่ต่างๆ เพราะเมื่อเกิดการตรวจเจอผู้ติดเชื้อขึ้น จะสามารถตามหาคนสัมผัสได้ร็ว และเข้าไปควบคุมสถานการณ์ได้ทัน" นพ.ธนรักษ์ กล่าว