สหรัฐบีบหนักผู้ผลิตชิปจีน เพิ่มอุณหภูมิเดือด Tech War

30 ก.ย. 2563 | 02:21 น.

พณ.สหรัฐสั่งควบคุมการส่งออกอุปกรณ์ให้กับบริษัท SMIC ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของจีน อ้างเสี่ยงถูกนำไปใช้เพื่อการทหาร ทุบหุ้น SMIC ร่วงทันที 4.5%

 

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ประกาศมาตรการควบคุมการส่งออกอุปกรณ์ให้กับ บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชันแนล คอร์ปอเรชัน (SMIC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของจีนเมื่อเร็ว ๆนี้ โดยอ้างเหตุผลว่า "มีความเสี่ยงที่อุปกรณ์ที่ส่งออกไปนั้น จะถูกนำไปใช้เพื่อการทหาร"

 

มาตรการดังกล่าวทำให้บริษัทซัพพลายเออร์ของสหรัฐที่จะส่งอุปกรณ์และชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้กับ SMIC นั้น จะต้องขอใบอนุญาตการส่งออกสินค้าแต่ละรายการก่อนการส่งออก

สหรัฐบีบหนักผู้ผลิตชิปจีน เพิ่มอุณหภูมิเดือด Tech War

ซึ่งเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของสหรัฐครั้งนี้ ทางด้าน SMIC เปิดเผยว่า บริษัทไม่เคยได้รับการแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการเรื่องมาตรการดังกล่าว และยืนยันว่า SMIC ไม่มีสายสัมพันธ์ใด ๆ กับกองทัพจีน นอกจากนี้  SMIC ยังย้ำว่า ทางบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์เพื่อการใช้งานของพลเรือนและเชิงพาณิชย์เท่านั้น

 

SMIC เป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำรายล่าสุดของจีนที่สหรัฐประกาศใช้มาตรการควบคุมการส่งออกโดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ และ ZTE ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านอุปกรณ์โทรคมนาคมของจีน รวมถึงบริษัท Hikvision ซึ่งเป็นผู้ผลิตกล้องวงจรปิดของจีน ต่างก็ถูกสหรัฐขึ้นบัญชีดำด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงกันมาแล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โดนอีกแล้ว สหรัฐจ่อขึ้นบัญชีดำ SMIC

"หัวเว่ย"เดือด โต้สหรัฐป่วนซัพพลายเชน หวังฮุบตลาด

สหรัฐเปิดศึกจีน เล่นงาน "หัวเว่ย" อีกรอบ

จีนบีบ "ไบต์แดนซ์" ชัตดาวน์ TikTok ในตลาดสหรัฐ

 

ความเคลื่อนไหวของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐครั้งนี้ ทำให้ราคาหุ้นของ SMIC ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของจีน ร่วงลง 4.52% ในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นฮ่องกงช่วงเช้าวันที่ 28 ก.ย.ซึ่งเป็นวันที่มีข่าวการประกาศออกมา

ด้านสื่อใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน "โกลบอล ไทม์ส" ได้ตีพิมพ์บทความแสดงความเห็นจากผู้เขียนนิรนามว่า จีนจำเป็นต้องเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของตัวเอง เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากสหรัฐ หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐประกาศมาตรการควบคุมการส่งออกอุปกรณ์ให้กับ SMIC ครั้งล่าสุดนี้ เนื่องจากการที่สหรัฐครอบครองห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์นั้น ถือเป็นภัยคุกคามอย่างยิ่งต่อจีน แม้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนอย่างเทนเซ็นต์ (Tencent) และไบต์แดนซ์ (ByteDance) จะสามารถผลิตเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ แต่นั่นก็ต้องอาศัยเทคโนโลยีชิปของสหรัฐ ซึ่งหมายความว่า รากฐานของอุตสาหกรรมทั้งหมดยังคงอยู่ในอุ้งมือของสหรัฐ ด้วยเหตุนี้ จีนจึงจะต้องพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอย่างเร่งด่วนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของบริษัทจีนเอง

สหรัฐบีบหนักผู้ผลิตชิปจีน เพิ่มอุณหภูมิเดือด Tech War

การเผชิญหน้าในสงครามเทคโนโลยี หรือ “เทควอร์” (Tech War) ระหว่างสหรัฐและจีนนั้น ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมไฮเทคของทั้งสองประเทศ แต่ยังส่งแรงกระเพื่อม สร้างความสั่นไหวไปยังอุตสาหกรรมไฮเทคของประเทศอื่น ๆด้วย ยกตัวอย่าง บริษัท เคียวเซีย (Kioxia) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ที่ตัดสินใจเลื่อนการทำ IPO หรือการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก ในตลาดหุ้นญี่ปุ่นออกไปก่อน เนื่องจากมีความกังวลว่า สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีนอาจจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลกในภาพรวม

 

ทั้งนี้ Kioxia (ซึ่งมีชื่อเดิมว่า โตชิบา เมมโมรี โฮลดิ้งส์) เปิดเผยว่า สาเหตุที่ตัดสินใจเลื่อนการทำ IPO ก็เพราะบริษัทพิจารณาจากภาวะผันผวนในตลาด และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยขณะนี้ถือเป็นการเลื่อนแผนการทำ IPO ในปีนี้ออกไปแบบไม่มีกำหนด บริษัทจะพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในโอกาสต่อไป

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า Kioxia น่าจะระดมทุนได้ถึง 3.30 แสนล้านเยน (3 พันล้านดอลลาร์) ในการเสนอขายหุ้น IPO ตามกำหนดการเดิมในวันที่ 6 ต.ค. และจะมีทุนจดทะเบียนในตลาดมากกว่า 1.5 ล้านล้านเยน  แต่แผนการดังกล่าวก็ต้องถูกเลื่อนออกไปจากสถานการณ์การเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐและจีนในอุตสสาหกรรมไฮเทค

 

สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นรายงานว่า Kioxia เป็นบริษัทรายล่าสุดที่เผชิญกับผลกระทบจากการแข่งขันระหว่างสหรัฐและจีน เนื่องจากบริษัทจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีของสหรัฐในการผลิตชิป นอกจากนี้ สินค้าของ Kioxia ยังตกเป็นเป้าหมายการควบคุมของรัฐบาลสหรัฐ และจะไม่สามารถส่งออกให้กับบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ของจีนได้