28 ก.ย. พลิกมติ/คงแบน 2 สารเคมี “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส”

27 ก.ย. 2563 | 05:10 น.

จับตา “สุริยะ” ประชุม คคก.วัตถุอันตราย 28 ก.ย.พลิกมติ-คงแบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” สมาคมวิทยาการวัชพืชฯ ข้องใจงานวิจัย ด้าน “มนัญญา” กังขาผู้ร้อง มีใครรับรอง ตั้งอยู่ที่ไหน "พรศิลป์" ลุ้นพลิกยอมแลกค่า LOD นำเข้า แทนค่าโคเด็กซ์

จากการที่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีคำสั่งให้ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ รับข้อเสนอของกลุ่มคัดค้านการแบนสารพิษ เสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นประธานให้พิจารณาทบทวนการแบนพาราควอต โดยคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีการบรรจุวาระ ที่ 4.3 เรื่องการดำเนินการ ข้อเสนอ และความเห็น เกี่ยวกับประกาศแบนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส (ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ฉบับที่ 6 พ.ศ.2563) ทั้งนี้ สำหรับสาระสำคัญของประกาศ วันที่ 15 พค. 63 กำหนดให้ พาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 คือห้าม ผลิต นำเข้า ส่งออก และ ครอบครอง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่1 มิถุนายน 63 เป็นต้นไป ซึ่งจะมีประชุมในวันที่ 28 กันยายน 2563 

 

มนัญญา ไทยเศรษฐ์

 

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  ยังไม่เห็นวาระการประชุมว่ามีอะไร ก็เห็นตามข่าวเท่านั้น แต่สิ่งที่อยากจะถามก็คือ เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง กับ สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ใครเป็นผู้รับรอง มีหน่วยงานตั้งอยู่ที่ไหน ตั้งโดยใคร แต่เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลกับโรงพยาบาลและ กระทรวงสาธารณะสุข มีแพทย์รับรองผลงานข้อมูลวิจัย ขณะที่ กรมวิชาการเกษตร ก็แจ้งว่ามีสารทดแทนที่ใช้แทนได้ พร้อมกันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการของบประมาณการใช้เครื่องจักรเพื่อใช้ทดแทนสารเคมีในการที่จะใช้แบนสารเคมีดังกล่าว จึงสรุปว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะพลิกมติทบทวนการแบนสารเคมี น่าที่จะยืนมติแบนแบบเดิม


 

พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล

 

ขณะที่ นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า หากมีบรรจุวาระจริง โอกาสที่จะออกมาเป็นบวกก็คงมีในการพิจารณาทบทวนใหม่ เพราะจากสาเหตุที่เกษตรกรไปหารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่ามีความเดือดร้อนอย่างไร และได้ข่าวว่ามีความเข้าใจแล้ว อาจจะมีมาตรการอะไรออกมาคาดว่าจะเป็นไปในทางบวก อาจจะกลับไป “จำกัดการใช้” แทน ส่วนการนำเข้าวัตถุดิบการปนเปื้อนอาหาร ข้าวสาลี หรือ ถั่วเหลือง ให้เป็นค่า  "ต่ำสุดที่ห้องปฏิบัติการสามารถตรวจสอบได้" หรือ "LOD" (Limit of  Detection) แทนค่าโคเด็กซ์ก็ได้

 

28 ก.ย. พลิกมติ/คงแบน 2 สารเคมี “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส”

 

"ไม่ติดใจ เมื่อเกษตรกรปรับตัวได้แล้ว ในอนาคตหากจะยกเลิกจริงก็คงไม่มีปัญหา แต่วันนี้ เหมือน 2 มาตรฐานก็คือ ผ่อนปรนให้ผู้นำเข้าอาหารคงค่าเด็กซ์จนถึง มิถุนายน ปี 2564 ขณะในส่วนของเกษตรกร "กรมวิชาการเกษตร" ให้เกษตรกรส่งมอบ 2 สารเคมีเกษตร คืนร้านค้า ภายในวันที่ 29 สิงหาคม 2563  หากใครมีไว้ครอบครองผิดกฎหมาย มีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท จะเห็นว่า 2 มาตรฐาน ชัดเจน"

 

 

 

ดร.จรรยา มณีโชติ

 

ด้านดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อยากคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้ตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวน ทบทวน โดยให้มีผู้ทรงคุณวุฒิเรื่องตรงนี้ว่ามีความถูกผิดในหลักวิชาการอย่างไร และในระหว่างนี้ก็ปล่อยให้เกษตรกรได้ใช้ชีวิตตามปกติไปพลางก่อน เนื่องจากทางสมาคมไปสถานที่เกิดเหตุที่อ้างอิง ทั้งดินและน้ำ ก็ไม่พบสารพาราควอต แต่พบเชื้อโรคที่ทำให้เนื้อเน่า แบคทีเรียกินเนื้อคน เป็นต้น ซึ่งยังมีเหตุผลขัดแย้งทางวิชาการ อยากจะพิสูจน์ความขัดแย้งทางวิชาการให้ประจักษ์ ส่วนจะแบนหรือไม่แบน ไม่ได้สนใจ อย่างไรก็ดีก็อยากจะขอขอบคุณ 2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เข้าใจความเดือดร้อนของเกษตรกร และทำความจริงให้กระจ่างทางวิทยาศาสตร์