นายกฯ แถลงเวทียูเอ็น ย้ำ "เยาวชนคนรุ่นใหม่" ต้องร่วมมือกัน

26 ก.ย. 2563 | 03:02 น.

นายกฯแถลงเวทียูเอ็น ย้ำทุกภาคส่วนรวมทั้ง “เยาวชนคนรุ่นใหม่” ต้องร่วมมือกัน และไทยพร้อมแบ่งปันประสบการณ์ในการรับมือกับโควิด-19 กับประชาคมโลก

 

พล.อ.ประยุธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงต่อ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 75 วานนี้ (25 ก.ย.) ผ่านระบบวีดิโอทัศน์ ระบุว่าไทยพร้อมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้แก่ประเทศต่าง ๆ นำไปประยุกต์ใช้ในการรับมือกับโควิด-19  พร้อมย้ำความสำคัญของความร่วมมือกันระหว่างทุกภาคส่วน และ การมีส่วนร่วมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ใน “วิถีปกติใหม่”

ภาพ: กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีร่วมกล่าวถ้อยแถลงผ่านบันทึกวีดิทัศน์ในช่วงการอภิปรายทั่วไป(General Debate) ต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 75 (UNGA75) ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ย้ำความสำคัญของการยึดมั่นในระบบพหุภาคี และความเป็นหนึ่งเดียวของรัฐสมาชิกสหประชาชาติ เพื่อร่วมกันรับมือความท้าทายต่าง ๆ

 

ทั้งนี้ ไทยพร้อมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้แก่ประเทศต่าง ๆ นำไปประยุกต์ใช้ในการรับมือกับโควิด-19 รวมทั้งย้ำความสำคัญของความร่วมมือกันระหว่างทุกภาคส่วน และการมีส่วนร่วมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ใน “วิถีปกติใหม่” เพื่อผนึกกำลังออกแบบอนาคตที่เหมาะสมสำหรับประชาชนทั่วโลกต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯสั่ง ดูแลม็อบเยาวชน เหมือนดูแลลูก

"กระทรวงศึกษาธิการ" พร้อมเปิดประตูรับม็อบนักเรียน ร่วมหาทางออก

แกนนำ "เยาวชนปลดแอก" แฉ มีอีแอบรับเงินสถานทูต

 

นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ให้การยอมรับว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถรับมือกับเชื้อโควิด-19 ได้ดีที่สุดในโลก โดยการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมของไทยมีส่วนสำคัญที่ทำให้ไทยสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเป็นประเทศต้นแบบด้านการบริหารระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งไทยพร้อมที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้แก่ประเทศต่าง ๆ นำไปประยุกต์ใช้ผ่านกรอบความร่วมมือ Foreign Policy and Global Health ด้วย

นายกฯ แถลงเวทียูเอ็น ย้ำ "เยาวชนคนรุ่นใหม่" ต้องร่วมมือกัน

พร้อมกันนี้ ไทยเห็นว่า วัคซีนและยารักษาโควิด-19 ควรต้องเป็นสินค้าสาธารณะระดับโลกที่ทุกประเทศได้รับสิทธิในการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน โดยสหประชาชาติจำเป็นต้องมีบทบาทนำในเรื่องนี้

 

ในอาสเดียวกันนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ไทยแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอใน 3 เสาหลักของสหประชาชาติ ตลอดระยะเวลา 75 ปี ในฐานะสมาชิกสหประชาชาติ ได้แก่ (1) ด้านสันติภาพและความมั่นคง ไทยให้ความสำคัญกับการลดอาวุธและยังส่งเจ้าหน้าที่รวมแล้วกว่า 27,000 คน เข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพในกรอบสหประชาชาติ ซึ่งกองกำลังของไทยมีส่วนส่งเสริมสันติภาพที่ยั่งยืน ผ่านการประยุกต์ใช้แนวทางการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

 

(2) ด้านการพัฒนา ไทยพร้อมแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านเวทีระหว่างประเทศต่าง ๆ โดยจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน Global South-South Development Expo 2021 ในปีหน้า (2564) และการเป็นสมาชิกคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ วาระปี ค.ศ. 2020-2022 และ (3) ด้านสิทธิมนุษยชน ประเทศต่าง ๆ ต้องยึดมั่นในพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งไทยมีความก้าวหน้าและเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ปี 2562  

 

สุดท้าย นายกรัฐมนตรีย้ำความสำคัญของความร่วมมือกันระหว่างทุกภาคส่วนในสังคม และการมีส่วนร่วมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ใน “วิถีปกติใหม่” (New Normal) เพื่อร่วมกันผนึกกำลังออกแบบอนาคตที่เหมาะสมสำหรับประชาชนทั่วโลกต่อไป