แบงก์พลิกแผนสินเชื่อบ้านรับหนี้เสียพุ่ง

30 ก.ย. 2563 | 07:45 น.

แบงก์แหยงเอ็นพีแอล ปรับแนวทำตลาดสินเชื่อบ้านให้นํ้าหนักระมัดระวัง ไม่เน้นเติบโต ธอส.รับหนี้เสียจากโควิดเพิ่ม แต่ไม่สูงกว่าที่คาดการณ์ เชื่อรับมือได้ ค่ายออมสินจ่อออกโปรโมชั่น เอาใจลูกค้า ซื้อบ้านตํ่า 3 ล้านบาท 

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากปีก่อนที่มีการประกาศใช้มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยกำหนดอัตราสินเชื่อต่อมูลค่าที่อยู่อาศัย (แอลทีวี)เมื่อเดือนเมษายน 2562 ทำให้ภาพรวมของธุรกิจในปี 2562 ชะลอลงจากปีก่อน ทั้งค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม การขอจดทะเบียนอาคารชุดทั่วประเทศ

 

ปี 2563 ยังมาเจอปัจจัยลบเพิ่มจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ มูลค่าการซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและการขอจดทะเบียนอาคารชุดทั่วประเทศชะลอลง แม้การออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นก็ตาม 

 

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์กลับยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยแค่เพียงครึ่งปี 2563 พบว่า ยอดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์คงค้างถึง 3.22 ล้านล้านบาทมากกว่าปี 2562 ทั้งปีที่มียอดคงค้างทั้งสิ้น 3.09 ล้านล้านบาท แต่ที่น่ากังวลคือ แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)จะเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะเมื่อหมดเวลาพักชำระหนี้ในเดือนตุลาคม 2563 

 

นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสินเชื่อที่อยู่อาศัย ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นกว่าไตรมาส 2 เห็นได้จากบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ระดับกลางและบนมีการโอนกรรมสิทธิ์ค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งมาจากธนาคารมีฐานลูกค้าที่ซื้อที่อยู่อาศัยในราคา 3 ล้านบาทขึ้นไป 

แบงก์พลิกแผนสินเชื่อบ้านรับหนี้เสียพุ่ง

ส่วนระดับราคา 3 ล้านบาทลงมานั้นก็ยังมีอยู่บ้าง เพียงแต่ระยะหลังภาครัฐมีมาตรการผ่อนปรนสำหรับลูกค้าราคาตั้งแต่ 3 ล้านบาท จึงเห็นความต้องการสินเชื่อกระจายไปอยู่ในกลุ่มธนาคารรัฐเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่า อัตราการขยายตัวของสินเชื่อปีนี้ จะขยายตัวน้อยกว่าในปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ถึงกับหดตัวแรงเท่ากับไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยหากเปรียบเทียบ ตลาดในต่างจังหวัดยังค่อนข้างเงียบกว่าตลาดในกรุงเทพฯและปริมณฑล

 

“เราไม่เน้นการเติบโตสินเชื่อบ้าน แต่ให้นํ้าหนักระมัดระวังและให้คำปรึกษาลูกค้า โดยเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีความเหมาะสมและสนับสนุนกลุ่มลูกค้าที่มีความพร้อม ซึ่งช่วงนี้ตลาดเป็นของผู้บริโภค ถ้าผู้บริโภคมีความพร้อม คือ มีอาชีพที่มั่นคง แบงก์ก็จะสนับสนุน เพราะเป็นโอกาสที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินในราคาส่วนลด 30% จากการ่ที่่ผู้ประกอบการแข่งขันลดราคา เพื่อเร่งระบายสต็อก”

 

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) กล่าวยอมรับว่า ธนาคารมีระดับเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นจากมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ประมาณ 9,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลทำให้เอ็นพีแอลของธนาคารเพิ่มเป็น 8.5% จากเอ็นพีแอลในสิ้นเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 51,559 ล้านบาทหรือ 4.05% ของสินเชื่อคงค้าง 1.27 ล้านล้านบาท

 

ส่วนสินเชื่อ ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 149,798 ล้านบาท ซึ่งหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นไม่ได้สะท้อนศักยภาพการชำระสินเชื่อของลูกหนี้อย่างแท้จริง เพราะยังอยู่ระหว่างดำเนินการมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ 10 มาตรการ โดยมีลูกค้าอยู่ในมาตรการรวม 511,110 บัญชี วงเงินสินเชื่อ 430,439 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้มาตรการต่างๆ ทยอยครบกำหนดไปแล้ว ขณะเดียวกันหากสามารถเจรจาและช่วยเหลือลูกหนี้ที่ครบกำหนดพักชำระหนี้ได้ จะทำให้หนี้เสียที่คาดว่า จะเพิ่มสูงขึ้น ลดน้อยลงได้

 

ทั้งนี้หนี้เสีย 9,000 ล้านบาทแบ่งเป็น กลุ่มที่ชำระหนี้ไม่เต็มงวด 4,000 ล้านบาท และกลุ่มที่ผิดนัดชำระหนี้เต็มจำนวน 5,000 ล้านบาท ซึ่งธนาคารจะเข้าไปสำรวจถึงการผิดนัดชำระหนี้ว่า มาจากสาเหตุใด เพื่อหาแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้ากลุ่มนี้ต่อไป

 

“ตอนแรกคาดว่า จะมีปัญหาทำให้หนี้เสียสูงถึง 25% แต่ตอนนี้ไม่ถึง 10% เชื่อว่า ทุกรายจะฟื้นคืนได้ เพราะก่อนเกิดโควิด ลูกค้าเหล่านี้ก็ชำระหนี้ปกติ ขณะเดียวกันแบงก์ก็จะดูแลเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มนี้ ดังนั้นสถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายกว่าที่คิด เพราะอัตราดอกเบี้ยไม่่ได้สูงมาก เฉลี่ย 2-3% ซึ่งเอื้อต่อการให้ลูกหนี้ลุกขึ้นกลับมาแข็งแรงได้ และเชื่อว่าปีหน้าหากมีกำลังใจก็จะกลับมาได้”นายฉัตรชัยกล่าว

ด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคาร ออมสินระบุว่า ยอดปล่อยสินเชื่อเคหะใหม่ของธนาคาร ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม อยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นยอดปล่อยสินเชื่อเคหะใหม่ที่ใกล้เคียงกับปี 2562 ดังนั้นคาดว่า ปีนี้ออมสินน่าจะปล่อยสินเชื่อเคหะได้ไม่ตํ่ากว่าปีก่อนหน้าหรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ 86% จะเป็นที่อยู่อาศัยราคาตํ่ากว่า 3 ล้านบาท  

 

อย่างไรก็ตาม ช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ธนาคารจะออกโปรโมชั่น สำหรับสินเชื่อเคหะ ประเภทบ้าน/คอนโดมุ่งเน้นไปกลุ่มบ้าน/คอนโด ที่มีราคาตํ่ากว่า 3 ล้านบาทตามยุทธศาสตร์ ธนาคารเพื่อสังคม (Social Banking)ของธนาคาร อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี จะอยู่ที่ 2.50%ต่อปี ในงานมันนี่เอ็กโปที่กรุงเทพฯ 

 

ส่วนเอ็นพีแอล มีระดับใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า แต่ต้องรอผลหลังการพักชำระหนี้ สิ้นปี 2563 โดยขณะนี้้ยังมียอดชำระหนี้รายเดือนเข้ามาประมาณ 50% ของการชำระหนี้รายเดือนปกติ แม้ธนาคารจะมีมาตรการพักชำระหนี้ทั้งต้นและดอกเบี้ยก็ตาม โดยพอร์ตสินเชื่อเคหะปัจจุบันอยู่ที่ 346,477 ล้านบาท สัดส่วนประมาณ 8.50% ของสินเชื่อเคหะ 4 ล้านล้านบาท เป็นอันดับ 5 ของระบบสถาบันการเงิน 

 

หน้า 13  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,613 วันที่ 27 - 30 กันยายน พ.ศ. 2563