พันธบัตรรัฐบาลจีนเนื้อหอม FTSE Russell ดันเข้าดัชนีโลกปีหน้า

29 ก.ย. 2563 | 08:25 น.

ฟุตซี่ รัสเซล (FTSE Russell) ผู้จัดทำดัชนีหุ้นระดับโลก ในเครือของตลาดหุ้นลอนดอน เปิดเผยเมื่อเร็ว ๆนี้ว่า พันธบัตรของรัฐบาลจีนจะถูกนำไปรวมในการคำนวณดัชนี World Government Bond Index ซึ่งจัดทำโดยฟุตซี่ รัสเซล โดยจะมีผลตั้งแต่เดือนต.ค. ปีหน้า (2564)

 

การประกาศนำ พันธบัตรรัฐบาลจีน เข้ารวมใน ดัชนี World Government Bond Index โดย ฟุตซี่ รัสเซล (FTSE Russell) ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของจีน หลังจากที่พันธบัตรรัฐบาลจีนได้ถูกปฏิเสธที่จะนำไปรวมในดัชนีดังกล่าวเมื่อปีที่ผ่านมา 

พันธบัตรรัฐบาลจีนเนื้อหอม FTSE Russell ดันเข้าดัชนีโลกปีหน้า

ทั้งนี้ การนำพันธบัตรรัฐบาลจีนเข้ารวมอยู่ในดัชนี World Government Bond Index จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้าไปลงทุนในตราสารหนี้ของจีน และจะช่วยให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตรของจีนซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา

 

มอร์แกน สแตนลีย์ คาดการณ์ว่า การที่พันธบัตรรัฐบาลจีนเข้ารวมอยู่ในดัชนี World Government Bond Index นั้น จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดพันธบัตรจีนสูงถึง 9 หมื่นล้านดอลลาร์ตั้งแต่ปีหน้า ขณะที่โกลด์แมน แซคส์ ประมาณการว่า เม็ดเงิน 1.4 แสนล้านดอลลาร์จะถูกดึงดูดเข้าสู่ตลาดพันธบัตรจีนภายในช่วง 12 เดือนแรก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จีนอนุมัติรัฐบาลท้องถิ่น ออกพันธบัตรอุ้มเอสเอ็มอี

ธปท. ดูแลสภาพคล่องตลาดเงินตลาดพันธบัตรใกล้ชิด

พันธบัตร"เราไม่ทิ้งกัน"วันแรก ยอดซื้อสูง 25,000 ล้าน

 

ทั้งนี้ ฟุตซี่ รัสเซล นับเป็นบริษัทจัดทำดัชนีให้กับตลาดหลักทรัพย์ระดับโลกรายที่ 3 ที่กำลังจะรวมเอาพันธบัตรรัฐบาลจีนไปรวมในการคำนวณดัชนี World Government Bond Index ซึ่งก่อนหน้านี้มี 2 รายที่จัดทำไปแล้วคือ บลูมเบิร์ก บาร์เคลย์ส และเจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค

ข้อมูลของธนาคารกลางจีนระบุว่า มีเม็ดเงินจากต่างประเทศไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตรจีนพุ่งขึ้นเกือบ 40% ในแต่ละปีนับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา จนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.83 แสนล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2563 แต่กระนั้นก็ตาม ตลาดพันธบัตรของจีนที่มีมูลค่ารวม 16 ล้านล้านดอลลาร์นั้น ยังมีต่างชาติถือครองในสัดส่วนน้อยมาก คือไม่ถึง 3%

 

นายซิ่ง จ้าวเผิง นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัท ออสเตรเลีย แอนด์ นิวซีแลนด์ แบงกิ้ง กรุ๊ป จำกัด ให้ความเห็นว่า นี่คือความสำเร็จที่สำคัญ เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาใหม่ และจะมีศักยภาพอย่างมากในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศให้ไหลเข้ามาสู่จีน เมื่อพิจารณาจากน้ำหนักและอิทธิพลของฟุตซี่ฯ ทั้งนี้ คาดว่า ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้จะทำให้การถือครองทรัพย์สินของจีนโดยชาวต่างชาติพุ่งขึ้นอย่างมาก หรืออย่างน้อยคือเพิ่มขึ้น 2 เท่า

 

นักวิเคราะห์เผยว่า การที่พันธบัตรรัฐบาลจีนให้ผลตอบแทนสูงกว่าเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจนักลงทุนจากทั่วโลก เนื่องจากผลตอบแทนจากพันธบัตรส่วนใหญ่ในประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ที่ระดับใกล้ ๆ 0%

 

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจีนในปัจจุบัน อยู่ในระดับสูงกว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ใกล้แตะสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว

 

เมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา ฟุตซี่ รัสเซล ปฏิเสธที่จะรวมพันธบัตรรัฐบาลจีนเข้าคำนวณในดัชนีพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลก โดยอ้างถึงเงื่อนไขด้านสภาพคล่องในตลาดรอง (Secondary Market) ความยืดหยุ่นในการปริวรรตเงินตราและการชำระธุรกรรมการเงินของจีน  ซึ่งนับแต่นั้นมา จีนก็ได้ทำการปฏิรูปตลาดตราสารหนี้อยู่หลายครั้ง โดยบางส่วนก็เกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้

เงินหยวนพลอยได้รับอานิสงส์จากความเคลื่อนไหวครั้งนี้

ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา FTSE ยอมรับว่าจีนได้นำสิ่งที่ถูกร้องขอไปปรับปรุง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ตลาดของนักลงทุนต่างชาติ การเปิดให้มีทางเลือกในการซื้อขายสกุลเงินหยวนมากขึ้น และการปรับปรุงเพิ่มสภาพคล่องให้กับนักลงทุน

 

นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ กล่าวสรุปไว้ตอนหนึ่งว่า การที่พันธบัตรรัฐบาลจีนถูกนำเข้าไปรวมไว้ในดัชนีของฟุตซี่ รัสเซล จะทำให้นักลงทุนมองตลาดจีนในฐานะตลาดที่พัฒนาแล้ว ไม่ใช่ตลาดเกิดใหม่อีกต่อไป และการไหลของเม็ดเงินจากต่างประเทศมาลงทุนในพันธบัตรของรัฐบาลจีน ก็คาดว่าส่วนใหญ่จะถ่ายเทมาจากเม็ดเงินที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น

 

นอกจากนี้ โกลด์แมน แซคส์ ยังคาดหมายว่าพันธบัตรของจีนจะมีน้ำหนักมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ในดัชนีของฟุตซี่ฯ ที่ 5.7% เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการเข้าสู่ตลาดและปรับตัวไปแล้วช่วงหนึ่ง

 

ทั้งนี้ ราคาของพันธบัตรรัฐบาลจีนปรับลดลงติดต่อกันเป็นเวลา 5 เดือนแล้ว ขณะที่อัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 1 จุดเป็นมากถึง 3.10% ณ เวลา 10:17 น. ในตลาดเซี่ยงไฮ้ (วันที่ 25 ก.ย.) โดยได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับความตึงตัวของสภาพคล่อง ขณะที่ธนาคารกลางจีนเองก็หลีกเลี่ยงที่จะลดอัตราดอกเบี้ย อีกทั้งนักลงทุนยังพากันหันไปให้ความสนใจในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้นเนื่องจากหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเริ่มเห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอัตราเร่งเพิ่มขึ้น สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ดัชนี CSI 300 ของจีนมีการซื้อขายใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปีในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา

 

รายงานข่าวระบุว่า การประกาศของฟุตซี่ รัสเซล ที่จะนำพันธบัตรรัฐบาลจีนเข้าคำนวณในดัชนีระดับโลกในปีหน้า พลอยทำให้ความเชื่อมั่นในสกุลเงินหยวนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ ค่าเงินหยวนปรับตัวสูงขึ้นราว 3.7% ในไตรมาสนี้ซึ่งมากที่สุดในเอเชีย และล่าสุดปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินหยวนขยับขึ้น 0.21% ไปอยู่ที่ 6.8132 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ