ป.ป.ช.ฟัน “นายกอบจ.ลำพูน-พวก14ราย”คดีจัดซื้อแคร์เซ็ต

02 ต.ค. 2563 | 09:41 น.

ป.ป.ช.ฟันกราวรูด “นิรันดร์ ด่านไพบูลย์” นายกอบจ.ลำพูน และพวก รวม 15 ราย ผิดอาญา-วินัย คดีทุจริตจัดซื้อแคร์เซ็ตโควิด-19 สูงเกินจริง ส่งอัยการฟ้องศาลฎีกานักการเมือง

 

วันนี้(2 ต.ค.63) มีรายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิด นายนิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ลำพูน กับพวก รวม 15 ราย ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการดำเนินโครงการป้องกันผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) โดยจัดซื้อชุดของใช้ประจำวัน (Care Set) ในราคาสูงเกินจริง


ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อกล่าวหากรณีดังกล่าวแก่ นายนิรันดร์ กับพวกรวม 18 ราย แต่มี 3 รายถูกกันไว้เป็นพยาน จึงมีการชี้มูลความผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องเพียง 15 รายดังกล่าว

 

บุคคลที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด แบ่งเป็น ชี้มูลความผิดทางอาญา และทางวินัยร้ายแรง 9 ราย ได้แก่ นายนิรันดร์ ในฐานะนายก อบจ.ลำพูน รองนายก อบจ.ลำพูน ปลัด อบจ.ลำพูน ชี้มูลความผิดทางอาญา 3 ราย ได้แก่ กลุ่มเอกชนทั้งหมด และชี้มูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง 2 เจ้าหน้าที่ อบจ.
ทั้งนี้ในส่วนคดีอาญา จะส่งเรื่องไปยังสำนักงานอัยการสูงสูดเพื่อพิจารณาส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนความผิดทางวินัย ป.ปช.จะส่งเรื่องไปให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาลงโทษทางวินัยต่อไป

 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 63 นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงถึงความคืบหน้าในหารตรวจสอบเรื่องกล่าวหา นายนิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ลำพูน กับพวกรวม 18 คน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีดำเนินโครงการป้องกันผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) โดยจัดซื้อชุดของใช้ประจำวัน หรือแคร์เซ็ตในราคาสูง ว่า ป.ป.ช.ได้พิจารณารายงานการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดลำพูน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนเป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้ อบจ.ลำพูน ดำเนินการจัดซื้ออุปกรณ์ชุดแคร์เซ็ตเพื่อสนับสนุนแก่กลุ่มเสี่ยงสูงต่อการติดโควิด-19 จำนวน 27,700 คน ซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่ใช้สิทธิหลักประกันถ้วนหน้า ไม่อยู่ในสิทธิหลักประกันของทางราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือประกันสังคม 


ต่อมา อบจ.ลำพูน ได้อนุมัติจ่ายขาดเงินสะสม ประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงินจำนวน 17,174,000 บาท เพื่อดำเนินการโครงการโดยไม่มีการสืบหาราคาชุดแคร์เซ็ตก่อน แต่ได้ใช้ราคาจากห้าง/ร้าน ในกลุ่มเดียวกันมากำหนดคุณลักษณะและราคากลาง ในราคา ชุดละ 590 บาท และในขั้นตอนการจัดซื้อ คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจง ได้มีหนังสือเชิญไปยังห้าง/ร้าน จำนวน 5 แห่ง เพื่อให้เข้ามายื่นเสนอราคา โดยมีห้าง/ร้าน จำนวน 3 รายมายื่นเสนอราคา โดยเสนอราคาเท่ากันในราคารายละ 16,343,000 บาท หรือชุดละ 590 บาท ซึ่งอบจ.ลำพูน ได้เลือกให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด พ.เป็นคู่สัญญาในวงเงิน 16,343,000 บาท


แต่ราคาชุดแคร์เซ็ตจำนวน 13 รายการนั้น จากการสืบราคาจากห้าง/ร้าน ที่จำหน่ายสินค้าในจังหวัดลำพูน จำนวน 25 ร้านค้า พบว่าราคาเฉลี่ยมีราคาเฉลี่ยเพียงชุดละ 315.55 บาท ดังนั้นการจัดซื้อของ อบจ.ลำพูนดังกล่าวจึงมีมูลฟังได้ว่าได้มีการจัดซื้อ ในราคาที่สูงกว่าในท้องตลาด และทำให้ อบจ.ลำพูนได้รับความเสียหาย คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติให้แต่งตั้งองค์คณะไต่สวนเบื้องต้น เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง นายนิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายก อบจ.ลำพูน กับพวก รวม 18 ราย