เต๋อต้าว สุดยอดสถาบันการศึกษา ที่คิดนอกกรอบของจีน (2) 

27 ก.ย. 2563 | 05:45 น.

เต๋อต้าว สุดยอดสถาบันการศึกษา ที่คิดนอกกรอบของจีน (2) โดย : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการ หอการค้าไทยในจีน หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3613 วันที่ 27-30 กันยายน 2563

เต๋อต้าว  สุดยอดสถาบันการศึกษา  ที่คิดนอกกรอบของจีน (2) 

 

 

การเรียนการสอนที่มุ่งปลดปล่อยพลังความคิด อันที่จริง ก็อาจกล่าวได้ว่า นวัตกรรมรูปแบบการศึกษาดังกล่าวต่อยอดมาจากที่ผมเคยสัมผัสที่สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่งเมื่อหลายปีก่อน โดยในครั้งนั้น มหาวิทยาลัยดังกล่าวดึงเอาสถาปนิกชั้นนำของโลกมาเป็นวิทยากรด้านการออกแบบอาคารแก่นักศึกษาของตน ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากสถาปนิกเหล่านั้น ส่งผลให้นักศึกษาจีนได้มีโอกาสร่ำเรียนกับกูรูระดับโลกมากมาย นัยว่าหากใครหน้าไหนปฏิเสธการมาบรรยายให้ก็อาจถูกขึ้นบัญชีดำ ครั้นเมื่อกิจการใดไปว่าจ้างสถาปนิกเหล่านั้นออกแบบอาคาร ก็อาจไม่ผ่านการพิจารณาแบบก่อสร้างจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

 

มาถึงวันนี้ เต๋อต้าวได้ต่อยอดกรอบแนวคิดดังกล่าวออกไปในหลายระดับการศึกษาและสาขาวิชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการออกแบบ แฟชั่น ศิลปะ ธุรกิจ แอนนิเมชั่น และภาพยนต์ พร้อมทั้งย้ายฐานจากกรุงปักกิ่งไปยังนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ ลอจิสติกส์ และนวัตกรรมของจีนในปัจจุบัน และของโลกในอนาคต

 

นอกจากการสอนและบรรยายพิเศษของกูรูระดับโลกแล้ว บุคลากรชั้นนำจากหอเกียรติยศดังกล่าวต่างมาช่วยกันระดมสมองสร้างหลักสูตรและระบบการเรียนการสอนขึ้นใหม่ จนส่งผลให้สถาบันไต่ขึ้นสู่ระดับโลกได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยสถาบันได้รับการจัดอันดับติดอยู่ใน 100 อันดับแรกของมหาวิทยาลัยโลกในด้านศิลปะและการออกแบบ อันส่งผลให้เกิดเป็นพลังดึงดูดให้เด็กพรสวรรค์ของจีนสนใจเข้ามาศึกษาต่อที่สถาบันเป็นจำนวนมากในแต่ละปี 

 

การประสานภูมิปัญญาระดับโลกเข้ากับท้องถิ่น โดยที่เต๋อต้าวยึดหลักการบนพื้นฐานของแนวคิดระดับโลก (Global) ที่ปรับให้เข้ากับท้องถิ่น (Localization) เข้าทำนอง “ตาดูดาว เท้าติดดิน” (Glocalization) ด้วยเหตุนี้ สถาบันจึงดึงเอาภูมิปัญญาด้านการออกแบบระดับโลกจากกูรูและนักออกแบบชั้นนำมาให้นักศึกษาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพตลาดท้องถิ่นและตลาดเป้าหมาย 

เต๋อต้าว  สุดยอดสถาบันการศึกษา  ที่คิดนอกกรอบของจีน (2) 

อ่านประกอบ:

เต๋อด้าว สุดยอดสถาบันการศึกษา ที่คิดนอกกรอบของจีน(1)

 

ทั้งนี้ รูปแบบการเรียนการสอนในแต่ละเทอมจะเป็นเสมือนการปฏิบัติงานจริง กล่าวคือ ในช่วงต้นเทอมการศึกษา กูรูที่ได้รับเชิญมาเป็นอาจารย์ประจำวิชาเหล่านั้นจะมาพร้อมกับแนวคิดหลัก เช่น น้ำ ดิน ลม และอื่นๆ และให้อิสระกับนักศึกษาในการคิดสร้างสรรค์สินค้าต้นแบบที่เกี่ยวโยงกับแนวคิดหลักดังกล่าว โดยในระหว่างนั้น อาจารย์ประจำวิชาจะทำหน้าที่กระตุ้นความคิดและให้ข้อคิดเห็นในการพัฒนาด้านการออกแบบสินค้าของแต่ละคน 

 

ด้วยเวลาที่จำกัดและค่าตัวที่แพงมหาศาลของกูรูแต่ละคน ทำให้ในทางปฏิบัติ อาจารย์ที่ได้รับเชิญจะไม่ได้อยู่ประจำที่สถาบันตลอดเวลา แต่จะเดินทางเข้าไปบรรยายเป็นระยะ หรือทำงานในโครงการอื่นๆ ด้วยในโอกาสเดียวกัน ขณะเดียวกัน สถาบันก็จะแต่งตั้งอาจารย์ผู้ช่วยเพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและติดตามความก้าวหน้าของงานที่นักศึกษาได้รับมอบหมายในระหว่างเทอม

 

เมื่อหลายปีก่อน กูรูท่านหนึ่งเลือกใช้ “น้ำ” เป็นแนวคิดหลัก และให้เวลานักศึกษาในการคิดออกแบบสินค้าที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นอิสระ ซึ่งนำไปสู่ต้นแบบสินค้ามากมาย เช่น แก้วน้ำ เรือยาง ชุดว่ายน้ำ ตีนกบ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กันน้ำ และอื่นๆ 

 

ทั้งนี้ หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่วิธีการของแต่ละกูรู ที่มุ่งหวังให้สินค้าต้นแบบมีอัตลักษณ์เฉพาะ มีคุณสมบัติที่เหนือกว่าสินค้าที่วางขายอยู่ในท้องตลาด และสามารถตอบโจทย์ความต้องการหรือแก้ไขปัญหาบางอย่างของผู้บริโภคได้

 

ในภาคการเรียนนั้น ผู้บรรยายพานักศึกษาออกไปยืนตากฝนเพื่อให้ “ก้นบึ้ง” (Inner) ที่เป็นส่วนลึกของมนุษย์ได้สัมผัสและรับรู้เสียงเรียกร้องของน้ำฝน เพื่อให้การออกแบบสินค้าเข้ากับสภาพสังคมในท้องถิ่น เพราะในมุมมองของกูรูเหล่านี้ “การออกแบบ” ถูกให้ความสำคัญก่อน “หน้าที่” ของสินค้าเสมอ ครั้นในช่วงกลางเทอม อาจารย์ประจำวิชาก็จะมาบรรยายอีกครั้งเพื่อกระตุ้นความคิดด้านการตลาดว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้สินค้าของแต่ละคนสามารถแข่งขันและเอาชนะสินค้าในท้องตลาดได้ 

 

ประการสำคัญ ในช่วงปลายภาค นักศึกษาจะต้องนำเสนอสินค้าต้นแบบและคุณสมบัติแก่คณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ประจำวิชา เพื่อนนักออกแบบ หุ้นส่วนทางธุรกิจ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ในลักษณะคล้ายกับการพิชงาน (Pitch) กับกองทุนต่างๆ เลย และได้รับโอกาสในการเก็บเกี่ยวคำแนะนำเพื่อการปรับปรุงให้สอดรับแนวโน้มความต้องการต่อไป 

 

โดยวิธีการดังกล่าว ทำให้การเรียนในแต่ละเทอม อาจตามมาด้วยการซื้อสิทธิบัตร หรือการร่วมลงทุนทางธุรกิจเลยก็มี ซึ่งเท่ากับว่านักศึกษาบางคนที่มีความคิดในสินค้าต้นแบบ ที่สร้างสรรค์อาจก้าวขึ้นเป็น “ผู้ประกอบการ” หรือ “เถ้าแก่น้อย” ตั้งแต่ยังไม่จบการศึกษาเสียด้วยซ้ำ

 

เกี่ยวกับผู้เขียน :  : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่นๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน