ให้มันจบที่ “สารสาสน์”

02 ต.ค. 2563 | 12:10 น.

ให้มันจบที่ “สารสาสน์” : คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3615 หน้า  6 ระหว่างวันที่ 4-7 ต.ค.2563 โดย...กระบี่เดียวดาย

เหตุการณ์ครูทำร้ายเด็กในห้องเรียนชั้นอนุบาล ที่โรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ ไม่ได้สร้างความหวั่นไหวให้กับพ่อ-แม่ ผู้ปกครองของโรงเรียนแห่งนี้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น แต่ยังสร้างความกังวลให้กับพ่อ-แม่ผู้ปกครองทั้ง 49 โรงเรียนในเครือสารสาสน์ ตลอดจนกังวลเป็นกระแสวงกว้างทั่วไปกับทุกโรงเรียนว่ามีเหตุการณ์ละม้าย คล้ายเหมือนเกิดขึ้นกับบุตร-หลานเขาหรือไม่
 

หลังจากพ่อ-แม่ ผู้ปกครองไม่ค่อยจะไว้วางใจระบบการศึกษาของไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ความเชื่อมั่นต่อครูและโรงเรียนในไทยและกระทรวงศึกษาธิการในฐานะผู้กำกับดูแล ตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย ไม่ไว้วางใจด้วยเกรงว่าการดำเนินการเยียวยา ให้ความเป็นธรรมกรณีนี้จะหลายเป็นมวยล้มต้มคนดู เหมือนหลายๆ เหตุการณ์ระทึกขวัญทีเงียบหายไปกับสายลม เมื่อทอดระยะเวลาออกไปหรือเหตุการณ์เย็นลง
 

ตลกร้ายที่ถูกแชร์ในโลกออนไลน์และพูดถึงกันมาก “อย่าร้องนะลูก เดี๋ยวส่งไปเรียนสารสาสน์” เป็นเรื่องที่ไม่อาจขำขันได้ และไม่ควรถูกแชร์หรือถูกพูดถึง

“เมื่อตรวจสอบย้อนหลังในโรงเรียนเดียวกัน มีใช้ไม้กวาดทำโทษเด็กในชั้นประถมกว่า 30 คน” 
 

ความวัวไม่ทันหายความควายเข้ามาแทรก เมื่อไม่เฉพาะสารสาสน์ราชพฤกษ์ แต่กลับลามไปถึงสารสาสน์ร่มเกล้า ที่ผู้ปกครองเด็กเข้าชื่อกัน 300-400 คน เพื่อขอให้ติดตั้งกล้องวงจรปิดที่สามารถดูได้อย่างเปิดเผยในทุกสถานที่ของโรงเรียน พร้อมกับขอให้มีการตรวจสอบใบประกอบวิชาชีพครูถูกต้องหรือไม่ เพื่อความสบายใจ รวมทั้งการจัดอาหารกลางวัน
 

ตัวแทนผู้ปกครองนักเรียนสารสาสน์ร่มเกล้า บอกว่าที่โรงเรียนแห่งนี้มีการตรวจสอบพบการทำร้ายร่างกายเด็ก โดยการทำโทษบีบคอและกระชากตัวเด็กไปหน้าห้องเรียน ก่อนหน้านี้ 1 ปีทีผ่านมาเด็กประถม 1 ถูกครูทำโทษตีจนเขียวช้ำก่อนไกล่เกลี่ยและผู้ปกครองไม่เอาเรื่องและอีกกรณีเด็กอนุบาล 2 ถูกครูตีด้วยบรรทัดเหล็กเป็นรอยแดง 14-15 จุด ซึ่งได้มีการแจ้งดำเนินคดีไปแล้ว
 

ไม่เท่านั้นเมื่อเรื่องร้องเรียนเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด คนโน้นก็บอกคนนี้ก็เล่า “ลูกฉัน ป.6 ก็ถูกครูตีเจ็บปวดโอดโอยเช่นกัน”
 

อันที่จริงกระแสจะไม่โหมกระพือและพัดพาไปไกลมากกว่านี้ หากผู้บริหารสูงสุดของสารสาสน์ไม่ราดน้ำมันเข้าสู่กองไฟ ด้วยการตอบคำถามประเด็นการเยียวยา โดยต้องดูตามความเป็นจริง เพราะผู้ปกครองบางส่วนก็เรียกร้องเกินจริง
 

ส่วนกรณีใบอนุญาตครู การคัดเลือกครู การคัดเลือกเน้นความสะอาดทางภายนอกมาก่อนจิตใจและคุณธรรม การรักเด็ก และบางคนแค่เป็นพี่เลี้ยงเด็ก ในแต่ละห้องจะมีครูที่มีใบประกอบวิชาชีพอย่างน้อย 1 คน ตามกฎหมาย ซึ่งใบประกอบวิชาชีพไม่ใช่ตัวกำหนดคุณภาพของครู เพราะสมัยที่ตัวเขาเองเป็นครูไม่จำเป็นต้องมี โดยทางโรงเรียนมีโครงการอบรมครูอนุบาลเพื่อพัฒนาคุณภาพครูและกรณีครูฟิลิปปินส์ที่ถือวีซ่าท่องเที่ยวนั้น เป็นการจ้างชั่วคราวเพราะครูที่เคยสอนกลับประเทศไป และติดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่สามารถกลับมาสอนได้  
 

การตอบเช่นนี้จึงทำให้ความเชื่อมั่นคลอนแคลนมากกว่าเดิม ในการฝากชีวิต บุตร-หลานเอาไว้ ที่เปรียบเหมือนพ่อ-แม่ต้องเดิมพัน ไม่รู้จะไปเจอครูแบบไหนเข้า 

ผู้ปกครองเห็นว่าผู้บริหารไม่จริงใจเท่าที่ควรในการร่วมแก้ปัญหา สำทับกับเสียงเข้มจาก กนกวรรณ วิลาวรรณ รัฐมนตรีช่วยศึกษาธิการ ที่สวนกลับแบบไม่ไว้หน้าว่าไม่มีจิตวิญาณความเป็นครูและไม่มีความเป็นผู้ใหญ่เพียงพอ
 

อันที่จริงเรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในสถานศึกษา ซึ่งเป็นสถานที่กล่อมเกลาอบรมบ่มนิสัยคนที่เป็นต้นทางสู่สังคม ทั้งการให้วิชาความรู้รวม ทั้งบ่มเพาะเบ้าหลอมคน จึงไม่ควรมีความรุนแรงใดใดเกิดขึ้น
 

การกำชับกวดขันให้ทุกฝ่ายอยู่ในครรอลงกติกา จึงเป็นสิ่งจำเป็น กรณีผู้คุมกฎอย่างกระทรวงศึกษาธิการก็ต้องยอมรับในการความหย่อนยานในการกำกับดูแล ซึ่งต้องเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น ให้ระบบควมคุมตรวจสอบเป็นกลไกปกติที่ทำงานสม่ำเสมอ ไม่ใช่ให้ใบอนุญาตจบแล้วจบเลย ไม่ใช่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วต้องมาตามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นรายๆ
 

“กระทรวงศึกษาธิการต้องมีกลไกการตรวจสอบการทำงานสถานศึกษาให้สม่ำเสมอ และต้องตรวจสอบสถานศึกษาทั้งเอกชนและรัฐทั่วประเทศอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในแง่ของมาตรฐานครู มาตรฐานการศึกษา สุขอนามัย”
 

ขณะที่สถานศึกษาเอกชนต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และต้องมีคุณธรรม จริยธรรม เป็นเบื้องแรก ไม่ยึดโยงจากผลประกอบการเป็นที่ตั้ง เพราะหากยึดผลกำไร-ขาดทุน จะทำให้จริยธรรมถูกกลบกลืนไป อย่างกรณีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หากไม่มี แต่ผ่อนผันไห้ เข้ามาสอนได้ หรือกระทั่งการจ้างครูผู้สอนภาษาต่างประเทศ กรณีหาไม่ไปคว้าเอานักท่องเที่ยวมาต้องไม่มี 
 

อย่างไรก็ดี รัฐเองก็ต้องหาทางสนับสนุนทางใด ทางหนึ่ง ให้สถานศึกษาเอกชนอยู่ได้อย่างมีมาตรฐานคุณภาพการศึกษาในราคาไม่สูงมากเกินไป
 

กรณีของสารสาสน์ ต้องให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนกับรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ ในการจัดการ การเรียนการสอน ควบคุมมาตรฐานสถานศึกษา มาตรฐานการศึกษา
 

เหตุการณ์แบบนี้ ต้องจบที่สารสาสน์ ไม่ลุกลามไปสู่สถานศึกษาอื่นทั้งของเอกชน และรัฐ!!