ความล้มเหลวของเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เมื่อรัฐทำงานไม่ได้

01 ต.ค. 2563 | 02:00 น.

ความล้มเหลวของเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เมื่อรัฐทำงานไม่ได้ : คอลัมน์เศรษฐศาสตร์ นอกขนบ

10 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้มีงานทำในประเทศลดลงจาก 39.3 เหลือ 37.5 ล้านคน สวนทางกับจำนวนประชากรของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 63.5 เป็น 66.5 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน เกิดอะไรขึ้นกับโครงสร้างแรงงานไทย และการเคลื่อนที่ของแหล่งงานและแรงงานจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างไร
 

มุมมองและความคาดหวังของสองหน่วยงานหลักเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ทั้งสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) วางแผนพัฒนาประเทศที่ปรับยุทธศาสตร์ชาติใหม่ให้เหมาะกับภาวะการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งยังคงให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องสำคัญทั้งระยะสั้นและระยะยาวคือ  1) เน้นการกระจายโครงสร้างพื้นฐานไปในภูมิภาคเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 2) ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานรากเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและชนบท 3) กระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศทั้งด้านการจับจ่ายใช้สอยและการท่องเที่ยว

และปาฐกถาจากงานสัมมนาประจำปีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ผู้ว่าฯ ธปท. เน้นให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และย้ำอยู่ตลอดว่า “เป็นทางรอด” ไม่ใช่ทางเลือก ซึ่งเนื้อหาบ่งบอกถึงความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา การกระจายทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานกระจุกตัว และกลไกรัฐไม่สามารถที่จะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้ จนทำให้ความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาศักยภาพของทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชนลดน้อยถอยลง
 

เสียงสะท้อนผู้บริหารหน่วยงานเศรษฐกิจสำคัญ จากนักเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งที่ปรึกษารัฐบาล มีฉันทานุมัติ (Consensus) เรื่องเดียวกัน ทั้งเศรษฐกิจฐานราก เหลื่อมล้ำ แรงงาน และโครงสร้างเศรษฐกิจ “เมื่อรู้แล้ว แต่ทำไมจึงแก้ไม่ได้” และยังสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวผ่านตารางจำนวนผู้มีงานทำรายจังหวัด (2554-2562) ซึ่งจากตารางรางผมได้นำเสนอเฉพาะจังหวัดที่มีการจ้างแรงงานรวมทั้งในระบบและนอกระบบที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเท่านั้น
 

ส่วนจังหวัดที่ไม่ปรากฏในตารางผู้มีงานทำลดลงทั้งหมด ซึ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า แรงงานไทยมีการเคลื่อนที่อพยพชัดเจนมากจากจังหวัดและพื้นที่ที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ พึ่งพาภาคเกษตรและความไม่แน่นอนของรายได้สูง การกระจุกตัวของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่เป็นแหล่งสะสมทุนต่อพื้นที่ต่ำ ไปสู่จังหวัดที่มีความเป็นอุตสาหกรรมและบริการเข้มข้นกว่า
 

ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอันเนื่องมาจากการอพยพส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบที่มีผลตอบแทนจากการทำงานต่ำ ขาดซึ่งสวัสดิการและการคุ้มครองการทำงาน ทำให้คุณภาพชีวิตของแรงงานเหล่านี้อยู่ในระดับต่ำ จนกระทั่งเข้ามาสู่การเป็นคนจนในเมือง ในขณะที่จังหวัดและพื้นที่เกิดการอพยพออกของแรงงานทำให้ความดึงดูดต่อการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนต่ำ กลายเป็นพื้นที่ศักยภาพต่ำ ผู้สูงอายุ เด็ก และยาเสพติด กลายเป็นปัญหาสังคมและความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลกระทบจากการอพยพแรงงานไม่ได้สร้างปัญหาให้กับเฉพาะเศรษฐกิจและสังคมชนบทเท่านั้น แต่การเติบโตของเมืองที่มีการอพยพของแรงงานกลับก่อปัญหาสังคมได้เช่นเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำจากคุณภาพชีวิตระหว่างคนจนในเมือง จำนวนมอเตอร์ไซด์และการกระทำผิดกฎหมาย การเดินทางด้วยรถสาธารณะกลายเป็นความแออัดของชนชั้นกลาง จึงพยายามซื้อรถยนต์ส่วนตัวโดยการสนับสนุนของสถาบันการเงิน ซึ่งตามมาด้วยหนี้สินที่ไม่มีวันจบสิ้น สภาพความแออัดนำมาซึ่งต้นทุน เวลาการเดินทาง ทำให้เวลาในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองลดลง เป็นกับดักวิถีชีวิตชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งทำให้คนจำนวนหนึ่งไม่กล้าแม้กระทั่งจะมีลูก เนื่องจากกลัวความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาและสาธารณสุขที่จะทำให้คุณภาพชีวิตอนาคตไม่ดีตามที่คาด
 

จากข้อเท็จจริงในตารางข้อมูลแรงงาน จากเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้เพื่อกำหนดนโยบายมี 4 เป้าหมายที่สำคัญ 1)  การสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 2) การสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ 3) การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม 4) การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด  ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า ต้องมีบางอย่างผิดพลาดในการเดินทางของการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทยอย่างแน่นอน ซึ่งผมขอสรุปบางประเด็นเพื่อให้เป็นประเด็นในการถกเถียงกันของสังคมดังนี้
 

  1. “กลไกรัฐ” ทั้งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ข้าราชการ และงบประมาณไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อการลดความเหลื่อมล้ำและเป็นธรรม แต่เป็นการออกแบบมาเพื่อปกป้องและผลประโยชน์ของรัฐมากกว่า
     
  2. “การบริหารของรัฐ” รัฐส่วนท้องถิ่นไม่มีความเป็นอิสระที่ควรจะกำหนดงบประมาณและการใช้งบประมาณเพื่อคนในท้องถิ่น แต่กลับถูกกกำหนดจากรัฐส่วนกลางและส่วนภูมิภาคซึ่งไม่สามารถตอบสนองและเข้าใจต่อท้องถิ่นอย่างแท้จริง
     
  3. “ความเชื่อของรัฐ” รัฐเชื่อว่า หากบรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจข้อ 1 และข้อ 2 ได้ เป้าหมายข้อ 3 และ ข้อ 4 จะเป็นผลลัพธ์ที่ตามมา ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างรุนแรง
     
  4. “ทัศนคติของรัฐ” ไม่ให้ความสำคัญกับการยกระดับการรับรู้และพัฒนาการศึกษาอย่างแท้จริง แต่เน้นที่การปลูกฝังจินตนาการย้อนกลับมากกว่าการฉายภาพอนาคต
     
  5. “งบประมาณของรัฐ” ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อเกิดผลของงาน แต่เป็นการออกแบบมาเพื่อการใช้งบเท่านั้น การไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์สุดท้ายที่เกิดขึ้น แต่คำนึงแค่สาระสำคัญของกระบวนการเบิกจ่าย ทำให้สัดส่วนงบประจำเพิ่มขึ้นในขณะที่งบลงทุนที่สำคัญลดลง
     

จากวังวนวางแผนและแก้ปัญหาเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนผลการดำเนินงานของรัฐผ่านเป้าหมายเศรษฐกิจที่สอบตกเกือบทุกด้าน ข้อมูลเชิงประจักษ์ด้านแรงงานทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพเป็นเครื่องชี้วัดที่เห็นชัดเจน และเมื่อปี 2563 การระบาดของโควิด-19 จึงเป็นเหมือนการทุบลงไปบนแผลที่เรื้อรังของเศรษฐกิจและแรงงานไทย ที่รัฐพยายามรักษาแผลนั้นด้วยยาจากโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้คนส่วนใหญ่เริ่มเห็นแล้วว่าการผ่าตัดใหญ่และใช้ยาคุณภาพดี ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นแล้ว เราจะไม่ต่างอะไรกับการเป็นคนแก่ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง จนไม่มีทางเยียวยาได้อีกในอนาคต เพราะถ้าจะบรรลุเป้าหมายของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งอีกครั้งที่ “รัฐ” เท่านั้น