หุ้นไทยQ4 ขาดแรงหนุน

07 ต.ค. 2563 | 05:50 น.

หุ้นไทยอ่วม 3 ไตรมาสดิ่ง 21.79% ต่างชาติทิ้ง 2.77 แสนล้านบาท โบรกเผยไตรมาส 4 ยังผันผวน ขาดเม็ดเงินแอลทีเอฟหนุนปีแรก ชี้ 7 ปี ต่างชาติถือครองหุ้นไทยเพียง 25.69%

เข้าสู่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ที่ ตลาดหุ้นไทย ยังคงผันผวนไม่หยุด หลังจากสถานการณ์ ไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มส่งผลกระทบตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกจนถึงไตรมาส 3 รวมถึงปัญหาการเมืองทั้งในและต่างประเทศที่ยังต้องติดตามพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง 

 

ทำให้ ดัชนีหุ้นไทย ตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 ปรับลดลง 342.80 จุด หรือ -21.79% ส่วนเงินทุนจาก นักลงทุนต่างชาติ ขายสุทธิอยู่ที่ 277,673.99 ล้านบาท เป็นการขายที่เพิ่มขึ้นสูงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาขายสุทธิที่ 5,228.85 ล้านบาท 

 

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)เปิดเผยว่า จากข้อมูลของตลท.พบว่า 5 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2558-2562 ดัชนีหุ้นไทยในไตรมาส 4 ของทุกปีจะปรับลดลงมากที่สุดถึง 3 ปี คือ ปี 2558, 2561 และ 2562 โดยในปี 2561 ลดลงถึง 192.53 จุด หรือ -10.96% และมีมูลค่าขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติมากที่สุดอยู่ที่ 78,584.98 ล้านบาท 

 

ทั้งนี้ เพราะไตรมาส 4 ของแต่ละปี จะเป็นปกติของการขายและชะลอซื้อจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากเข้าสู่ช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองในช่วงสิ้นปี ขณะเดียวกันหุ้นไทยเคยมีเม็ดเงินจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) ช่วยพยุงในช่วงปลายปี แต่หลังจากสิ้นสุดสิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว ทำให้ดัชนีหุ้นไทยหมดแรงบวกเหมือนในปีที่ผ่านมา

 

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า ไตรมาส 4 ปี 2563 คาดว่า ตลาดหุ้นไทยยังถูกกดดันต่อเนื่องจากหลายปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ โดยปัจจัยต่างประเทศนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว โดยเฉพาะตัวเลขรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของสหภาพยุโรปที่พลิกกลับมาตํ่ากว่าระดับ 50 จุดในเดือนกันยายน บ่งชี้ภาวะหดตัวอีกครั้ง ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐรอบใหม่ คาดจะมีความล่าช้าต่อเนื่องจนกว่าจะทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนไปแล้ว

 

หุ้นไทยQ4 ขาดแรงหนุน

บล.เอเซีย พลัส จำกัดระบุว่า ในไตรมาส 4 ของปีนี้ เป็นปีแรกที่ตลาดหุ้นไทย จะขาดเม็ดเงินกองทุน แอลทีเอฟ ที่คอยหนุนเหมือน ทุกๆ ปี ซึ่งสัดส่วนในการซื้อมักกระจุกตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายกว่า 66% หรือประมาณ 30,000-50,000 ล้านบาท ทำให้ตลาดขาดแรงขับในช่วงที่เหลือของปี 

 

นอกจากนั้น เดือนกันยายน 2563 ยังเป็นเดือนที่ นักลงทุนสถาบัน ขายสุทธิหุ้นไทยมากที่สุดนับตั้งแต่ต้นปีประมาณ 12,000 ล้านบาท จากการปรับพอร์ตเตรียมเงินมาซื้อหุ้นไอพีโอขนาดใหญ่ อย่าง บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (SCGP) ในช่วงต้นเดือนตุลาคม รวมถึงตลาดอาจมีความผันผวนมากขึ้นจากการปรับเกณฑ์ Short Sales

 

ทั้งนี้ หากย้อนดูความสัมพันธ์ของแรงซื้อหุ้นในอดีตพบว่า นักลงทุนต่างชาติเคยเป็นผู้ผลักดันตลาดหุ้นไทยเป็นหลัก แต่ระยะหลังมานี้ แม้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบันประมาณ 868,000 ล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนการถือครองต่างชาติทั้งทางตรงและผ่าน NVDR ลดลงจาก 35.66% ลงมาจนปัจจุบันเหลือเพียง 25.69% ตํ่าสุดเป็นประวัติการณ์ 

แต่ยังมีแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน มาคอยพยุงตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่องประมาณ 564,000 ล้านบาท โดยแรงหนึ่งแรงซื้อที่สำคัญ คือ กองทุนแอลทีเอฟที่มีเม็ดเงินเข้ามา 45,000-76,000 ล้านบาทต่อปี

 

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ จำกัดกล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 4 มีโอกาสที่จะเห็นการฟื้นตัวบ้าง จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆของภาครัฐ ความคืบหน้าผลิตวัคซีน แม้จะมีอุปสรรคบ้าง แต่ไม่ได้หยุดการพัฒนา การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะมีความชัดเจน ซึ่งจะทำให้นักลงทุนต่างชาติมีการปรับพอร์ตลงทุน และมีเงินบางส่วนไหลมายังประเทศเกิดใหม่ได้รวมถึงไทย ทั้งนี้ คาดว่าดัชนีหุ้นไทยปี 2564 จะอยู่ที่ 1,400 จุด 

 

หุ้นไทยQ4 ขาดแรงหนุน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

การเมืองกดดันหุ้นไทยไตรมาส 4

หุ้นไทยQ4 ยังลงต่อ แนะ 15 หุ้นเด่นเหมาะลงทุนระยะสั้น - กลาง

ประชาชนกู้เงินผ่าน พิโกไฟแนนซ์แล้วกว่า 7,000 ล้านบาท

คลัง แจง ดูแลเอสเอ็มอีเต็มที่

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,615 วันที่ 4 - 7 ตุลาคม พ.ศ. 2563