ยกเครื่องกองทุนพัฒนาไฟฟ้า หนุนฐานราก กระตุ้นศก.

02 ต.ค. 2563 | 03:14 น.

กกพ.ยกเครื่องกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้า ปรับปรุงหลักเกณฑ์การบริหารจัดการใหม่ เพิ่มขนาดของเงินนำส่งกองทุน หวังมีเม็ดเงินนำไปทำโครงการชุมชนได้เพิ่มมากขึ้น สนองนโยบายรัฐบาล ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

ภายใต้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ หลายสำนักออกมาคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีของประเทศปีนี้ จะติดลบอยู่ราว 7-8 % ถือเป็นวิกฤตเศรษฐกิจในรอบหลาย 10 ปี ทำให้รัฐบาลต้องเร่งอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกู้ภาวะเศรษฐกิจดังกล่าว แต่ก็ยังไม่เพียงพอ จึงได้ข้อความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ ให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการอาศัยกลไกกองทุนต่างๆ ที่มีอยู่ นำเม็ดเงินออกมาใช้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยพยุงเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง

 

กองทุนพัฒนาไฟฟ้า มาตรา 97(3) ภายใต้การกำกับของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)เป็นอีกกองทุนหนึ่ง ที่ได้เข้ามามีบทบาท ในการสนับสนุนนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพราะมีเม็ดเงินค่อนข้างมาก ที่เก็บมาจากโรงไฟฟ้าต่างๆ ทั่วประเทศ 494 กองทุน ปัจจุบันมีเงินอยู่ราว 2 หมื่นล้านบาท จากรายได้ที่เก็บเข้ามาปีละประมาณ 2 พันล้านบาท  เพื่อใช้สำหรับการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า โดยงบประมาณปี 2563 ได้มีโครงการชุมชนที่ได้รับการอนุมัติไปแล้วจำนวน 7,846 โครงการ คิดเป็นเงิน 3,038.4 ล้านบาท ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก

 

กกพ.ได้เห็นความสำคัญในการใช้กลไกของกองทุนดังกล่าวมากขึ้น เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก จากการใช้เงินกองทุนฯ ให้เกิดความคล่องตัวในการแก้ปัญหาโดยจะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การบริหารจัดการและการดำเนินโครงการในการใช้เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า มาตรา 97(3) ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จากที่ดำเนินงานมาในระยะเวลา 9 ปี ที่ผ่านมา

 

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ประกอบกับกองทุนฯ ได้ดำเนินการมากกว่า 9 ปีแล้ว ได้พบข้อบกพร่องหรือปัญหาการดำเนินงานในหลายรูปแบบ  จำเป็นต้องมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติในการกำกับดูแล และบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา97(3) ขึ้นมาใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ยกระดับประสิทธิภาพการใช้เงิน กระจายอำนาจสร้างความโปร่งใส และลดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาลง เพื่อให้เม็ดเงินได้ถูกอัดฉีดผ่านชุมชนอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนรัฐบาลแก้ไขปัญหาภาวะเศรษฐกิจระดับฐานรากได้อีกทางหนึ่ง 

 

สำหรับหลักเกณฑ์ที่มีปรับปรุงใหม่นั้น เช่น การปรับขนาดของเงินนำส่งกองทุน เช่น ประเภท ข ที่มีการส่งเงินตั้งแต่ 1-50 ล้านบาทต่อปี มีอยู่ 73 กองทุน และประเภท ค ที่มีการส่งเงินเข้ากองทุนน้อยกว่า 1 ล้านบาทต่อปี มีอยู่ 408 กองทุน โดยจะปรับกองทุนประเภท ข.ให้เข้าไปอยู่ในประเภท ค.30 กองทุน และเพิ่มขนาดของเงินนำส่งกองทุนประเภท ค. เป็นน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 ล้านบาท เพื่อที่จะมีเม็ดเงินนำไปทำโครงการชุมชนได้เพิ่มมากขึ้น  

ยกเครื่องกองทุนพัฒนาไฟฟ้า หนุนฐานราก กระตุ้นศก.

ขณะที่การบริการจัดการกองทุนประเภท ค จะยกเลิกการดำเนินโครงการโดยกลุ่มบุคคล 3 คน และเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบของนิติบุคคลที่มีการรวมกันเช่น วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม สหกรณ์ และมูลนิธิ เพื่อให้การดำเนินโครงการได้เร็วขึ้น มีการพัฒนาที่ชัดเจนจากการจัดสรรงบตามสัดส่วนพื้นที่  และลดความขัดแย้งของผู้แทน 

 

อีกทั้ง การปรับการบริการจัดการกองทุนประเภท ก ที่นำส่งเงิน มากกว่า 50 ล้านบาทต่อปี มีอยู่ 13 กองทุน รวมถึงกองทุนประเภท ข ด้วยนั้น จะปรับแผนงานโครงการจาก 11 ด้าน เหลือ 7 ด้าน เพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น มีแผนงานหลัก 6 ด้าน ได้แก่ สาธารณสุข การศึกษา เศรษฐกิจชุมชน สิ่งแวดล้อม สาธารณูปโภค และด้านพลังงานชุมชน และมีแผนงานด้านที่ 7 อื่นๆที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน ไว้รองรับโครงการชุมชนที่ไม่เข้าเกณฑ์ตามแผนงานหลัก ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการระดับพื้นที่เพื่อพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า สามารถพิจารณาจัดสรรเงินเกินกรอบ 25 ล้านบาท ได้ตามความจำเป็น เป็นต้น

 

นอกจากนี้ จะกระจายอำนาจและเพิ่มอำนาจการพิจารณาอนุมัติการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกโครงการชุมชน จะดำเนินการควบคู่กับการตรวจสอบความซํ้าซ้อน และการพัฒนาในภาพรวมของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือหน่วยราชการที่ได้รับมอบหมายในพื้นที่ ทำให้การพิจารณาโครงการมีความคล่องตัวรวดเร็วมากขึ้น และไม่ต้องกลับมาสู่ชั้นของการพิจารณาจาก กกพ. ในส่วนกลางอีก  

สำหรับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การใช้เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97 (3) นี้ ทางกกพ.จะมีการเปิดชี้แจงและรับฟังความเห็นให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้ง 4 ภูมิภาค ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2563 เพื่อสร้างความเข้าใจและข้อเสนอในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว ให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์

 

การดำเนินการครั้งนี้ กกพ.หวังว่า จะมีส่วนช่วยเสริมมาตรการของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ จากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ในระดับหนึ่ง ด้วยการดำเนินงานที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น และมีเม็ดเงินที่จัดส่งเข้ามาในการแก้ปัญหาในจำนวนที่มากขึ้นตามด้วย 

 

ที่สำคัญจะเป็นบทพิสูจน์ของความสำเร็จกองทุนพัฒนาไฟฟ้า นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจชุมชนฐานรากมีความเข้มแข็งแล้ว กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ยังได้ทำหน้าที่ดูแลประชาชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ ไขข้อข้องใจให้กับอีกหลายๆพื้นที่ที่ยังมีการต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าเกิดขึ้น