"ดีป้า"จุดพลุเมืองอัจฉริยะ เห็นชอบรอบแรก 4 โครงการ

29 ก.ย. 2563 | 06:41 น.

“ดีป้า” จุดพลุพิจารณาข้อเสนอโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะรอบแรก 7 โครงการ ผ่านมติเห็นชอบให้เป็นเมืองอัจฉริยะ จำนวน 4 โครงการ ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะต่อไป

29 กันยายน 2563 ที่อาคารดีป้า ลาดพร้าว สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โดย สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย เดินหน้าประชุมคณะทำงานประเมินแผนการเป็นเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน ครั้งที่ 2/2563 เร่งพิจารณา 7 ข้อเสนอโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หลังผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ และผ่านการคัดกรองเบื้องต้น โดยมีมติเห็นชอบให้เป็นเมืองอัจฉริยะ จำนวน 4 โครงการ ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ และที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน เพื่อดำเนินการพิจารณา และประกาศเป็นเมืองอัจฉริยะ พร้อมรับตราสัญลักษณ์ในที่สุด

"ดีป้า"จุดพลุเมืองอัจฉริยะ เห็นชอบรอบแรก 4 โครงการ

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เป็นประธานการประชุมคณะทำงานประเมินแผนการเป็นเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน ครั้งที่ 2/2563 โดยมีผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง ประกอบด้วย นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) นายเกชา ธีระโกเมน ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) นายวิวัฒน์ วงศ์วราวิภัทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) นายศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) นายวีรนิต ฐานสุพร ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) นายภัทรพร โพธิ์สุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) นายสุธี อนันต์สุขสมศรี และ นายชูศักดิ์ จันทร์ปฐมพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและพัฒนาเมือง พร้อมด้วย ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ (กลุ่มยุทธศาสตร์และบริหาร) และ ดร.ภาสกร ประถามบุตร รองผู้อำนวยการใหญ่ (กลุ่มงานโครงการพิเศษ) ดีป้า ในฐานะคณะทำงานและเลขานุการร่วม

 

โดยที่ประชุมฯ ได้พิจารณาข้อเสนอโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ รอบที่ 1/2563 ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ และการคัดกรองเบื้องต้น จำนวน 7 โครงการ ประกอบด้วย

1. โครงการเมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ กรุงเทพมหานคร โดยมี สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินโครงการ

2. โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ จังหวัดลำปาง โดยมี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เป็นผู้ดำเนินโครงการ

3. โครงการเมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง โดยมี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินโครงการ

4. โครงการภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ จังหวัดภูเก็ต โดยมี สำนักงานจังหวัดภูเก็ต เป็นผู้ดำเนินโครงการ

5. โครงการโคราชเมืองอัจฉริยะ จังหวัดนครราชสีมา โดยมี สำนักงานจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้ดำเนินโครงการ

6. โครงการเมืองน่านสู่เมืองอัจฉริยะ จังหวัดน่าน โดยมี เทศบาลเมืองน่าน เป็นผู้ดำเนินโครงการ

7. โครงการเมืองอัจฉริยะบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยมี เทศบาลตำบลบ้านฉาง เป็นผู้ดำเนินโครงการ

“สำหรับผลการพิจารณาข้อเสนอโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ รอบที่ 1/2563 จากที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบให้เป็นเมืองอัจฉริยะ จำนวนทั้งสิ้น 4 โครงการ โดยแบ่งเป็นเมืองอัจฉริยะ ประเภทเมืองเดิมน่าอยู่ (Livable City) จำนวน 3 โครงการ และประเภทเมืองใหม่ทันสมัย (New City) 1 โครงการ ส่วนโครงการที่เหลือ ที่ประชุมฯ เห็นชอบในหลักการ โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานผู้ดำเนินโครงการฯ เพื่อปรับปรุงข้อเสนอโครงการฯ และนำเสนอต่อที่ประชุมฯ ในครั้งถัดไป” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

ที่มา : depa Thailand

ทั้งนี้ คณะทำงานประเมินแผนการเป็นเมืองอัจฉริยะ 7 ด้านจะต้องดำเนินการพิจารณาข้อเสนอโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจาก 33 เขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะที่เหลือ ซึ่งผลการพิจารณาทั้งหมดจะถูกเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะที่มี นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธาน ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน เพื่อดำเนินการพิจารณา และประกาศเป็นเมืองอัจฉริยะ พร้อมรับตราสัญลักษณ์ในที่สุด