“เฮอร์ริเคน”ในสหรัฐ-“โควิด”กดราคาน้ำมันดิบให้เคลื่อนไหวเล็กน้อย

01 ต.ค. 2563 | 05:55 น.

“สนพ.” ชี้ราคาน้ำมันดิบเคลื่อนไหวเล็กน้อย ผลกระทบจากพายุ “เฮอร์ริเคน” ในสหรัฐฯ และความกังวลต่อการระบาดของ “โควิด-19” ที่เพิ่มสูงขึ้น

นายวัฒนพงษ์  คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบว่า ยังคงเคลื่อนไหวในระดับต่ำ หลังนักลงทุนยังคงกังวลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกรวมถึงความต้องการใช้น้ำมันที่อ่อนแอจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสหราชอาณาจักรได้ประกาศใช้มาตรการเข้มงวดอีกรอบ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายวันเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในรอบเกือบ 4 เดือน

อีกทั้ง ปริมาณน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังกำลังการผลิตได้รับผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคนซัลลี่ และพายุหมุนเขตร้อนเบต้า ที่พัดขึ้นฝั่งบริเวณอ่าวเม็กซิโก อย่างไรก็ดีอุปทานน้ำมันดิบฝั่งตะวันออกกลางมีแนวโน้มปรับเพิ่ม จากลิเบียและอิหร่านเพิ่มการส่งออกน้ำมัน โดยลิเบียอยู่ระหว่างการเปิดท่าส่งออกน้ำมันในประเทศที่ปิดไปกว่า 8 เดือน ทั้งนี้ บริษัทน้ำมันแห่งชาติลิเบีย (NOC) ประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉิน และคาดว่าจะผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น 260,000 บาร์เรล/วัน ภายในสัปดาห์นี้ ด้านอิหร่านคาดว่าจะส่งออกน้ำมัน ในเดือน ก.ย. เพิ่มขึ้นจากเดือน ส.ค. 0.1 - 0.75 ล้านบาร์เรล/วัน

ทั้งนี้  สถานการณ์ราคาน้ำมันโลก วันที่ 21 – 27 กันยายน 2563 ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 41.46 และ 39.78 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.67 และ 0.22 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้นหลังราคาน้ำมันดิบปรับลดลงอย่างหนักในการเทขาย ความกังวลจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ในหลายประเทศที่เพิ่มขึ้น

“เฮอร์ริเคน”ในสหรัฐ-“โควิด”กดราคาน้ำมันดิบให้เคลื่อนไหวเล็กน้อย

โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์การปิดประเทศในยุโรปครั้งล่าสุดจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันไม่มากนัก ส่วนสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ (ณ วันที่ 18 ก.ย. 63) ปรับตัวลดลง 1.6 ล้านบาร์เรล ลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน แต่ยังคงน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 4.0 ล้านบาร์เรล ทางด้านนาย Ihsan Abdul Jabbar รมว.กระทรวงน้ำมันของอิรักออกมาปฏิเสธรายงานข่าวว่าอิรักบรรลุข้อตกลงกับกลุ่ม OPEC+ เพื่อเพิ่มการส่งออกน้ำมันดิบ

ด้านราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเชียนั้น ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และ 91 (Non-Oxy) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 47.85 ,46.25 และ 47.12 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.47 ,0.65 และ 0.58 เหรียญสหรัญฯต่อบาร์เรล โดยตลาดกังวลอุปทานน้ำมันเบนซินในสหรัฐฯ จะปรับลดลงเนื่องจากโรงกลั่น ดำเนินการผลิตในระดับต่ำ ทางด้าน Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซิน เดือน ส.ค. 63 ลดลง 7.11% อยู่ที่ 23.04 ล้านบาร์เรล ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4

ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ 43.58 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.03 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยจีนมีแผนที่จะส่งออกน้ำมันดีเซลในเดือน ต.ค. 63 ลดลง 5.9% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย. 63 ทางด้าน PPAC ของอินเดียรายงานปริมาณการผลิตในเดือน ส.ค. 63 ลดลง 11.4% อยู่ที่ 56.7 ล้านบาร์เรล ประกอบกับรายงานของ Insights Global ปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่ ARA ในยุโรป (ณ วันที่ 24 ก.ย. 63) ลดลง 1.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 20.76 ล้านบาร์เรล และ Platts รายงาน Arbitrage น้ำมันดีเซลจากภูมิภาคตะวันออกไปยังตะวันตกปิด

ขณะที่ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล และน้ำมันดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 2.53 บาท/ลิตร (รวมค่าขนส่งน้ำมันทางท่อจากศรีราชา - กรุงเทพฯ 0.15 บาท/ลิตร) และค่าการกลั่นเฉลี่ยอยู่ที่ 0.53 บาท/ลิตร โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.20 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่เฉลี่ย 31.5658 บาท/เหรียญสหรัฐฯ (ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.15 บาท/ลิตร ขณะที่ต้นทุนน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.06 บาท/ลิตร)

“ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 27 ก.ย. 63 กองทุนน้ำมันมีสินทรัพย์รวม 58,317 ล้านบาท หนี้สินกองทุน 26,848 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิ 31,469  ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน  39,106  ล้านบาท บัญชี LPG -7,637  ล้านบาท”