ปปง.พบฟอกเงินพุ่ง 22.36%

02 ต.ค. 2563 | 23:20 น.

9เดือน ปปง.ได้รับรายงานธุรกรรมการเงิน เพิ่มกว่า 5.46 แสนธุรกรรมหรือ เพิ่มขึ้น 4.13% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน พบเฉพาะที่มีเหตุอันควรสงสัยเพิ่ม 22.36% และการโอนเงินหรือชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่ม 4.79% รับเทรนด์ดิจิทัล ปปง.แจงแม้โควิดระบาด แต่ไม่กระทบ

กรณ๊ธนาคารพาณิชย์ไทย 4 แห่งก็คือ ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด(มหาชน)หรือ BBL ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยหรือ EXIM Bank เข้าไปมีชื่อในเอกสารรายงานกิจกรรมที่น่าสงสัย(SAR) ซึ่งเป็นเอกสารที่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินจะต้องยื่นเรื่องต่อกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา รั่วไหลออกมาผ่านสื่อออนไลน์ของสหรัฐอเมริกา

 

โดยรายงานกิจกรรมที่น่าสงสัยจำนวนมากกว่า 2,100 ฉบับ ได้เผยข้อมูลเกี่ยวกับการโอนเงินที่น่าสงสัยมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์หรือประมาณ  63 ล้านล้านบาท ในระหว่างปี 2542-2560 ซึ่งเงินเหล่านี้ได้รับอนุมัติการทำธุรกรรมโดยหน่วยงานภายในของสถาบันการเงินที่อยู่ในข่ายต้องสงสัย ซึ่งนอกจากธนาคารไทยทั้ง 4 แห่ง แล้วยังปรากฎชื่อของธนาคารใหญ่ระดับโลกหลายแห่ง เช่น เอชเอสบีซี, เจพีมอร์แกน เชส, ดอยซ์แบงก์, สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และแบงก์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน อยู่ในเอกสารที่ว่าด้วยเช่นกัน

 

สมาคมธนาคารไทยและธนาคารแห่งประเทศ(ธปท.) ต่างออกมาปฏิเสธว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่สถาบันการเงินภายใต้กฎหมายของสหรัฐอเมริกา มีหน้าที่ต้องรายงานธุรกรรมที่น่าสงสัยต่อหน่วยงานเครือข่ายปราบปรามอาชญากรรมทางการเงินแห่งสหรัฐอเมริกา(US Financial Crimes Enforcement Network หรือ FinCEN) เป็นปกติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอยู่แล้ว และไม่ได้หมายความว่า ธุรกรรมที่ถูกรายงานจะเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายเสมอไป

ปปง.พบฟอกเงินพุ่ง 22.36%

ขณะเดียวกันข้อมูลที่รั่วไหลออกมา ยังไม่ได้มาจาก FinCEN หรือหน่วยงานทางการใดๆ ดังนั้นจึงต้องรอให้มีการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชัดเจนก่อน

 

อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินไทยมีหน้าที่ต้องรายงานธุรกรรมทางการเงินต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ทุกเดือนเช่นกัน โดยช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563(1ตุลาคม 2562- 30 มิถุนายน 2563) ปปง.ได้รับรายงานการทำธุรกรรมรวม 13,793,563 ธุรกรรม แบ่งเป็น

  • ธุรกรรมที่ใช้เงินสด 832,330 ธุรกรรม คิดเป็น 5.83% ของจำนวนธุรกรรมรวม
  • ธุรกรรมที่เกี่ยวกับการซื้อขายทรัพย์สิน134,004 ธุรกรรม มีสัดส่วน 0.99% ของจำนวนธุรกรรมรวม
  • ธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย 55,054 ธุรกรรม มีสัดส่วน 0.40% ของจำนวนธุรกรรมรวม
  • ธุรกรรมที่เป็นการโอนเงินหรือชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ 12,755,900 มีสัดส่วน 93.00% ของจำนวนธุรกรรมรวม
  • ธุรกรรมของผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 (เช่น นายหน้าแนะนำการลง,ผู้ค้าอัญมณี เพชร ทองคำ, เช่าซื้อรถยนต์,นายหน้าอสังหาฯ, ค้าของเก่า,บัตรอิเล็คทรอนิกส์)
  • ธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย 16,275 ธุรกรรม สัดส่วน 0.07% ของจำนวนธุรกรรมรวม

 

เมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือนปีก่อนพบว่า รายงานธุรกรรมเพิ่มขึ้น 546,823 ธุรกรรม เพิ่มขึ้น 4.13% เมื่อพิจารณารายละเอียดแต่ละประเภทธุรกิจ พบว่า ธุรกรรมที่ได้รับรายงานส่วนใหญ่ลดลง เช่น ธุรกรรมที่ใช้เงินสดลดลง 5,691 ธุรกรรม หรือลดลง 0.67% ธุรกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สินลดลง 38,244 ธุรกรรม หรือลดลง 22.20% และธุรกรรมของผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 และธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยลดลง 3,063 ธุรกรรมหรือลดลง 15.83% แต่ธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยเพิ่มขึ้น 10,061 ธุรกรรมคิดเป็น 22.36% และธุรกรรมที่เป็นการโอนเงินหรือชำระเงินทางอิเล็คทรอนิกส์เพิ่มขึ้นกว่า 583,760 ธุรกรรม หรือเพิ่มขึ้น 4.79% 

 

รายงานข่าวจากปปง.ระบุว่า ธุรกรรมที่มากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า ผู้มีหน้าที่รายงานมีความตระหนักในความสำคัญในการรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยอันเป็นหนึ่งในมาตรการสนับสนุนกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง 

สำหรับธุรกรรมที่เป็นการโอนเงินหรือชำระเงินทางอิเล็ก ทรอนิกส์เพิ่มขึ้น 583,760 ธุรกรรม แสดงให้เห็นว่าบุคคล/ผู้ประกอบการนิยมใช้เทคโนโลยีการโอนเงินทางอิเล็คทรอนิกส์ ที่สะดวกรวดเร็วต่อการทำธุรกรรม มากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า ในอนาคตอาจมีการทำธุรกรรมเงินสดที่ลดลงกว่าเดิมอีก แต่การโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ก็มีผลเสียในการอายัดเงิน หากตรวจพบในภายหลังว่า เป็นเงินไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจถูกโยกย้ายหรือถ่ายถอนออกจากบัญชีจากปลายทางไปแล้ว

 

“ปี 2563 แม้จะเกิดสภาวะโควิดระบาดหนัก ส่งผลต่อผู้ประกอบการทั่วโลก แต่ก็ยังคงมีการทำธุรกรรมสูงกว่าปีก่อน”

 

ขณะเดียวกันปปง.อยู่ระหว่างจัดทำ Roadmap ยกระดับการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการประสานและกำกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย เพื่อพิจารณาขับเคลื่อนในเชิงนโยบายต่อไป 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,614 วันที่ 1 - 3 ตุลาคม พ.ศ. 2563