การเมืองร้อน ทุนต่างชาติชะงัก

02 ต.ค. 2563 | 10:15 น.

หุ้นไทยจากต้นปี ลดลง 20% มาร์เก็ตแคปสูญ 3 ล้านล้านบาท โบรกหวั่นการเมืองยืดเยื้อ กดดันดัชนีไม่เกิน 1,400 จุด ชี้รัฐบาลมีเสถียรภาพช่วยเรียกเชื่อมั่น หนุนเงินต่างชาติไหลกลับ

ความผันผวนของ ตลาดหุ้นไทยในปัจจุบัน นอกจากการติดตามสถานการณ์หลัง ไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการฟื้นฟูต่างๆ แล้ว ยังมีการเมืองในประเทศ ที่กดดันดัชนีทำให้ไม่สามารถปรับขึ้นไปถึงจุดเดิมได้ จากความกังวลการชุมนุมทางการเมืองที่ยังไม่มีข้อยุติแน่ชัด

 

โดยตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม-28 กันยายน 2563 ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลง 316.82 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -20.05% ส่วนมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ลดลง 3,026,824.21 ล้านบาท

 

ขณะที่กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และประชาชนปลดแอกนัดหมายอีกครั้งในวันที่ 14 ตุลาคม เพื่อกดดันการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งก็จะยังไม่มีข้อยุติ เนื่องจากเป็นช่วงปิดสมัยประชุมรัฐสภา ซึ่งจะทำให้สถานการณ์การเมืองยังคงคุกรุ่น

 

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ทิสโก้ จำกัดเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า บรรยากาศทางการเมืองในประเทศเริ่มลดความตึงเครียดลง หลังจากท่าทีของ พรรคเพื่อไทย ที่ไม่เป็นปึกแผ่น ส่งผลต่อการชุมนุมน้อยลง แต่ยังเป็นความเสี่ยงจากการยืดเยื้อของการชุมนุมที่ยังจะมีต่อไปจนกว่าจะมีความชัดเจนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

โดยคาดว่าจะไม่มีความรุนแรง เพราะสังคมไม่ต้องการใช้ความรุนแรง รวมถึงรัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้ยึดมั่นว่าต้องให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งต้องติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด

การเมืองร้อน ทุนต่างชาติชะงัก

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า หากสถานการณ์ทางการเมืองยืดเยื้อ ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยมี Upside ที่จำกัด อีกทั้งยังเติบโตตํ่ากว่าตลาดหุ้นอื่นทั่วโลก ทำให้คาด ดัชนีหุ้นไทย อาจจะปรับขึ้นไม่เกิน 1,400 จุด ขณะเดียวกันหากสถานการณ์จบได้เร็วและไม่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น จะส่งผลดีระดับหนึ่ง โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะกลับมาลงทุนในหุ้นไทยอีกครั้ง

 

ทั้งนี้เชื่อว่าจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นได้และจะมีเม็ดเงินจาก นักลงทุนต่างชาติ ไหลเข้าในปี 2564 

 

ขณะที่ ปัจจุบันเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติยังขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง มาจากการที่ไทยยังใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้เป็นข้อจำกัดในการเข้าลงทุน ต้องรอให้สถานการณ์ต่างๆ คลี่คลาย โดยเฉพาะเสถียรภาพของรัฐบาลต้องมีมากกว่านี้ รวมถึงแผนฟื้นฟูต่างๆ จะช่วยเรียกความเชื่อมั่นให้กลับมาได้ในปีหน้า แต่ในปีนี้มองว่านักลงทุนต่างชาติจะยังไม่กลับเข้ามาซื้อในตลาดหุ้นไทย

 

“จากผลสำรวจในอดีตที่ผ่านมา 10 ปี นักลงทุนต่างชาติจะขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยช่วงไตรมาส 4 ประมาณ 30% เนื่องจากเป็นช่วงพักร้อน และเทศกาลเฉลิมฉลองในช่วงปลายปีของต่างชาติ ทำให้ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้คาดว่าจะไม่มีเงินไหลกลับเข้ามาซื้อ แต่ต้องรอดูสถานการณ์ในปีหน้าว่าจะเรียกความเชื่อมั่นได้มากเพียงใด ก็มีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาซื้อใหม่ได้”

นายชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้จัดการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส จำกัดกล่าวว่า การเมืองที่ยังมีความร้อนแรงมากขึ้น ทั้งการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการชุมนุมใหญ่ของนักศึกษา ซึ่งหากเปรียบเทียบเหตุการณ์การชุมนุมในอดีตกับตลาดหุ้นไทยในช่วง 1.5 เดือนแรกของการชุมนุม พบว่า เงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติจะไหลออกจากตลาดหุ้นเฉลี่ยประมาณ 38,000 ล้านบาท และกดดันให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง 6.2%

 

ทั้งนี้ นักลงทุนต้องติดตามประเด็นการเมืองอย่างใกล้ชิด รวมถึงการชุมนุมใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนตุลาคม ว่าจะส่งผลให้การเมืองเป็นไปในทิศทางใด

 

นอกจากนี้ กระแสเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติที่ยังหยุดชะงักและไม่มีท่าทีจะไหลเข้าตลาดหุ้นไทย ทั้งในส่วนของนักลงทุนต่างชาติที่เดือนกันยายนขายสุทธิประมาณ 16,400 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันขายสุทธิประมาณ 14,500 ล้านบาทนั้น มาจากความเสี่ยงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในรอบสอง, การเมืองที่ยังมีความร้อนแรงมากขึ้น และการปรับลดกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปี 2564 ที่ปรับลดแรงกว่าปี 2563 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เงินบาทเปิดตลาด “ทรงตัว”รับแรงหนุนจากนักลงทุนต่างชาติซื้อบอนด์

การเมืองกดดันหุ้นไทยไตรมาส 4

หุ้นไทยQ4 ยังลงต่อ แนะ 15 หุ้นเด่นเหมาะลงทุนระยะสั้น - กลาง

การเมืองในประเทศ กดดันหุ้นไทยผันผวน 1,250-1,300 จุด

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,614 วันที่ 1 - 3 ตุลาคม พ.ศ. 2563