"คมนาคม-เกษตรฯ" เดินหน้า ถนนยางพาราต่อเนื่อง

30 ก.ย. 2563 | 11:45 น.

ก.คมนาคม จับมือ ก.เกษตรฯ คิกออฟ โครงการนำยางพารามาปรับปรุงความปลอดภัยทางถนน ล่าสุดเปิดตัวโครงการที่จังหวัดอุทัยธานี เป็นจังหวัดที่ 6

30 กันยายน 2563 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่ากระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้ร่วมกันผลักดันโครงการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงความปลอดภัยทางถนน โดยนำยางพารามาเป็นส่วนผสมในการทำเครื่องกั้นถนนครอบวัสดุยางพาราหรือ rubber fender berier และหลักนำทางยางธรรมชาติ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณตั้งต้นโครงการฯเพื่อใช้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2563 วงเงินกว่า 2,700 ล้านบาท

 

หลังจากนั้นได้เดินหน้า kick off สร้างการรับรู้กับชาวสวนยาง เริ่มจากจังหวัดจันทบุรี ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เป็นประธานเปิดโครงการ และกระทรวงคมนาคม ยังได้ลงพื้นที่เริ่มคิกออฟ (kick off) โครงการในหลายจังหวัด สตูล นครพนม บึงกาฬ เลย ล่าสุดที่จังหวัดอุทัยธานี โดย นายอนุทินชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดโครงการนำการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน (Kick Of)  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ชง ครม.ซื้อ "ยางพารา"ลุยสร้างมอเตอร์เวย์ 

"คมนาคม"ลุยจัดซื้อยางพารา หลังครม.ไฟเขียว

คิกออฟถนนยางพาราเพื่อความปลอดภัย ดันราคายางเกษตรกรภาคอีสาน

ดีเดย์!!นำร่องแบริเออร์ยางพาราวันแรก 

 

“โครงการดังกล่าว ในปีงบประมาณ 2563-2565 โดย มีปริมาณการใช้ยางพารา จำนวน 1,007,951 ตัน และจะนำ 2 ผลิตภัณฑ์ ดังกล่าว มาใช้ติดตั้งบนถนนของ ทล. และ ทช. ระยะทางรวม 12,282 กิโลเมตร คิดเป็นผลประโยชน์ที่เกษตรกรชาวสวน ยางจะได้รับ จำนวน 30,108 ล้านบาท และจะมีการสำรวจตรวจสอบเพื่อเปลี่ยนแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ ทดแทนที่เสื่อมเสื่อมสภาพหรือมีความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งต้องใช้ยางพาราในทุกๆปี ปีละไม่น้อย กว่า 336,000 ตัน”

โดยในปี 2562 มีปริมาณการใช้น้ำอย่างพาราสดในโครงการของรัฐมากกว่า 129,000 ตัน แต่เมื่อมีโครงการนำร่องการนำยางพารามาผลิตใช้อุปกรณ์ความปลอดภัยบนท้องถนนใน 3 เดือนนี้ พบว่า มีปริมาณการใช้ยางพารากว่า 50,000 ตัน ซึ่งถือว่า เป็นปริมาณการใช้ ที่เท่ากับปริมาณในปี 2561 ทั้งนี้ มั่นใจว่า โครงการยางพาราเพื่อความปลอดภัยทางถนนนี้ เมื่อมีเป้าหมายในการใช้ยางพาราแต่ละปีชัดเจน จะช่วยสร้างเสถียรภาพด้านราคาให้แก่ยางพาราเพิ่มขึ้น

 

โดยหลังจากการเริ่มต้นโครงการเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา 1 เดือน ล่าสุดราคาน้ำยางพาราอยู่ที่กิโลกรัมละ 63 บาท ขณะที่ราคายางก้อนถ้วย มีเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีนิยมผลิตเพื่อทำการขายนั้น ก่อนที่จะมีโครงการราคาเคยตกต่ำถึงกิโลกรัมละ 8 บาท  ก่อนที่จะมีการเริ่มต้นโครงการฯ แต่ ณ วันนี้ ราคายางก้อนถ้วยอยู่ที่กิโลกรัมละ 22 บาท โดยกระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป้าหมายที่จะผลักดันให้ราคายางก้อนถ้วยนี้ กิโลกรัมละ 28 บาท

 

สำหรับจังหวัดอุทัยธานี เป็นจังหวัดในภาคกลางของไทยมีการปลูกยางพาราจำนวนมากโดยข้อมูลล่าสุดของการยางแห่งประเทศไทย พบว่า มีเกษตรกรชาวสวนยางจำนวน 1994 รายพื้นที่ปลูกยางรวมทั้งสิ้น 35,878 ไร่โดยผลผลิตยางพาราแบ่งเป็นยางแผ่นดิบ 598 ตันคิดเป็นร้อยละ 77.25 และยางก้อนถ้วย 155 ตันคิดเป็นร้อยละ 20.0 2 ( ข้อมูล ณ วันที่ 23 กันยายน 2563)

 

นอกจากนี้ จังหวัดอุทัยธานียังเป็นจังหวัดที่มีสหกรณ์ชาวสวนยางที่เข้มแข็งโดยกระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตรฯ มั่นใจว่าการดำเนินโครงการใช้ยางพาราเพื่อความปลอดภัยทางถนน ซึ่งจะใช้สหกรณ์สวนยาง เป็นกลไกในการรับซื้อยางจากชาวสวนจะมีส่วนในการสนับสนุนให้มีการกำหนดราคารับซื้อที่สร้างรายได้แก่ชาวสวนยางในระดับที่น่าพอใจทำให้ราคายางพาราในประเทศ มีเสถียรภาพได้ในระยะยาว

ด้านนายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ครม. ได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลาง วงเงิน 2,770 ล้านบาทนั้น ถือเป็นการดำเนินการระยะที่ 1 โดย ทล. และ ทช. ได้นำมาใช้ในการนำ 2 ผลิตภัณฑ์ คือ แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ มาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ประกอบกับการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณการใช้ยางพาราเอซีเหลือเพียงเอซีเท่านั้น รวมถึงงบประมาณเหลือจ่ายปี 2563 มาใช้ รวมงบประมาณที่ใช้ในระยะที่ 1 ทั้งสิ้น 4,400 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน พ.ย. 2563 โดยในส่วนของ ทช. จะดำเนินการระยะที่ 1 แบ่งเป็น ใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีตบนนถนนของ ทช. ระยะทาง 209 กม. ขณะที่ หลักนำทางยางธรรมชาติ จะดำเนินการจำนวนกว่า 300,000 ต้น

 

ขณะที่ระยะที่ 2 ในช่วงกลาง พ.ย.นี้ จะเสนของบประมาณรายจ่ายงบกลางปี 2564 เพื่อนำมาดำเนินการต่อไป จากนั้นจะประเมินความคุ้มค่า รวมถึงสถิติอุบัติเหตุของโครงการ ทั้งนี้ จะดำเนินการให้เป็นไปตามแผนระนะ 3 ปี (2563-2565) โดยมีปริมาณการใช้ยางพารา จำนวน 1,007,951 ตัน มาใช้ติดตั้งบนถนนของ ทล. และ ทช. ระยะทางรวม 12,282 กิโลเมตร (กม.) ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้นกว่า 85,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นผลประโยชน์ที่เกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับ จำนวน 30,108 ล้านบาท นอกเหนือจากนี้ ในช่วง พ.ย. 2563 จะตั้งงบประมาณปี 2565 เพื่อบรรจุเข้าในปีงบประมาณ 2566 ด้วย